Episodios

  • 12 ก.พ. 68 - เว้นชั่ว ทำดี และฝึกจิต ชีวิตไกลทุกข์ : เวลาเราเวียนเทียน ขณะที่เราเวียนเทียนรอบพระพุทธรูป พระปฏิมา ก็ขอให้เราน้อมนึกถึงคำสอนของพระองค์ไปพร้อมๆ กัน และพยายามทำให้คำสอนของพระองค์เข้ามาเป็นศูนย์กลางของชีวิต เราไม่ได้เวียนเทียนรอบพระพุทธรูปเท่านั้น แต่ขอให้ชีวิตของเรา จิตใจของเรา วนเวียนอยู่รอบธรรมะ หรือมีธรรมะของพระองค์เป็นศูนย์กลางของชีวิตเรา ก็ช่วยทำให้ชีวิตของเรามีความเจริญงอกงาม

    วันมาฆบูชาก็จะมีความหมายต่อชีวิตของเรา ไม่ใช่แค่เป็นวันสำคัญที่หยุดงาน หรือว่าเป็นวันที่เราจะมาทำบุญใส่บาตร หรือว่าเวียนเทียนเท่านั้น แต่ว่าจะมีความหมายในทางที่ทำให้ชีวิตของเราเจริญงอกงาม เพราะว่าจิตของเราสว่างไสวจากการได้ฝึกอย่างจริงจัง ไม่ใช่แค่ทำดี แล้วก็เว้นชั่วเท่านั้น
  • 11 ก.พ. 68 - ปลูกสติให้งอกงามกลางใจ : ให้เราสังเกตดู ถ้าเราทำเล่น ๆ มันจะเกิดความนุ่มนวลข้างในใจ ใจก็จะกลับมา กลับคืนสู่บ้านอย่างเรียกว่าละม่อม ไม่ใช่ถูกกระชากลากถู ขณะเดียวกันความคิดที่มันพาจิตฟุ้งไป มันก็จะไม่ถูกห้าม ถูกบีบ ถูกตัด แต่มันค่อย ๆ เลือนหายไปเอง มันเป็นกระบวนการที่ละมุนละม่อม อ่อนโยน

    เวลาใจจะคิดไป ฟุ้งไปไหน ก็อนุญาตให้ไปได้ แต่ก็จะถูกชวนให้กลับมา ไม่ใช่ไปลากลู่ถูกังให้กลับมา ฉะนั้นถ้าเราทำให้ใจมันเกิดความนุ่มนวล สติก็จะเติบโต แล้วสุดท้ายมันก็เหมือนกับต้นกล้าแห่งสติในใจเราก็จะค่อย ๆ งอกงาม จนกระทั่งเติบโตเต็มพื้นที่ เขียวขจี ร่มรื่น ที่เคยแห้ง ที่เคยแล้ง ร้อน มันก็จะกลายเป็นร่มรื่น แล้วก็ชุ่มชื่น สงบเย็น เกิดขึ้นภายในใจของเรา
  • ¿Faltan episodios?

    Pulsa aquí para actualizar resultados

  • 10 ก.พ. 68 - อะไรเกิดขึ้นก็แค่รู้ : ใจรู้ว่ากายเคลื่อนไหวแปลว่าอะไร แปลว่า ใจอยู่กับเนื้อกับตัวแล้ว ถ้าใจไม่รู้ว่ากายเคลื่อนไหว แสดงว่าตอนนั้นใจลอยแล้ว ใจลอยก็ดีเหมือนกัน จะได้ฝึกให้มันกลับมารู้เนื้อรู้ตัว แต่การที่เราไม่รู้ว่ากายเคลื่อนไหว มันก็เป็นตัวบ่งชี้ว่าใจลอย ก็เป็นของดี ฝึกให้ใจกลับมารู้เนื้อรู้ตัว อยู่กับเนื้อกับตัว

    ต่อไปก็จะรู้ทันความคิดและอารมณ์ ซึ่งเป็นเรื่องที่ละเอียดกว่าความรู้สึกทางกาย ทำไปเรื่อยๆ ทำเล่นๆ ไป อย่าไปบังคับจิต อย่าไปพยายามเพ่ง อะไรเกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้น เพราะมันเป็นแบบฝึกหัดให้ใจได้รู้ มันไปก็ดี เราจะได้ฝึกให้ใจพามันกลับมา อะไรพาจิตกลับมา ก็สตินั่นแหละ สตินั่นแหละคือสิ่งที่จะช่วยพาจิตกลับมา ยิ่งสติทำงานบ่อยๆ พาจิตกลับมาบ่อยๆ สติก็จะเร็วมากขึ้น และนี่แหละคือสิ่งที่เราต้องการ คือฝึกให้สติรวดเร็วฉับไว รู้ทันเร็วๆ ทำไปเรื่อยๆ ไม่ว่าในรูปแบบ หรือเวลาเราทำกิจอื่นที่เคลื่อนไหว เช่น เดินกลับกุฏิ ถูฟัน เก็บที่นอน พวกนี้ก็เป็นโอกาสของการปฏิบัติได้
  • 9 ก.พ. 68 - ทำพื้นที่กลางใจให้ปลอดโปร่ง : อะไรเกิดขึ้นกับใจก็ดีทั้งนั้น ขอเพียงแต่ให้รู้ว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นในใจ แต่ถ้าไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็ค่อยมารู้กาย แต่ใหม่ ๆ ก็คงจะต้องปรับตัวให้เข้ากับสถานที่สิ่งแวดล้อม แล้วก็พยายามเคี่ยวเข็ญตัวเองให้ตื่นแต่เช้า แล้วก็ปฏิบัติทั้งวันไม่ว่ามันจะเบื่ออย่างไร ง่วงอย่างไร หรือว่าฟุ้งอย่างไร ก็ทำไป 2-3 วันแรกก็จะต้องปลุกปล้ำขับเคี่ยวกับตัวเองหน่อย

    แต่ไม่ว่าอะไรเกิดขึ้นก็ดีทั้งนั้นถ้ารู้ แม้เบื่อ แม้หงุดหงิด เราไม่เรียกร้องว่าต้องไม่เบื่อ ต้องไม่หงุดหงิด ต้องไม่ฟุ้ง การปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนไม่เรียกร้องว่าจะต้องใจสงบ ไม่ฟุ้ง ไม่เบื่อ ฟุ้งไปเลย หงุดหงิดไปเลย เซ็งไปเลยก็ได้ แต่ขอให้รู้ แล้วก็อย่าไปไหลตามมันเท่านั้นเอง
  • 8 ก.พ. 68 - เปลี่ยนเหตุผลที่แท้ให้เป็นเหตุผลที่ดี : คนจบปริญญาเอกนี่ กิเลสมันก็จบปริญญาเอกเหมือนกัน แต่ไม่ใช่แค่นั้น คนที่รู้ธรรมะนี่ กิเลสมันก็รู้ธรรมะเหมือนกัน และกิเลสบางทีมันก็สรรหาธรรมะมาล่อหลอกให้เราหลงเชื่อ ทำตามอำนาจของมัน​ คนเรานี่ทำตามอำนาจกิเลสเพราะว่าหลงเชื่อข้ออ้างในทางธรรม ก็มีมาเยอะแล้ว เอามาใช้ประหัตประหารกัน อ้างธรรมะ เพราะว่าทนไม่ได้ที่มีใครบางคนมาข่มอัตตา เด่นดังกว่า ก็เลยต้องเล่นงาน โดยอาศัยข้ออ้างทางธรรม เพื่อพิทักษ์ธรรม เพื่อรักษาความถูกต้องของธรรมะ ก็เลยถล่มอีกฝ่ายหนึ่งที่เห็นต่าง

    เหตุผลก็ดูดี เพื่อธรรมะ แต่ว่าไม่ใช่เหตุผลที่แท้​ แต่นักปฏิบัติธรรมนี่ หน้าที่ของเราคือ รู้ทันเหตุผลของกิเลส แล้วก็ไม่ประมาทว่าธรรมะที่มันเอามาเป็นข้ออ้างนี่ อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่แท้ก็ได้ แต่เป็นเหตุผลของกิเลส ทีนี้ พอเรารู้ทันอำนาจของกิเลสแล้ว ไม่เปิดโอกาส หรือไม่เปิดช่องให้กิเลสมันครองใจ อาจจะเผลอโวยวายไปบ้าง เพราะว่าไม่รู้ทัน แต่ก็กลับมาตั้งหลักมีสติได้​ ต่อไปก็ต้องพยายามบำรุงส่งเสริมความใฝ่ดีในใจเรา เช่น เมตตา กรุณา ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความรู้จักให้อภัย สติ สมาธิ ต้องเสริมสร้างพลัง หรือปัจจัยฝ่ายดี ให้มันครองใจเรา
  • 7 ก.พ. 68 - มีให้เป็น เจอให้ถูก ก็ไม่ทุกข์ : มีอะไรไม่สำคัญเท่ากับว่า มีอย่างไร เจออะไรก็ไม่สำคัญเท่ากับว่าเจออย่างไร เจอเสียงดังมากระทบหู หรือว่าเจอคนต่อว่าด่าทอ หรือเจอความเจ็บความป่วย แต่ว่าถ้าปฏิบัติกับมันถูก ไม่ทุกข์ แถมได้ประโยชน์ด้วย อย่างที่เคยเล่าพระอาจารย์ทองรัตน์ถูกคนหย่อนบัตรสนเท่ห์ ขู่จะเอาลูกปืนมายิง มาไล่ออกจากวัด ท่านกลับเอามาสอนเณรว่านี่ของดี โลกธรรม 8 เป็นอย่างนี้เอง เคยได้ยินมา แต่ว่าวันนี้มาเห็นด้วยตัวเอง ท่านเรียกว่าเป็นอมฤตธรรม แล้วคนที่หย่อนบัตรสนเท่ห์ให้ท่านก็เรียกว่าเป็นเทวดา

    ฉะนั้น เจออะไรไม่สำคัญเท่ากับว่าเจออย่างไร เจอด้วยท่าทีแบบไหน เจออย่างมีสติมีปัญญา เพราะฉะนั้นเวลาปฏิบัติอย่าไปกังวลว่า ขออย่าได้ไม่มีอย่างโน้น ไม่มีอย่างนี้ ไม่มีความคิดฟุ้งซ่าน ไม่มีความกังวล จะมีก็มีมาเลย แต่ว่าเรารู้ เรามีวิชาที่จะรับมือกับมัน ไม่ใช่ความคิดฟุ้งซ่าน ไม่ใช่เฉพาะอารมณ์อกุศล แม้กระทั่งความเจ็บป่วย เสียงต่อว่าด่าทอ เมื่อมีหรือเจอ มีให้เป็น เจอให้ถูก ก็ไม่ทุกข์ แถมจิตใจเจริญงอกงาม มีสติปัญญาก้าวหน้าด้วย
  • 29 ม.ค. 68 - ทำดีต้องประพฤติดีด้วย : การปฏิบัติธรรม แม้จะเป็นธรรมดีที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ชอบแล้ว มันก็ไม่ใช่ว่าจะปฏิบัติแบบซื่อๆ ตรงๆ หรือว่าแบบเถรส่องบาตร จะต้องปฏิบัติโดยใช้ปัญญา ปฏิบัติโดยสมควร เช่น ไม่ทำน้อยไป ไม่ทำมากไป หรือใช้ให้ถูกกรณี ถูกเวลา

    แล้วที่สำคัญคือ ไม่ยึดมั่นถือมั่นกับมัน ไม่ใช่เอาธรรมะมาทะเลาะเบาะแว้งกัน เพราะเชื่อว่าของตัวเองถูก ของตัวเองดีกว่า อย่างที่มีหลายสำนักมาทะเลาะกันว่า การปฏิบัติของสำนักฉันดีกว่าของสำนักเธอ บางทีลูกศิษย์ก็มาทะเลาะกัน อันนี้เรียกว่าเอาธรรมะมาเป็นเครื่องยึดมั่นถือมั่น สุดท้ายก็กดถ่วงหรือว่าหน่วงเหนี่ยวให้เกิดความเนิ่นช้าในการปฏิบัติ
  • 27 ม.ค. 68 - พื้นที่ปลอดภัยที่แท้จริง : แต่ต่อไปพอมีปัญญาเข้าใจสัจธรรมความจริง ความโกรธก็ไม่มี เพราะว่าไม่มีความยึดติดถือมั่นตั้งแต่แรก ไม่มีตัวกู ไม่มีการยึดว่าเป็นตัวกูตั้งแต่แรก จึงไม่มีผู้โกรธ ใครมาด่าว่าอะไรก็ไม่รู้สึกว่าตัวกูถูกกระทบ เหมือนกับว่าโยนหินลงไป ไม่มีแก้วมารับการกระแทก ไม่มีการแตกร้าว ก็คือไม่มีความทุกข์

    ใครจะว่าอะไรก็ไม่ทุกข์ เพราะว่าไม่มีตัวกูเป็นผู้รับคำต่อว่าด่าทอ ทรัพย์สินที่ถูกแย่งชิงไปก็ไม่ได้ทำไม่ทุกข์ เพราะไม่ได้คิดว่าเป็นของเราตั้งแต่แรก กายเจ็บกายป่วยก็ไม่ได้ทุกข์ ไม่ได้หงุดหงิด ไม่ได้โมโห ไม่ได้หวั่นกลัว เพราะว่าไม่ได้ยึดว่ากายนี้เป็นเราเป็นของเราตั้งแต่แรก ฉะนั้นความทุกข์หรืออารมณ์ที่เคยรบกวนจิตใจ ตอนนี้ก็เรียกว่าเลือนหายไป ใจก็เลยเป็นเรียกว่าแดนสงบ แคล้วคลาดจากอันตราย มีความสงบเย็นอย่างแท้จริง ตรงนี้แหละที่เรียกว่า เป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยอย่างแท้จริง เพราะมีสติ มีความรู้สึกตัวคอยรักษา แล้วก็ยิ่งกว่านั้นคือ มีปัญญาที่จะช่วยสร้างความสว่างไสวให้กับใจ กวาดเอาความทุกข์ อุปสรรค ที่เกิดจากอวิชชา แล้วก็ความละกิเลสออกไปให้หมด แล้วเรามาแสวงหาหรือว่ามาสร้างพื้นที่ที่ปลอดภัยกลางใจเรา อันนี้จะดีกว่า เพราะว่าถ้าทำได้เช่นนี้ โรคภัยไข้เจ็บก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ไม่ได้ ความพิการ ความแก่ชรา ความสูญเสีย ก็ทำให้ใจเป็นทุกข์ไม่ได้ เรียกว่าปลอดภัยอย่างแท้จริง
  • 25 ม.ค. 68 - ฝึกตนให้เป็นผู้ใฝ่รู้ : ใฝ่รู้อีกความหมายหนึ่งก็คือว่า ใฝ่เรียนรู้ อะไรเกิดขึ้นก็เรียนรู้ หาประโยชน์จากมัน เพราะฉะนั้นเวลาคนต่อว่าด่าทอ แทนที่จะทุกข์ก็ได้รู้ ได้เรียนรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมันบอกอะไรเรา ฉะนั้นถ้าคนเราใฝ่เรียนรู้อยู่เสมอ มันได้ประโยชน์ เงินหาย เจ็บป่วย ก็ได้เรียนรู้ อาจจะเรียนรู้เรื่องความไม่เที่ยง อาจจะได้เรียนรู้เรื่องอนัตตา ไม่ใช่แค่อนิจจังอย่างเดียว รวมถึงอนัตตาด้วย หรืออาจจะได้เรียนรู้ว่า

    เราต้องระมัดระวังมากกว่านี้ เอาความผิดพลาดเป็นครู ที่ผ่านมาเราพลาด ประมาท หรือว่าไว้วางใจก็เลยถูกเขาหลอกเอาเงินไป หรือเป็นเพราะไม่ดูแลรักษาร่างกายให้ดี พักผ่อนน้อยไป ก็เลยเจ็บป่วย อันนี้จะเรียกว่าเป็นการเรียนรู้ในทางโลกก็ได้ เรียนรู้ในทางโลกว่า ที่สูญเงิน ที่เจ็บป่วยนี่เพราะอะไร ก็เอาผิดเป็นครู เป็นบทเรียน แต่ที่เรียนรู้ในทางธรรมก็คือว่า มันสอนในเรื่องอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา สอนเรื่องไตรลักษณ์ให้กับเรา ฉะนั้นถ้าใฝ่รู้แบบนี้อะไรเกิดขึ้นกับเราก็ดีทั้งนั้น เรียกว่าได้ ได้เสมอ ไม่ว่าจะเสียไปเท่าไหร่ก็ได้เสมอ ได้บทเรียน ได้ความรู้ ได้ปัญญา อันนี้เพราะว่าใจที่ใฝ่รู้ ถ้าไม่ใฝ่รู้มันก็จะเอาแต่คร่ำครวญ โวยวายตีโพยตีพาย ก่นด่าชะตากรรม แต่ถ้าใฝ่รู้ แทนที่จะคร่ำครวญ มันจะใคร่ครวญ ไม่เหมือนกัน คร่ำครวญนี่มีแต่ทุกข์แต่ใคร่ครวญนี่ได้ปัญญา แล้วคนที่จะขยันใคร่ครวญนี่ได้ก็คือผู้ที่ใฝ่รู้ อะไรเกิดขึ้นก็ได้เรียนรู้อยู่เสมอ
  • 24 ม.ค. 68 - รู้เรื่องตัวเองให้มาก รู้เรื่องคนอื่นให้น้อย : การที่คนเราจะรู้เรื่องตัวเองมาก ๆ มันไม่ใช่แค่ไปดูหน้าตัวเองที่กระจก สิ่งที่พระพุทธเจ้าได้สอนเรื่องสตินี้มันมีความสำคัญมากเลย เพราะมันเป็นเครื่องมือที่จะทำให้เราเห็นตัวเองอย่างชัดเจน เห็นตัวเองแบบละเอียดเลย เห็นเลย อ๋อ เป็นเพราะความยึดติดในหน้าตาจึงเป็นเหตุให้ทุกข์ เป็นเพราะคาดหวังให้เขาชม พอเขาไม่ชมจึงทุกข์ เป็นเพราะคาดหวังให้เขาเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ พอเขาไม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง เราจึงทุกข์

    พยายามที่ผ่านมาก็พยายามจะให้เขาเป็นอย่างที่เราคาดหวัง แต่พอปรับเปลี่ยนที่ใจของเราคือลดความคาดหวังลง ความทุกข์มันหายไปเลย แต่คนเราจะไม่รู้ว่าตัวเองนี่เป็นตัวการก่อทุกข์หรือสร้างทุกข์สร้างปัญหาให้กับตัวเองได้อย่างไร จนกว่าจะมีสติ เพราะบางครั้งเราอาจจะไม่ได้ทำอะไรที่เป็นปัญหา แต่ว่าใจของเรานั่นแหละ ความหลง ความไม่รู้ตัว ความยึดติดถือมั่น ตรงนี้แหละที่มันสร้างปัญหา เราอาจจะไม่ได้นินทาว่าร้ายใคร เราอาจจะไม่ได้ไปรังแกใคร แต่ว่าใจของเรายังวางไว้ไม่ถูก ยังยึดติดถือมั่นเวลาใครว่าอะไรก็ไปจดจ่อใส่ใจ แทนที่จะปล่อยให้มันเข้าหูซ้ายทะลุหูขวาก็ปล่อยให้มันวนเวียนในหัว ยิ่งวนเวียนเท่าไหร่ก็ยิ่งทุกข์ แล้วก็ไปโทษคนอื่น แต่ไม่ได้มองว่าความเป็นเพราะเราวางใจผิดจึงเกิดความทุกข์ขึ้นที่ใจของตัว การเจริญสติมันช่วยทำให้เราเห็นตัวเอง แล้วก็รู้เรื่องตัวเองเยอะ ๆ แล้วก็ไม่ให้ค่า ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องของคนอื่น โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับความทุกข์ในใจเรา แต่ถ้าหากว่าเราไม่มีสติ มันก็จะอดไม่ได้ที่ส่งจิตออกนอก แล้วก็จะไปเห็นความผิดพลาดของคนนั้นคนนี้ รวมทั้งโทษด้วยว่าเขาสร้างปัญหาให้กับเรา ที่ค้าขายไม่ค่อยดีก็เป็นเพราะคู่แข่ง ไม่ใช่เป็นเพราะตัวเรา​ นี่มันไปถึงขนาดนี้ แล้วที่คำพูดของนักธุรกิจคนนี้ รู้เรื่องตัวเองเยอะ ๆ รู้เรื่องคนอื่นน้อย ๆ จริง ๆ แล้วนี่มันมีความหมายในทางธรรมไม่น้อยเลยถ้าหากว่าเรารู้จักมอง
  • 23 ม.ค. 68 - แก่อย่างมีความสุข : ใจจะไหลไปอดีต ลอยไปอนาคต ก็ดึงกลับมา ทำที่บ้าน ทำทุกวัน แล้วใจก็จะเริ่มมีความสดชื่น เพราะความรู้สึกตัวจะช่วยขับไล่ความเบื่อ ความเซ็ง ความเหงา มันจะปกป้องใจไม่ให้ความคิดเกี่ยวกับอดีตและอนาคตมารบกวนบีบคั้นเรา

    อย่าขยันแต่ทำบุญอย่างที่เคยทำ อันนี้ก็ดีอยู่แต่มันไม่พอ ต้องฝึกปฏิบัติธรรมด้วยเพื่อเราจะได้มีเครื่องมือรักษากายและใจ ตอนนี้มันเป็นช่วงเวลาที่เราต้องเปลี่ยนเกียร์แล้วนะ จากเกียร์ 4 เกียร์ 5 มาเปลี่ยนเป็นเกียร์ 1 เกียร์ 2 จากการแสวงหาความสำเร็จ ชื่อเสียง เงินทอง แสวงหาความสุขสิ่งเสพ มาเป็นการดูแลรักษากายและใจให้เป็นสุข แล้วเราก็จะเป็นคนแก่ได้อย่างมีความสุข ใครจะเรียกว่าเราแก่ เราก็ไม่ได้อับอายอะไร ไม่ต้องเรียกว่าสูงวัยก็ได้ แก่อย่างมีคุณภาพ แก่อย่างมีความสุข ถึงเวลาป่วยก็จะป่วยได้โดยไม่ทุกข์ เพราะว่าเรามีธรรมะรักษากายและใจ เวลาป่วยก็ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย ไม่วิตกกังวลอะไร อยู่กับความเจ็บป่วย อยู่กับความแก่ได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ นี่แหละคือสิ่งที่ธรรมะจะช่วยเราได้
  • 22 ม.ค. 68 - ชีวิตที่ถูกตามใจเป็นทุกข์ได้ง่าย : คนทุกวันนี้จิตใจอ่อนแอมาก ไม่สามารถที่จะสู้หรือทัดทานกิเลสได้ เพราะว่าถูกตามใจมาตลอด แล้วสิ่งที่ตามใจก็อย่างที่บอก ไม่ใช่พ่อแม่เท่านั้น แต่รวมถึงเทคโนโลยี โทรศัพท์มือถือ โซเชียลมีเดีย พวกนี้มันปรนเปรอเราตลอดเวลา ถ้าเราไม่รู้ทัน เราก็จะพึ่งพา เสพติดมัน แล้วก็ตกเป็นทาสของมัน เพราะว่าไม่มีความสามารถในการยับยั้งชั่งใจ หรือทักท้วงกิเลสได้ การเจริญสติก็เป็นสิ่งสำคัญ แต่นั่นเป็นเรื่องของปัจจัยภายใน เราต้องช่วยกันสร้างหรือสรรหาปัจจัยภายนอกที่จะเกื้อกูลต่อการภาวนา ต่อการทำให้จิตใจของเราเข้มแข็งขึ้น

    ปัจจัยภายนอกและปัจจัยภายในเป็นสิ่งที่ต้องทำควบคู่กัน มีแต่ปัจจัยภายใน แต่ว่าไม่ให้ความสำคัญกับปัจจัยภายนอก สติหรือว่าปัญญาของเราก็อาจจะไม่เข้มแข็งมากพอที่จะสู้กับกิเลสได้ แต่ถ้าหากว่ามีแต่ปัจจัยภายนอก แต่ไม่สร้างปัจจัยภายใน คือไม่ได้ฝึกจิตฝึกใจไว้ พอเราเปลี่ยนที่ กลับไปอยู่สถานที่เดิม มันก็กลับไปสู่ร่องเดิม ก็คือร่องแห่งความทุกข์ ชีวิตที่ย่ำแย่ ฉะนั้นถ้าเรารักชีวิต รักจิตรักใจของตัวเอง เราต้องรู้จักสร้างปัจจัยภายใน ควบคู่ไปกับการหาปัจจัยภายนอกที่จะช่วยทำให้เราเป็นตัวของตัวเองได้อย่างแท้จริง ไม่ว่าจะมีสิ่งล่อเร้าเย้ายวนอย่างไร ก็ไม่ปล่อยใจให้หลงใหล หรือไม่ปล่อยให้กิเลสมีอำนาจเหนือจิตใจของเรา
  • 21 ม.ค. 68 - ความทุกข์ไม่จริง : หลายคนเวลาพูดถึงอนิจจัง บางทีก็หวั่นไหว เพราะว่าอนิจจังก็หมายความว่าร่างกายก็จะเสื่อมถอยลงไป อันนี้รวมไปถึงทุกขังด้วย มันไม่เที่ยง คนรักของเรา พ่อแม่ของเรา ลูกของเราไม่เที่ยง สักวันหนึ่งพ่อแม่ก็จากเราไป หรือว่าต่อไปเราก็จะจากลูกจากหลาน นี่เพราะอนิจจัง ความหนุ่มความสาวก็จะเลือนหายไป มีความแก่มาแทนที่ นี่ก็อนิจจัง แล้วก็ทุกขัง

    หลายคนพอนึกถึงอันนี้แล้ว จิตใจก็หวั่นไหว ยิ่งนึกถึงความตาย ก็ยิ่งรู้สึกว่าอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มันชวนให้หดหู่ แต่ที่จริงอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นของดีถ้าเข้าใจ ว่าที่เราทุกข์ เพราะว่าไปยึดมันต่างหาก ไปยึดสิ่งที่มันไม่เที่ยง ไปยึดสิ่งที่มันเป็นทุกข์ ไปยึดสิ่งที่มันไม่ใช่เราของเรา แล้วถึงเวลาที่มันแปรเปลี่ยนไป ถึงเวลาที่มันทุกข์ มันเสื่อมสลายไป ถึงเวลาที่ไม่อยู่ในอำนาจของเรา เราจึงเกิดความโกรธ ความโศก ความร่ำไรรำพัน ความคับแค้นใจ เราไม่ได้ทุกข์เพราะอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราทุกข์เพราะไม่รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาต่างหาก คือไม่รู้จักความจริง เพราะถ้าเรารู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา หรือเข้าใจพระไตรลักษณ์นี้อย่างแท้จริง มันไม่ทุกข์ ที่ว่าไม่ทุกข์ไม่ใช่เพราะว่าสิ่งต่าง ๆ ไม่เสื่อม มันมีเสื่อม มีสลาย แต่เพราะไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามันเป็นเราเป็นของเรา ไม่ยึดมั่นถือมั่นว่ามันจะต้องไม่เสื่อม เพราะฉะนั้นพอมันเสื่อมไปก็เลยไม่ทุกข์
  • 20 ม.ค. 68 - สุขมีที่กลางใจ : คร ๆ ย่อมปรารถนาความสุข ทำทุกอย่างเพื่อหาความสุขมาเป็นของตน แต่ส่วนใหญ่แล้วมักคิดว่าสิ่งที่จะให้ความสุขนั้นอยู่นอกตัว และต้องมีให้ได้มาก ๆ ยิ่งหามาได้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีความสุขมากเท่านั้น ดังนั้นจึงพยายามดิ้นรนไขว่คว้าหาเข้าตัวอย่างเต็มที่ โดยหารู้ไม่ว่าแท้จริงแล้วความสุขนั้นอยู่ที่ใจ หากแต่ถูกบดบังด้วยความทะยานอยากและความหลง ต่อเมื่อคลายจากความทะยานอยากและมีสติรู้ตัว ก็จะพบกับความสงบเย็นและโปร่งเบาในใจ ถึงตอนนั้นจึงจะพบว่าความสุขนั้นอยู่กับตัวเรามาตลอด เป็นแต่เรามองไม่เห็น

    ความสุขนั้นหาได้ที่กลางใจ ขอเพียงแต่มีเวลาอยู่กับตัวเองให้มากจนเป็นมิตรกับตัวเอง ไม่มัวแต่ชะเง้อมองไปนอกตัว หรือจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนเองยังไม่มี ถ้าไม่ลืมตัว ปล่อยจิตให้หลงอยู่ในโลกแห่งความคิด หรือจมอยู่กับอดีตและอนาคต ก็จะพบความสุขกลางใจได้ไม่ยาก อันที่จริงเพียงแค่พอใจสิ่งที่มี ยินดีสิ่งที่ได้ ความสุขก็จะปรากฏแก่เราในทันที
  • 19 ม.ค. 68 - เห็นทุกข์ก่อนจึงคลายทุกข์ได้ : ชายคนที่หึงหวง ตอนหลังเขาพบว่า มันไม่ได้เห็นใจเฉพาะตอนที่เกิดความหึงหวงเกิดความโกรธ เวลาใจโปร่งใจโล่งก็เห็น รับรู้ได้โดยที่ไม่รู้ตัวเขาก็พบ เขาก็ได้สร้างความรู้สึกตัวให้เกิดขึ้นในจิตใจ และพบว่าใจไม่ได้ถูกครอบงำด้วยความหึงหวงอย่างเดียว ช่วงเวลาที่มีความโปร่งเบาเป็นอิสระก็มี เพราะความรู้สึกตัว ก็เริ่มเห็นความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

    เพราะฉะนั้นอารมณ์หึงหวง มันก็เลยไม่สามารถจะครอบงำจิตใจเขาได้ ยังมีอยู่แต่ทำอะไรใจเขาไม่ได้ ตอนหลังก็ค่อยๆคลี่คลายไป กลายเป็นว่าเขาสามารถที่จะครองจิตครองใจได้ด้วยความรู้สึกตัว ไม่ต้องถูกปัญหานี้รุมเร้าซึ่งทำให้ความสัมพันธ์กับภรรยามันร้าวฉาน ฉะนั้นการมีสติรู้ทันอารมณ์ต่าง ๆ มีอานุภาพมาก ข้อสำคัญคือ มันต้องมีการปฏิบัติ และจะปฏิบัติได้ก็เพราะเห็นว่ามันจะช่วยแก้ปัญหา จะทำอย่างนี้ได้ก็ต้องเห็นว่าความโกรธ ความทุกข์ ความเครียด พวกนี้เป็นปัญหาก่อน เห็นโทษของมันแล้วคิดจะแก้ ถ้าไม่เห็นโทษของมัน ไม่คิดว่ามันเป็นปัญหา หรือไม่รู้ว่ามันมีด้วยซ้ำ อันนี้ก็เท่ากับตกเป็นทาสของมัน จนกระทั่งกว่าจะรู้ตัวก็อาจจะสายไปแล้วก็ได้
  • 18 ม.ค. 68 - เจออะไรไม่สำคัญว่าทำอย่างไร : แต่ถึงแม้เราเจอสิ่งแย่ ๆ เจออุปสรรค เจอความล้มเหลว เจอคำต่อว่าด่าทอ เจอความยากลำบาก เจอความร้อน เจอความหนาว แต่ว่าเราเกี่ยวข้องกับมันอย่างถูกต้อง ไม่หลง ไม่หลงจมอยู่ในความทุกข์ เอาแต่หงุดหงิด โวยวายตีโพยตีพาย มีสติเห็นมัน หรือว่ายกจิตเป็นอิสระจากมัน ไม่มีความยึดว่าเป็นกู เป็นของกู หนาวก็เห็นความหนาวแต่ว่าไม่มีผู้หนาว ร้อนก็เห็นความร้อนแต่ไม่มีผู้ร้อน

    ใครเขาต่อว่าด่าทอมา เสียงต่อว่าก็เข้าหูซ้ายทะลุหูขวา ไม่มีอัตตาเข้าไปยึดเข้าไปจับ อันนี้ดีกว่าคนที่ได้รับแต่คำชื่นชมสรรเสริญแต่ก็หลงเพลินในสิ่งเหล่านั้น อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนพระนันทิยะว่า ผลแห่งความดีย่อมเป็นพิษจากผู้ไม่พิจารณา แล้วก็หลงใหลยึดติดในสิ่งนั้นจนประมาทมัวเมา ผลแห่งความดีในที่นี้ก็หมายถึงคำชื่นชมสรรเสริญ ใคร ๆ ก็ชอบ การได้รับการยกย่อง มีสถานภาพดีเรียกว่าเป็นผลแห่งความดี แต่ถ้าหากว่าเพลิน หลงใหลในสิ่งนั้น อันนี้ไม่ดีเท่ากับคนที่ถูกต่อว่าด่าทอแต่ว่าจิตใจไม่หวั่นไหว หรือว่าแม้จะอยู่ในภาวะที่ต่ำต้อยแต่ว่าก็ไม่ได้ทุกข์ระทม เพราะรู้ว่ามันไม่ใช่สาระของชีวิต หรือเพราะไม่ได้ยึดติดถือมั่นในหน้าตา ฉะนั้นเวลาเราปฏิบัติธรรม อย่าไปมัวสนใจว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับเรา แต่สนใจว่าเราทำอย่างไรกับมันดีกว่า เพราะนี่แหละเป็นเครื่องหมายของการเป็นนักปฏิบัติถ้าเราปฏิบัติถูก
  • 17 ม.ค. 68 - สุขหรือทุกข์อยู่ที่การให้ค่า : ยิ่งคิดก็ยิ่งรู้ มันยิ่งคิด เราก็ยิ่งรู้ กลายเป็นของดีไปเลย อันนี้รวมถึงเหตุการณ์ในอดีตด้วย ความยากจน ความล้มเหลว เวลานึกถึงมันแล้วก็รู้สึกจิตใจห่อเหี่ยว ท้อแท้ บางทีน้อยเนื้อต่ำใจในโชคชะตา แต่พอเรามองมันอีกครั้งหนึ่งโดยการให้ความหมายใหม่กับมันว่า มันเป็นสิ่งที่ฝึกใจเราให้เข้มแข็ง มันทำให้เราได้เห็นความจริงของชีวิต มันได้ปลุกเอาความสามารถที่แฝงเร้นอยู่ในจิตใจของเราออกมา ถ้าไม่เจอมันก็จะไม่รู้ว่าเรามีความอดทน มีความเข้มแข็ง มีสติปัญญา ต้องขอบคุณ

    หลายคนเคยคับแค้นใจกับประสบการณ์ในอดีต แต่พอเวลาผ่านไปหลายปี มองย้อนกลับมาเหตุการณ์เดียวกัน กลับซาบซึ้ง ขอบคุณ เพราะอะไร เพราะว่าเห็นคุณค่าของมัน หรือพูดอีกอย่างก็คือว่าให้ค่าหรือให้ความหมายใหม่กับมัน ไม่ได้มองว่ามันเป็นเรื่องเลวร้าย แต่มองว่ามันเป็นสิ่งที่ฝึกฝนให้เราแกร่งอย่างที่เป็นอยู่ทุกวันนี้ ถ้าไม่มีเหตุการณ์นั้นหรือถ้าไม่มีวันนั้น เราก็ไม่มีวันนี้ ก็ต้องขอบคุณ แล้วต้องฉลาดในการจัดการ หรือในการรับมือกับสิ่งต่าง ๆ ที่ผ่านเข้ามาในชีวิต โดยตระหนักว่าเมื่อมันเกิดขึ้น เราจะสุขหรือทุกข์ไม่ใช่เพราะมัน แต่เพราะใจของเรานี้ไปให้ค่ากับมัน ถ้าเราให้ค่าในทางลบ เราก็ทุกข์ ถ้าเราให้ค่าในทางบวก เราก็ไม่ทุกข์ แถมจะมีความสุขหรือยินดีด้วยซ้ำ
  • 11 ม.ค. 68 - เข้าใจเรื่องกรรมอย่างไรให้ถูกต้อง : เพราะฉะนั้นความเจ็บ ความป่วย ไม่ใช่เป็นสิ่งเลวร้ายเสมอไป อยู่ที่ว่าเราจะมองหรือเราจะใช้มันอย่างไร ซึ่งตรงนี้เป็นเรื่องของกรรม ถ้าเรามองเป็น มีโยนิโสมนสิการ เราก็เห็นสังขารว่าเป็นทุกข์ ไม่น่ายึดถือ เห็นว่าทุกขเวทนาเป็นโทษของสังขาร ทุกขเวทนานั้นก็ส่งให้จิตหลุดพ้น แต่ถ้าเกี่ยวข้องกับทุกขเวทนาไม่เป็น ทุกขเวทนาก็จะดึงจิตลงมาให้จมอยู่กับอารมณ์ที่เป็นอกุศล โศกเศร้า เกิดโทสะ เกิดความคับแค้น ซึ่งถ้าเป็นอย่างนี้จนถึงจิตสุดท้าย ก็ไปอบายแล้ว

    ทุกขเวทนานี้ถ้าคุณใช้เป็น มันสามารถจะส่งจิตให้หลุดพ้น หลุดพ้นจากวัฏสงสาร หลุดพ้นจากกิเลสได้ แต่ถ้าเกี่ยวข้องไม่เป็น ทุกขเวทนาจะดึงจิตให้จมปลักอยู่กับความทุกข์แสนสาหัส อยู่กับอารมณ์ที่เป็นอกุศล แล้วเกี่ยวข้องกับทุกขเวทนาอย่างไร อยู่ที่การฝึก เป็นเรื่องของกรรม ทุกขเวทนาเกิดจากอะไรเราไม่ไปเสียเวลาถามว่าเป็นเพราะกรรมเก่าหรือเพราะกรรมในปัจจุบัน เราจะสนใจว่าเราจะรับมือกับมันอย่างไร จะมีสติเห็นมัน จะมีปัญญาเห็นจนเข้าถึงสัจธรรม หรืออยู่ในความหลง ปล่อยให้มันครอบงำจิตจนเป็นอกุศลคับแค้น ตรงนี้เราเลือกได้ อยู่ที่การกระทำของเรา การกระทำที่ว่านี้คือกรรมฐาน จะใช้กรรมฐานหรือไม่ แล้วเรื่องกรรมไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำดี ไม่เบียดเบียนใครเท่านั้น แต่เป็นเรื่องของการฝึกจิตจนกระทั่งอยู่เหนือกรรม จนหลุดพ้นเข้าถึงความสงบเย็นได้
  • 9 ม.ค. 68 - ปกป้องใจจากความคิดของตัว : อะไรที่จะทำให้เราเห็นว่า ความคิดไม่ใช่เรา ความคิดไม่ใช่ของเรา ก็สตินั่นแหละ เพราะสติมันช่วยทำให้เห็นความคิด และไม่ยึดความคิดว่าเป็นเรา ว่าเป็นของเรา ถ้าเราเผลอไปยึดว่าความคิดเป็นเรา เป็นของเราเมื่อไหร่ เราก็จะยึด แล้วก็เชื่อ แล้วก็ปล่อยให้มันครองจิตครองใจ เป็นจุดอ่อนของจิต ความคิดนี้มันจะเข้ามาทำร้ายเราได้ หรือว่าความคิดที่แย่ๆ หรืออารมณ์ที่แย่ๆ หรืออารมณ์อกุศล

    ถ้าไปหลงคิดว่าเป็นเรา เป็นของเรา มันก็เลยจู่โจม ทะลุทะลวง ทำร้ายจิตใจเรา แต่ถ้าเห็นนะว่ามันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา มันเป็นสักแต่ว่านาม แต่ไม่ใช่เรา ก็ไม่ปล่อยให้มันเข้ามาทะลุทะลวงทำร้ายจิตใจได้ เพราะฉะนั้นทุกวันนี้คนเราจำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีสติในการรักษาใจให้ปลอดภัยจากความคิดและอารมณ์ต่างๆ ที่มันเกิดขึ้นในหัว มันเกิดขึ้นก็ต้องพิจารณาว่าดีไหม ไม่ใช่หลงเชื่อมันทุกอย่าง หรือแม้แต่ดีก็ไม่ไปหมกมุ่นจมดิ่ง หรือว่าไปเคลิ้มคล้อยมัน จนกระทั่งหมดเนื้อหมดตัว