Episoder

  • Mangler du episoder?

    Klikk her for å oppdatere manuelt.

  • 22 ม.ค. 67 - มองตนก่อนเรียกร้องคนอื่น : สิ่งที่เราคาดหวังจากคนอื่น มันเป็นตัวการที่ทำให้เราเป็นทุกข์ การกลับมามองตนนี้มันเป็นพื้นฐานสำคัญเลยในการที่จะช่วยรักษาใจให้พ้นทุกข์ได้ หรือให้พ้นจากความเครียด ความวิตกกังวล ความโกรธ

    เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่กลับมาดูใจตัวเอง เราจะเพ่งโทษคนอื่นหรือเรียกร้องคนอื่นอยู่นั่นแหละ แล้วพอไม่สำเร็จ พอไม่เป็นไปดั่งใจ ก็จะหงุดหงิดหัวเสีย ให้เตือนตัวเองว่า เวลาเราเรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง ๆ จริงๆ แล้วคนที่ควรปล่อยวางมากกว่าใครนี้คือตัวเรา เพราะที่เราเรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง แต่เราปล่อยวางเขาไม่ได้ มันทำให้เราทุกข์ มันทำให้เราหงุดหงิด เจอมานักต่อนักแล้ว คนที่บอกคนอื่นให้ปล่อยวาง แต่ที่จริงตัวเองยังปล่อยวางไม่ได้ ตัวเองยังยึดมั่นถือมั่นมาก เพราะถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่แบกเอาไว้ คงไม่เครียด ไม่ทุกข์ แล้วไม่เรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง ฉะนั้นถ้าจะว่าไปเวลาเราเรียกร้องให้ใครต่อใครปล่อยวางหรือเรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง มันเป็นสัญญาณฟ้องว่าเรากำลังแบกอะไรบางอย่างเอาไว้ ให้กลับมาดูใจของตัว แล้วก็จะพบว่าเป็นเพราะเรายังยึดมั่นถือมั่นในการกระทำของคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะที่ไม่ถูกใจเรา รวมทั้งยึดมั่นถือมั่นในความคาดหวังของเรา ต้องการให้คนอื่นเป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง ต้องการให้แม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง พอท่านไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เราก็หงุดหงิดหัวเสีย หรือเรียกร้องให้คนอื่นทำตัวให้น่ารัก แต่พอเขาไม่ทำตัวอย่างที่เราปรารถนาหรือคาดหวัง เราก็หงุดหงิดหัวเสีย แล้วก็โวยวายเป็นทุกข์ กลับมามองตน แล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมเราคิดแบบนั้น ทำไมเรารู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราถามตัวเองหรือทักท้วงตัวเองอยู่บ่อยๆ การน้นที่เราจะไปตั้งคำถามกับคนอื่นมันก็จะน้อยลง หรือว่าการไปคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็จะน้อยลง แล้วเราก็จะมีความสุข สบาย โปร่ง เบา ได้ง่ายขึ้น
  • 20 ม.ค. 67 - อยู่ในโลกอย่าทิ้งธรรม : ถ้ามีธรรมะ มันจะช่วยรักษาใจของคนที่อยู่ในโลก หรือมีการงานมากมาย ให้จิตใจไม่รุ่มร้อน ไม่วุ่นวายได้ ฉะนั้นถ้าดูให้ดี โลกกับธรรมมันไม่แย้งจากกัน ยิ่งอยู่ในโลกยิ่งต้องมีธรรมะ ยิ่งทำงานเกี่ยวข้องกับผู้คน ยิ่งต้องอาศัยสติในการรักษาใจ

    แต่จะว่าไปแล้วธรรมะมันไม่ใช่แค่ช่วยคนที่อยู่ในโลก หรือช่วยสนับสนุนชีวิตทางโลกเท่านั้น ชีวิตทางโลกหรือการทำงานทางโลก มันก็สามารถจะไปเอื้อเฟื้อธรรมะได้ด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าเราทำงานเป็น การทำงานนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว เราไม่ใช่เพียงแค่เอาธรรมะมาสนับสนุนการทำงานทางโลก แต่การทำงานทางโลกก็ยังเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย การเอาธรรมะมากำกับการใช้ชีวิตทางโลก มันเป็นสิ่งจำเป็นฉันใด การเอางานทางโลกมาเป็นเครื่องสนับสนุนการปฏิบัติธรรม มันก็เป็นสิ่งที่ควรทำฉันนั้น ถ้าเราพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าธรรมมันสนับสนุนโลก แล้วโลกก็สนับสนุนธรรมด้วย ถ้าหากว่าธรรมะหมายถึงการฝึกจิตหรือการทำจิต เราต้องอาศัยการทำจิตนั้นมาช่วยกำกับการทำกิจ ถ้าเราใช้การทำจิตเพื่อมากำกับการทำกิจ ชีวิตเราก็จะวุ่นวายน้อยลง และขณะเดียวกันถ้าเราเอาการทำกิจมาเป็นเครื่องสนับสนุนการทำจิต มันก็ยิ่งทำให้การปฏิบัติธรรมมันก้าวหน้า หมายความว่าเวลาเราทำงาน แม้จะเป็นงานทางโลก แต่มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว เป็นการฝึกสติ เป็นการฝึกให้ลดละกิเลส ฝึกลดละความยึดมั่นในตัวตน ฉะนั้นที่เข้าใจกันไปว่าอยู่ในโลกมันแยกขาดจากเรื่องทางธรรม มันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยิ่งอยู่ในโลกมากเท่าไร ยิ่งต้องอาศัยธรรมะเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูล ให้อยู่ในโลกนี้ได้อย่างสงบเย็น แล้วถ้าหากว่าเรารู้จักการทำจิตแล้ว แม้กระทั่งอยู่กับผู้คน มีงานการมากมาย เราก็สามารถจะใช้การทำงาน การทำกิจ หรือการเกี่ยวข้องกับผู้คน ในการสนับสนุนการฝึกจิตของเราได้ ทำให้มีเมตตากรุณา ทำให้มีสติ มีความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง และโลกกับธรรมถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่แยกจากกัน ต้องเอาธรรมะมาใช้กับชีวิตทางโลกให้ได้มาก
  • 18 ม.ค. 67 - อย่ามัวโทษคนอื่นเมื่อใจเป็นทุกข์ : ไม่ว่าใครจะทำอะไรก็ตาม เขาไม่สามารถทำให้เราทุกข์ใจได้เลย ตราบใดที่เราไม่ร่วมมือด้วย อาจารย์ชยสาโรท่านพูดดีว่า ไม่มีใครมาทำให้เราโกรธ ไม่มีใครมาทำให้เราทุกข์ได้ มีแต่คนที่มาเชิญชวนให้เราทุกข์ ให้เราโกรธ อยู่ที่ว่าเราจะรับคำเชิญของเขาหรือเปล่า พูดอีกอย่างหนึ่งคือว่า ถ้าเราทุกข์เมื่อไหร่ แสดงว่าเรารับคำเชิญและคำชวนของเขา แล้วอย่างนี้จะไปโทษใคร

    อันที่จริงพระพุทธเจ้าเคยพูดกับพราหมณ์คนหนึ่ง พราหมณ์ด่าท่านอยู่เรื่อยๆ แต่ท่านก็ไม่สนใจ แล้วท่านพูดกับเขาในเวลาต่อมาว่า ถ้าหากว่ามีคนมาบ้านท่าน ท่านจะทำอย่างไร พราหมณ์บอกว่า เขาจะเอาของกิน ของขบเคี้ยวมาให้อาคันตุกะ พระพุทธเจ้าจึงถามว่า แล้วถ้าอาคันตุกะไม่รับของขบเคี้ยวของท่าน ของนั้นจะเป็นของใคร พราหมณ์ตอบว่าเป็นของข้าพเจ้าสิ พระพุทธเจ้าจึงตอบว่า ฉันใดก็ฉันนั้น คำต่อว่าด่าทอของท่าน ในเมื่อเราไม่รับ มันจะเป็นของใคร พระพุทธเจ้าไม่ทุกข์เพราะว่าไม่รับคำต่อว่าด่าทอของเขา แปลว่าอะไร แปลว่าที่เราทุกข์เพราะไปรับคำตอบว่าด่าทอของเขาเข้ามากรีดแทงใจเรา และนี่เป็นความรับผิดชอบของใคร เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้วเมื่อพูดถึงความทุกข์แล้ว โดยเฉพาะความทุกข์ใจ ไม่ว่ารอบตัวเราจะเป็นอย่างไร จะเจอการกระทำหรือคำพูดของใคร แต่เรามีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ได้ ถ้าเราวางใจให้ถูกต้อง และแน่นอนถ้าเราวางใจได้ดี และเราประพฤติตัวดี มีการกระทำที่ถูกต้องทั้งกายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม การที่จะมีสิ่งร้ายๆ เกิดขึ้นกับเราก็จะน้อยลง ถ้าเราใช้เงินอย่างระมัดระวัง มีสติ พาลูกเดินเที่ยว เข็นลูกไปเที่ยวอย่างมีสติ มีความระมัดระวัง มันก็ไม่เกิดเหตุร้ายกับลูกของเรา และถ้าเราดูแลสุขภาพดี มันก็ไม่เกิดความเจ็บป่วยขึ้นกับเรา แต่ถึงแม้มันจะมีความเจ็บป่วยเกิดขึ้น แม้ว่าเราจะดูแลตัวเองดีแล้ว หรือทั้งๆ ที่เราขับรถดีแล้ว แต่ก็ยังมีคนมาเฉี่ยวมาชนเรา แต่เราก็มีสิทธิ์ที่จะไม่ทุกข์ได้ อย่างน้อยก็ไม่ทุกข์ใจ ถ้าเรารู้จักวางใจได้ถูกต้อง เพราะฉะนั้นเวลามีความทุกข์ ก็อย่ามองออกไปข้างนอกตัว เราต้องกลับมาดูที่ใจของเรา เพราะถ้าเรากลับมาดูที่ใจของเรา การที่จะออกจากทุกข์ การที่จะแก้ทุกข์ก็เป็นไปได้ แม้ว่าสิ่งแย่ๆ จะยังคงอยู่
  • 17 ม.ค. 67 - รักษาใจให้เป็นอิสระจากความคิด : ถ้าเรามีสติ เรามีความรู้สึกตัว เราก็จะรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น ยามที่คำพูดหรือการกระทำของเขามากระทบหูหรือกระทบตาของเรา อารมณ์เกิดขึ้น อันนี้ห้ามไม่ได้สำหรับตัวปุถุชนเมื่อมีการกระทบกับรูปหรือเสียง แต่ว่าอารมณ์นั้นก็ทำอะไรใจไม่ได้ ใจของเราก็ยังสงบได้ แม้จะอยู่ในห้องที่เสียงดังอึกทึก แม้ว่าคนรอบข้างจะทำตัวไม่น่ารัก ใจก็ไม่มีความหงุดหงิด ไม่มีความโมโห

    ฉะนั้นมันทำให้เราเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อม จากคนรอบข้าง จากสิ่งรอบตัวได้ ไม่ได้แปลว่าจะสงบได้ก็ต่อเมื่ออยู่ในห้องที่ไม่มีเสียงดัง เพราะถ้ามีเสียงเมื่อไหร่ก็จะกระตุ้นให้เกิดความคิด เกิดอารมณ์ขึ้นมา ไม่ว่าความคิดหรืออารมณ์จะเกิดขึ้น แต่ก็ทำอะไรใจไม่ได้ เพราะว่าเรารู้ทัน เรารู้ทันทีที่มันเกิดขึ้นในใจ และถ้าเราสามารถจะรักษาใจให้เป็นอิสระจากความคิด ต่อไปเราก็จะเป็นอิสระจากสิ่งแวดล้อมได้มากขึ้น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่มากระทบจากภายนอก ก็ไม่ทำให้ใจเราหงุดหงิด มันจะมาล่อหลอกให้เราเกิดความโลภ เกิดความโกรธ หรือยั่วยุให้เราเกิดความโกรธ ก็ทำไม่สำเร็จ อันนี้เป็นเพราะการฝึกใจให้มีสติที่รวดเร็ว มีความรู้สึกตัวอย่างต่อเนื่อง และสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาก็คือความสงบ สงบในใจแม้รอบตัวจะว้าวุ่นก็ตาม พูดอย่างนี้หลายคนก็อาจจะไม่ค่อยเข้าใจถ้าไม่ปฏิบัติ ถ้าไม่ได้ลองทำดู ก็จะรู้แต่เพียงว่าไม่มีความคิดเกิดขึ้น แล้วใจก็จะสงบ แต่ไม่ได้รู้ว่าแม้ความคิดเกิดขึ้นแล้วใจสงบก็ยังได้ ถ้ารู้ทันหรือรู้ว่ามีความคิดนั้นอยู่ นี่คือสิ่งที่คนที่ไม่ปฏิบัติหรือคนที่ไม่ได้ศึกษาจิตใจของตัวเองจะไม่เห็น เพราะฉะนั้นก็เอาแต่คิดหาทางควบคุมความคิดให้มันหยุดคิด หรือไปบังคับจิตให้เพ่งอยู่กับสิ่งอื่น มันจะได้ไม่คิด เพ่งลมหายใจ เพ่งมือเพ่งเท้า มันมีวิธีที่ไม่ต้องทำขนาดนั้นก็ได้ ความสงบที่เกิดขึ้นในใจมันสามารถจะเกิดขึ้นได้โดยที่ไม่ต้องบังคับจิต ไม่ต้องควบคุมความคิด เพียงแต่รู้ทันมัน แล้วต่อไปเราก็จะได้เห็นว่าความคิดของเรา มันมีอุบายต่างๆมากมายที่สามารถจะล่อให้เราหลง จะหลอกให้เราเชื่อ แล้วก็ทำให้เราเป็นทุกข์ หรือบางทีก็เสียผู้เสียคนไปเลย แต่ถ้าเรารู้ทันหรือว่ารู้ทัน มันก็ทำอย่างนั้นไม่ได้ ถ้าเรารู้ทางรู้ทันบ่อยๆ ความคิดที่เกิดขึ้นก็จะค่อยๆ เชื่อง แล้วก็ค่อยๆ มีลวดลายหรือมีอุบายน้อยลง หรือตกเป็นเครื่องมือของกิเลส ไม่ว่าจะเป็นโลภะ โทสะ ความอิจฉา ความเกลียดชังน้อยลง กิเลสมันจะมาอาศัยความคิด มาหลอกล่อเราให้ทำตามมัน สนองปรนเปรอมัน หรืออยู่ในอำนาจของมัน ก็ทำไม่ได้ เพราะว่าความคิดมันไม่ได้เป็นนายเราอีกต่อไปแล้ว แต่ว่าเราเป็นนายความคิดมากกว่า ซึ่งอันนี้จะทำให้เราสามารถใช้ความคิดให้เกิดประโยชน์ได้ ไม่ใช่ว่าไม่มีความคิดเลย มีได้ แต่รู้ทัน แล้วใช้มันให้เป็นประโยชน์
  • 11 ม.ค. 67 - อย่ามาวัดเพียงแค่หาความสงบ : ถ้ามาวัดด้วยความคาดหวังว่าจะได้พบกับความสงบ แล้วเกิดไม่เจอความสงบอย่างที่คาดหวัง เกิดความหงุดหงิด ขุ่นเคือง กลายเป็นว่ามาแล้วเกิดทุกข์ขึ้นมา หรืออาจจะมาได้เจอความสงบอย่างที่คาด แต่อยู่ๆไปความสงบที่เคยพบหายไป อาจจะเป็นชั่วครู่ชั่วยาม เช่น มีเสียงดัง หรือว่าคนพูดไม่ถูกหู ทำอะไรไม่ถูกใจ ถ้าเกิดเป็นครั้งเป็นคราว ยังพอไหว แต่ว่าถ้าเกิดบ่อยๆ จะเกิดความทุกข์ขึ้นมา ผิดหวัง

    จะดีกว่าถ้าหากว่าเราตั้งจิตว่า ไม่ได้มาวัดเพื่อความสงบ แต่ว่าเพื่อมาฝึกตน ถ้าเราตั้งจิตแบบนี้ ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นที่นี่ จะมีเสียงดังจากนอกวัด เสียงพูดคุยจากคนในวัด หรือว่าการกระทำคำพูดที่ไม่ถูกหู ไม่ถูกใจ หรืออะไรต่างๆ เช่น ความไม่สะดวกสบาย ทั้งหมดนี้ล้วนแต่เป็นสิ่งที่มาเป็นประโยชน์สำหรับการฝึกตนได้ทั้งนั้น ถ้าเรามุ่งเพื่อการฝึกตน ทุกอย่างที่เกิดขึ้นไม่ว่าบวกหรือลบ ดีหรือร้าย ถูกใจหรือไม่ถูกใจ ล้วนแต่มีประโยชน์ทั้งนั้นสำหรับการฝึกใจ ไม่ใช่เพื่อฝึกให้เกิดความอดทนเท่านั้น แต่ว่าฝึกให้สามารถที่จะรับมือหรืออยู่กับสิ่งเหล่านี้ได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ ถ้าเรามาวัดเพื่อฝึกฝนตนโดยเฉพาะการฝึกใจ ไม่ใช่แค่มาอยู่ง่ายกินง่ายอย่างเดียว แต่ว่ามาฝึกสติ ฝึกสมาธิ ทำความรู้สึกตัว หรือว่าลดละกิเลส ไม่ว่าอะไรที่เกิดขึ้นที่นี่ ล้วนเป็นของดีทั้งนั้น เพราะเป็นอุปกรณ์หรือเป็นการบ้าน วัตถุดิบสำหรับการฝึกตน ทำให้เรามีสติไว รู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้น เวลามีอะไรมากระทบ หรือรู้จักวางจิตวางใจให้เป็นกลางต่อสิ่งที่มากระทบได้ ถ้าหากว่าเรามาวัดเพื่อหาความสงบ นอกจากจะมีโอกาสผิดหวังแล้ว อาจจะไม่ได้ประโยชน์จากการมาวัดเท่าที่ควร โดยเฉพาะที่ซึ่งเป็นสำนักปฏิบัติธรรมที่มุ่งเรื่องการฝึกฝนตน
  • 10 ม.ค. 67 - รู้ทันความคิดจนจิตเป็นอิสระ : คนเราทุกข์เพราะความคิดก็เพราะเหตุนี้ เพราะว่าชอบเติมแต่งไปจนมันเกินเลยไป ถ้าหากว่าเราเจริญสติ มันต้องเห็นไปเรื่อยๆ เห็นลึกขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งเห็นว่าการที่ใจมันยึดเข้าว่าเป็นเรา เป็นของเรา ตรงนี้คือที่หลวงพ่อท่านพูดอยู่เสมอว่า เห็น ไม่เข้าไปเป็น

    ถ้าเรามีสติเห็นอยู่ชัดๆ มันจะไม่เข้าไปยึดว่าเป็นเรา เป็นของเรา แล้วมันจะรู้ทันเลยว่า มันมีการปรุงตัวกูขึ้นมา เป็นผู้โกรธ เป็นผู้เกลียด เป็นผู้ปวด เป็นผู้เครียด มันมีการปรุงตัวกูขึ้นมา ถ้าไม่รู้จักพิจารณา ไม่รู้จักเฝ้าดูใจของตัว ไม่มีสติที่ไวพอ ก็จะไม่เห็นตรงนี้ และตรงนี้มันคือรากเหง้าของความทุกข์ การปรุงตัวกูขึ้นมา มันเป็นยิ่งกว่าการตีค่า มันมากกว่าการเติมแต่งหรือการตีความ แต่มันเป็นการสร้างตัวทุกข์ขึ้นมาเลย การเจริญสติ ถ้าหากว่าเรามีสติที่ละเอียด และไว เราจะเห็นชัดขึ้นเรื่อยๆ มันไม่ใช่แค่มารู้ว่าโกรธ หลังจากที่โกรธไปเรียบร้อยแล้ว แต่ว่ามันจะรู้แม้กระทั่งเวลาขณะที่กำลังโกรธ เห็นชัดๆ เลย อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า เห็นแบบจังๆ เห็นแบบซึ่งๆ หน้า ต่อมามันจะเห็นเร็วขึ้น จนกระทั่งว่าเพียงแค่มีความกระเพื่อมในจิตใจ เห็นความหงุดหงิดขึ้นมา มีความหงุดหงิดขึ้นมาก็รู้ทัน เห็นมันได้ทันที ต่อไปก็จะเห็นว่า ที่เราทุกข์เพราะเราชอบให้ค่าหรือตีค่าไปในทางลบ หรือตีความไปในทางร้าย หรือเติมแต่งไปต่างๆ นานา จนกระทั่งเห็นชัดๆ เลย เป็นเพราะการปรุงตัวกูขึ้นมา ที่มันเป็นตัวการทำให้ทุกข์ ถ้าเราเจริญสติ ไม่เห็นตรงนี้ มันก็แค่มีความสบายชั่วคราว รู้ทันความคิดรู้ทันอารมณ์ ก็วาง ปล่อย สุดท้ายก็กลับมาทุกข์ใหม่ เพราะไม่รู้ทันการตีค่า ให้ค่า หรือการตีความ หรือว่าปล่อยให้ใจปรุงแต่งไปสารพัด จนกระทั่งเข้ารกเข้าพก รวมทั้งการเข้าไปเป็น ไม่ว่ามีอารมณ์ใดเกิดขึ้นก็เข้าไปเป็น หรือเข้าไปยึดสิ่งต่างๆ ที่อยู่นอกตัวเรา ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ทรัพย์สมบัติต่างๆ ว่าเป็นเรา เป็นของเรา เป็นตัวการของความทุกข์ แต่ถ้าเรามีสติที่เจริญงอกงาม ก็จะเห็นมากขึ้นเรื่อยๆ แล้วก็จะเห็นทะลุทะลวง จนกระทั่งถึงตัวที่เป็นสมุทัย คือ รากเหง้าแห่งความทุกข์ ซึ่งก็อาจจะช่วยทำให้เราปลดเปลื้องใจออกจากความทุกข์ได้ในที่สุด
  • 8 ม.ค. 67 - พบสุขเมื่อใจสงบ : คนเราถ้าได้เข้าถึงความสุขที่เกิดจากความสงบ มันก็ไม่มีความรู้สึกที่จะต้องไล่ล่าหาสิ่งเร้า หรือว่าแสวงหาอะไรใหม่ๆ เพื่อมาปรนเปรอความสุข และความสุขที่เกิดจากความสงบ แม้ว่ามันจะเกิดได้ยาก แต่ว่ามันก็ยั่งยืนกว่า

    และการภาวนา การเจริญสติ การทำกรรมฐาน มันคือการพาเราให้เข้าถึงความสุขที่ประณีตคือความสงบ เป็นความสุขที่เงินซื้อไม่ได้ แล้วก็ใครให้ก็ไม่ได้ เป็นความสุขที่แม้แต่จะหาก็ยังหาไม่ได้เลย แต่เกิดจากการทำ ทำให้มีขึ้น หรือจะไปหาความสงบก็ได้เหมือนกัน จากสถานที่ๆ สงบ แต่ถ้าวางจิตไม่ถูก มันก็ยังคิดฟุ้งปรุงแต่ง ห่วงโน่นห่วงนี่ เหมือนกับนักธุรกิจแม้จะไปอยู่ในที่ๆ มันสงบ ไม่มีแม้กระทั่งสัญญาณโทรศัพท์ มีแต่เสียงธรรมชาติ แต่ว่าใจเขาก็ไม่สงบ เพราะว่าเขายังห่วงงาน บางคนก็ห่วงลูก ห่วงครอบครัว บางทีก็กังวลสารพัด จนนอนไม่หลับก็มี ความสงบแบบนี้ มันไม่ได้เกิดจากการที่ไปหาแล้วเจอ บางคนมักจะพูดว่า ไปหาความสงบ แต่ความสงบที่ได้มาจากการหา มันเปราะบางมาก คนที่มาหาความสงบที่นี่อย่างที่วัด บางทีก็ผิดหวัง เช่น เจอเสียงดังเมื่อ 2-3 วันก่อน มีเสียงกระหึ่มจากงานเลี้ยงทำบุญบ้าน หรือบางทีก็มีงานศพ มีงานฉลองสารพัด หรืออาจจะเจอผู้คนที่ไม่น่ารักน่าระอา ก็ทำให้ใจไม่สงบได้ ความสงบที่เกิดจากการหามามันเปราะบาง แต่ความสงบที่เกิดจากการทำขึ้นมา ทำด้วยสติ ทำด้วยสมาธิ ทำด้วยปัญญา อันนี้จะเป็นความสงบที่มั่นคงกว่า ถึงแม้ว่ามันก็ตกอยู่ภายใต้ อนิจจัง คือความไม่เที่ยง แต่ว่าตราบใดที่คนเรามีความสามารถในการรักษาใจให้สงบ แม้ว่าใจกระเพื่อม แต่ว่าก็สามารถจะกลับมาเป็นปกติสงบได้ไว และพอสงบได้แล้ว การอยู่แบบเรียบง่าย การอยู่แบบไม่เป็นทาสของวัตถุสิ่งเสพ ใครเขาจะได้อะไรมา แต่เราก็ไม่สนใจจะได้ เพราะว่าความสุขของเราไม่ได้อยู่ที่การได้ ไม่ได้อยู่ที่การมีด้วยซ้ำ แต่อยู่ที่ความสงบ ซึ่งเกิดจากการทำอันนี้มันยั่งยืนกว่า
  • 5 ม.ค. 67 - สติช่วยชีวิตในยามวิกฤต : เราเห็นคุณค่าของสติ ตระหนักว่าสติจะทำงานได้ดีได้ไว มันต้องผ่านการฝึก ผ่านการทำซ้ำๆ แล้วก็สามารถจะใช้เหตุการณ์ในชีวิตประจำวันโดยเฉพาะเวลาถูกกระทบด้วยสิ่งเร้าที่กระตุ้นให้เกิดความไม่พอใจ

    อย่างเช่น ฝึกสติเวลามีคนต่อว่า มีคนติฉินนินทา เราจะครองสติได้อย่างไร เวลามีคนเหวี่ยงคนวีนต่อหน้าหรือใส่หน้าเรา เราจะมีสติได้อย่างไร หรือว่าเวลาใครไม่ว่าจะทำหรือใช้คำพูดไม่ถูกใจเรา ไม่ว่าเขาเป็นลูกน้องเรา หรือว่าเขาเป็นเจ้านายเรา หรือเป็นเพื่อนร่วมงานเรา เราจะครองสติได้อย่างไร ใหม่ๆ ก็โกรธ กว่าจะรู้ตัวว่าโกรธก็ด่าไปเรียบร้อยแล้ว หรือว่าโวยวายไปเรียบร้อยแล้ว แต่ว่าถ้าเราไม่ย่อท้อ เออ เราก็เพียรฝึกไปเรื่อยๆ ต่อไปก็จะพบว่าสติเรามาไวขึ้น ยังไม่ทันจะว่า ยังไม่ทันจะโวยวายเลย เราก็มีสติรู้ตัวแล้ว และไม่ปล่อยใจให้เผลอพูดหรือทำไปตามอารมณ์ ต่อไปมันก็จะมีสติไว กระทั่งว่าเพียงแค่เกิดความไม่พอใจ ยังไม่ทันโกรธเลยก็รู้ทันเสียแล้ว ไม่ปล่อยให้มันลามกลายเป็นความโกรธ ดังนั้นต่อไปก็อาจจะมีสติถึงขั้นว่าสามารถที่จะยิ้มได้หรือนิ่งได้ แม้ว่าจะถูกต่อว่าด่าทออยู่เบื้องหน้าก็ตาม เราฝึกได้ แล้วควรใช้โอกาสพวกนี้ฝึกในชีวิตประจำวัน เวลามีเสียงดัง เสียงโทรศัพท์ดังในขณะประชุม ในขณะที่กำลังฟังธรรม ในขณะที่สวดมนต์ แล้วเราจะมีสติได้อย่างไร ใช้โอกาสนี้ในการฝึกสติในชีวิตประจำวันของเรา มันเจอสิ่งที่ไม่ถูกใจเยอะ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ เช่น รถติด หรือว่าเพื่อนผิดนัด ถ้าเราเอาแต่ปล่อยใจไปตามอารมณ์ ไปตามสิ่งเร้า นอกจากเราจะทุกข์แล้ว นอกจากโมโห นอกจากหงุดหงิดแล้ว ยังไม่ได้อะไรเลย เลยทุกข์ฟรีๆ แล้วก็เสียโอกาสในการฝึกสติ เราต้องฝึกสติแบบนี้ ฝึกเวลามีสิ่งมากระทบ ถ้าเราเจอบ่อยๆ แล้วเราใช้โอกาสนี้ในการฝึก เราก็ได้ฝึกสติเรียกว่าบ่อยขึ้น แล้วมันเป็นโอกาสดี เพราะถ้าเราไม่ฝึกจากเหตุการณ์แบบนี้ มันก็เหมือนกับเราขาดการซ้อม พอเราขาดการซ้อม ถึงเวลาเจอวิกฤตหนักๆ ไปไม่ถูก เสียผู้เสียคนไปเลย หรือเสียศูนย์ไปเลย หรือบางทีก็ทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำซึ่งเป็นโทษกับตัวเอง การฝึกสติ นอกจากการฝึกสติในรูปแบบด้วยการทำอะไรซ้ำๆ ด้วยความรู้สึกตัว ใจเผลอใจลอยไปก็รู้ทัน พาจิตกลับมาอยู่กับเนื้อกับตัวในสิ่งที่ทำ ยังหมายถึงการฝึกสติเวลามีอะไรมากระทบในชีวิตประจำวันซึ่งมันมีบ่อย เราอาจจะเจอทุกวัน ถ้าเราใช้โอกาสนี้มาเป็นการฝึก เราก็ได้ประโยชน์ สติเราก็จะเติบโต แล้วการตอบโต้การปฏิบัติของเรามันก็จะแคล่วคล่องว่องไวในสิ่งที่ถูกต้อง
  • 1 ม.ค. 67 - ทุกวันคือโชคที่ควรใช้ให้คุ้มค่า : การฝึกตนให้พร้อม ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการมาปฏิบัติธรรมด้วยการมานั่งทําสมาธิ เดินจงกรม สร้างจังหวะ อันนั้นเป็นการซ้อม แต่ว่าถ้าเราฝึกจากของจริง ฝึกจากสิ่งที่มากระทบในชีวิตประจําวัน ฝึกจากสิ่งที่ไม่ถูกอกถูกใจ สิ่งที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง สิ่งที่ไม่ถูกใจ แม้กระทั่งสิ่งที่ไม่ถูกต้องในความรู้สึกของเรา เจอแล้วเราสามารถจะวางใจเป็นปกติได้ ถ้าเราวางใจให้เป็นปกติเมื่อมีสิ่งที่มากระทบ เราก็จะมีความพร้อมมากขึ้น ในการที่จะรับมือกับความทุกข์ที่เกิดขึ้นในวันข้างหน้า

    แต่ถ้าชีวิตของเรามันไม่เจออะไรมากระทบเลย มันเจอแต่ความสงบราบเรียบ ทุกอย่างเลิศเลอเพอร์เฟคทำให้ใจเราสงบได้ แบบนี้ต้องถือว่ามีความเสี่ยง เพราะว่าไม่มีประสบการณ์ในการที่จะรับมือกับสิ่งกระทบเลย เมื่อเราไม่มีประสบการณ์ในการรับมือกับสิ่งกระทบ ไม่รู้จักเอาสิ่งนี้มาฝึกสติ มาสร้างปัญญา ถึงเวลาเจอความแก่ ความเจ็บ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย ความตาย ก็เสียศูนย์ ความสงบที่มีที่ได้มาในระหว่างการอยู่ในสถานที่ที่อํานวย เป็นสัปปายะ มันไม่พอที่จะทำให้เรารับมือกับสิ่งเหล่านี้ได้ ต้องอาศัยการฝึกฝนจากสิ่งที่มากระทบ แล้วเรียนรู้จากมัน ฝึกจิตให้มีสติ มีปัญญา ธรรมเหล่านี้ที่จะทําให้เราพอจะมีเครื่องไม้เครื่องมือ หรือมีอุปกรณ์ในการที่จะรับมือกับความทุกข์หนักๆ ที่จะเกิดขึ้นกับเราในวันข้างหน้าได้ เพราะฉะนั้นให้เราถือว่าโชคที่เรามีเวลาในวันนี้ มันไม่ได้เป็นไปเพื่ออะไรเลย แต่เพื่อให้เราได้มีเวลาในการฝึกฝนตนให้พร้อมสําหรับศึกที่จะเกิดขึ้นในวันข้างหน้า
  • 31 ธ.ค. 66 - ของขวัญที่คู่ควรกับชีวิต : สำหรับผู้ที่มีปัญญาแล้ว เขารู้จักเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นธรรม เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นปัญญา ถ้าเราเห็นเช่นนี้ เราก็จะพบว่าสิ่งที่เราควรทำ สร้างสรรค์ให้เป็นเสมือนของขวัญของชีวิตนี้ ปีใหม่นี้ใครๆ ก็พูด ใครๆ ก็ปรารถนาของขวัญ

    แต่ของขวัญที่ดี มันเป็นของขวัญที่เราสร้างขึ้นมาเองหรือทำขึ้นมา แล้วก็ไม่มีอะไรที่ดีกว่าธรรมะ ของขวัญที่สำคัญอย่างหนึ่งก็คือ การที่เรามีสติ มีสมาธิ มีปัญญา เพราะถ้าเรามีสติก็จะช่วยทำให้ความคิดหลอกเราไม่ได้ ทุกวันนี้คนเราทุกข์ ไม่ใช่ทุกข์เพราะใคร ไม่ใช่ทุกข์เพราะอะไร แต่ทุกข์เพราะถูกความคิดมันหลอก หลอกให้โกรธ หลอกให้กลัว หลอกให้เครียด เพราะไปมัวปรุงแต่งกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น มองอนาคตไปในทางลบทางร้าย หรือปรุงแต่งกับสิ่งที่ไม่รู้ในปัจจุบัน เหมือนกับคนที่อยู่ในกุฏิคนเดียว อยู่ในห้องคนเดียวกลางป่า แล้วก็นอนไม่หลับกระสับกระส่าย เพราะไปนึกไปคิดว่ามีผี มีคนที่มุ่งร้ายหมายปองร้ายอยู่ข้างนอก ผีก็ดี คนที่มุ่งร้ายก็ดี มันเป็นความคิดทั้งนั้น ไม่ได้มีอยู่จริง เป็นความคิดที่ปรุงเข้ามาในหัว ความคิดแบบนี้เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าคนที่มีสติก็จะไม่โดนความคิดนี้มันหลอก รู้ทันความคิด รู้ว่านี่เป็นสิ่งปรุงแต่ง นอกจากไม่โดนความคิดหลอกให้โกรธ ให้กลัว ให้เครียดแล้ว ก็ยังไม่โดนความคิดลวงให้ทุกข์ด้วยบางทีความคิดก็ชวนให้หลงไปจมอยู่กับเรื่องราวในอดีต ขุดคุ้ยเรื่องราวในอดีตที่เจ็บปวด ที่ทำให้เกิดความเศร้าโศก เกิดความคับแค้นหรือเกิดความรู้สึกผิด ถ้าโดนความคิดมันลวง มันก็กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กระสับกระส่าย กลายเป็นคนอมทุกข์ ต่อไปก็กลายเป็นคนซึมเศร้า ทั้งๆ ที่อยู่สุขสบาย มีรถ มีบ้าน มีทรัพย์สินเงินทอง มีโชคมีลาภแต่ว่าหาความสุขในจิตใจไม่ได้ หาความสงบในจิตใจไม่ได้ เพราะโดนความคิดหลอก หลอกให้โกรธ หลอกให้กลัว หรือโดนความคิดลวงให้ทุกข์ แต่ถ้ามีสติ ความคิดมันก็จะหลอกหรือลวงเราไม่ได้ เราก็จะพบกับความสงบ เพราะว่าสามารถจะใช้ความคิดไปในทางที่สร้างสรรค์ได้ แทนที่มันจะคิด มันจะหลอก หรือลวงให้คิดแต่ในทางลบ ก็รู้จักคิดในทางบวก ปีหน้า ถ้าเรารู้จักคิดแบบภรรยาที่เล่ามาในตอนต้น เราจะพบว่ามันไม่มีอะไรที่น่ากลัวเลย บางคนเริ่มกลัวแล้วว่าเดี๋ยวจะเจอปีชง แต่คนที่รู้จักมองไม่ว่าเจออะไร มันก็จะเห็นด้านดีของมันด้วย ด้านที่เสียก็อาจจะมี แต่ด้านที่ดีมันก็มี อันนี้เราเรียกว่ารู้จักมองบวก