Episodes

  • “เราอยากทำสื่ออวกาศให้เป็นดั่งรอยเท้าของจักรวาล”

    อวกาศเต็มไปด้วยเรื่องราวที่น่าสนใจและคำถามที่ไม่มีวันสิ้นสุด ยิ่งนับวันมนุษย์ต่างต้องการมุ่งทะยานต้านแรงโน้มถ่วงเพื่อหาคำตอบในดินแดนดำมืดแห่งนี้ ความมหัศจรรย์ดังกล่าวจึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะทำให้ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน หลงใหลและปรารถนาสร้างสื่ออย่าง Spaceth.co จนกลายเป็นสื่อที่ประสบความสำเร็จอย่างมากในด้านวิทยาศาสตร์และอวกาศของประเทศไทย

    ท่ามกลางดาวเคราะห์และดวงดาว PRESSCAST EP.45 ชวนทุกท่านจับจองที่นั่งและร่วมเดินทางสำรวจอวกาศไปกับ ณัฐนนท์ ดวงสูงเนิน เพื่อสำรวจแนวคิดและวิธีการทำสื่อแบบ Spaceth.co ตลอดจนความท้าทายของสังคมไทยที่ฝันว่าสักวันหนึ่งจะก้าวขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์

    ดำเนินรายการโดย ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

  • ท่ามกลางโลกที่เปลี่ยนแปลงในทุกวัน จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่การทำ ‘ข่าวต่างประเทศ’ ย่อมต้องพบกับความท้าทายในทุกวันเช่นกัน
    .
    สังคมไทยเห็นสื่อมวลชนคนหนึ่งอยู่บนหน้าจอโทรทัศน์มาเป็นระยะเวลากว่า 15 ปี อย่าง ‘ณัฏฐา โกมลวาทิน’ ผู้ที่คร่ำหวอดในฐานะผู้ประกาศข่าวของ Thai PBS ที่พาผู้ชมติดตามข่าวสารรอบโลกรายวัน เธอเคยเล่าว่าการทำงานในสื่อสาธารณะอย่าง Thai PBS นั้นเป็นเหมือน “ช่วงเวลาแห่งการเรียนรู้ เพิ่มพูนประสบการณ์ เติบโต ปรับตัว ปรับใจ และที่สำคัญที่สุดคือปรับความคิดตัวเอง” จนกระทั่งปี 2567 เธอตัดสินใจเดินออกมาจากสื่อโทรทัศน์ และก้าวสู่ตำแหน่งบริหารของสื่อออนไลน์อย่าง THE STANDARD ในฐานะผู้อำนวยการฝ่ายข่าว
    .
    นับเป็นโอกาสอันดีที่จะชวนเธอมานั่งพูดคุยถึงประสบการณ์การทำงานสื่อที่ผ่านมา ตั้งแต่ The Nation มาจนถึง THE STANDARD อีกทั้งครั้งหนึ่งเธอยังเคยร่วมงานกับสื่อระดับโลกอย่าง BBC อะไรคือบทเรียนชีวิตและการทำงานที่เธอได้รับ และเธอมองความสนใจของสังคมต่อ ‘ข่าวต่างประเทศ’ อย่างไร ติดตามฟังเรื่องราวได้ที่ PRESSCAST
    .
    ดำเนินรายการโดย ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

  • Missing episodes?

    Click here to refresh the feed.

  • ‘ข่าวอาชญากรรม’ มักเป็นข่าวที่ได้รับความนิยมในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทุกสื่อต่างนำเสนอข่าวอาชญากรรมแทบจะทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นข่าวทะเลาะวิวาท ปล้น ชิง ฆ่า ลักทรัพย์ แต่ที่ผ่านมาผู้ชมและคนทำงานด้านสื่อมวลชนก็เริ่มตั้งคำถามถึง ‘การละเมิดสิทธิในการนำเสนอข่าวอาชญากรรม’ มากขึ้น ส่งผลให้การทำงานสื่อก็ย่อมเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา
    .
    อลงกรณ์ เหมือนดาว บรรณาธิการรายการข่าวสามมิติ และอดีตบรรณาธิการข่าวอาชญากรรม สถานีโทรทัศน์ไอทีวี เป็นหนึ่งในสื่อมวลชนที่คร่ำหวอดอยู่ในเวทีข่าวอาชญากรรมตลอดระยะเวลาหลายทศวรรษที่ผ่านมา ตลอดจนเป็นหนึ่งในผู้วางรากฐานข่าวอาชญากรรมตามแบบฉบับ ‘ไอทีวี’ ที่กลายเป็นอีกหนึ่งจุดแข็งของช่องและสร้างผลกระทบในสังคมอย่างมากในช่วงเวลานั้นได้ ผ่านผลงานข่าวอาชญากรรมและข่าวสืบสวน โดยหนึ่งในผลงานสร้างชื่อให้กับเขาและช่องไอทีวีคือ ‘ข่าวส่วยสติ๊กเกอร์’
    .
    PRESSCAST EP.43 ชวนคุยกับอลงกรณ์ เหมือนดาว ถึงประสบการณ์การทำงานตั้งแต่ข่าวอาชญากรรมสู่การทำงานข่าวสืบสวนตามแบบฉบับของไอทีวี ตลอดจนบทบาทปัจจุบันอย่างการทำงานข่าวในฐานะบรรณาธิการรายการข่าวสามมิติ เพื่อร่วมหาคำตอบว่าข่าวอาชญากรรมและข่าวสืบสวนในยุคดิจิทัลควรมีหน้าตาเช่นไร สื่อไทยต้องปรับตัวอย่างไร และอะไรคือวิธีคิดในการทำงานสื่อแบบอลงกรณ์ ร่วมหาคำตอบได้ในอีพีนี้
    .
    ดำเนินรายการโดย ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา
    .
    .
    00:00 แนะนำรายการ
    00:17 เปิดรายการ
    01:56 การทำงานสื่อของอลงกรณ์ เหมือนดาว
    05:39 ข่าวอาชญากรรมฉบับ ITV
    22:15 ข่าวอาชญากรรมและเรตติ้ง
    25:24 กรอบการทำข่าวอาชญากรรมในสายตาของอลงกรณ์
    35:23 การเกิดขึ้นของข่าวสืบสวนในช่อง ITV
    40:55 วิธีคิดและมุมมองการทำข่าวสืบสวน
    45:40 ความแตกต่างระหว่างข่าวอาชญากรรมและข่าวสืบสวน
    49:25 ‘ส่วยสติ๊กเกอร์’
    55:15 ความหลงใหลและชีวิตที่เปลี่ยนไป
    1:05:14 การทำงานบรรณาธิการรายการข่าวสามมิติ
    1:10:25 ข่าวอาชญากรรมและสืบสวนในยุคดิจิทัล
    1:15:14 นักข่าวสืบสวน=ตำรวจ?
    1:22:48 บทเรียนที่ผ่านมาและก้าวต่อไป
    .
    .
    รับชมรายการ 'Presscast' ตอนอื่นได้ที่ https://www.the101.world/category/media/podcast/presscast/

  • ท่ามกลางภูมิทัศน์สื่อที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา พฤติกรรมของผู้ชมก็เปลี่ยนไปไม่ต่างกัน วิดีโอกลายเป็นอีกหนึ่งในรูปแบบสื่อที่ได้รับความนิยมมากขึ้น ไม่ว่ารูปแบบของสื่อจะเปลี่ยนไปแค่ไหน แต่หน้าที่ของสื่อที่ต้องร่วมตอบคำถามของสังคมก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงจากเดิม เพราะมนุษย์ต่างมีเรื่องสงสัยมากมายและหลากหลายอย่างมาก ตั้งแต่ ‘A-Z ในภาษาอังกฤษมาจากไหน?’ ไปจนถึง ‘เรื่องราวเกี่ยวกับมาตรา 112’

    เพจ ‘พูด’ มักเลือกตอบคำถามเหล่านั้นมาตอบด้วยท่าทีสนุกสนาน ทำให้งานหลายๆ ชิ้นของเพจ ‘พูด’ ได้รับความสนใจอย่างมาก จนทำให้เขาเรียกเนื้อหาในเพจ ‘พูด’ ว่าเป็น ‘omakase content’

    PRESSCAST EP.42 ชวนคุยกับแชมป์–ฉัตรชัย พุ่มพวง หนึ่งในผู้ก่อตั้งเพจ ‘พูด’ ถึงวิธีการคิดและวิธีการทำงานสื่อในแบบ ‘พูด’ เรื่องอะไรที่เพจ ‘พูด’ จะพูด และเรื่องอะไรที่เพจ ‘พูด’ จะไม่พูด ตลอดจนการออกแบบโครงสร้างองค์กรที่ ‘ทุกคนเป็นเจ้าของร่วมกัน’ และมี ‘ประชาธิปไตยในที่ทำงาน’ จะอยู่รอดหรือไม่ในภูมิทัศน์สื่อไทยในปัจจุบัน ร่วมหาคำตอบได้ในอีพีนี้

    ดำเนินรายการโดย ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

  • ในยุคที่มีทั้งสื่อโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ส่งผลให้สื่อมีบทบาท วิธีคิด และวิธีการทำงานแตกต่างกัน กาย-พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ ปัจจุบันเขาเป็นผู้ประกาศข่าวที่ Thairath TV ตลอดระยะเวลาเกือบสิบปีที่ผ่านมาเขาเคยทำงานหน้าจอทั้งสื่อโทรทัศน์ และสื่อออนไลน์อย่าง Voice TV

    นอกจากบทบาทการเป็นผู้ประกาศข่าว กาย-พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ ยังเคยก้าวเท้าเข้าสู่วงการการเมืองไทยในฐานะโฆษกของพรรคไทยรักษาชาติ โดยบอกกับตัวเองว่า “จะไม่หันหลังกลับมาอีก” แต่ด้วยเหตุการณ์ไม่คาดฝันทำให้เขาต้องมาทำงานสื่ออีกครั้งในยุคสมัยที่การเมืองไทยถูกมองว่าไร้เพดาน

    รายการ Presscast EP.41 จึงชวนกาย-พงศ์เกษม สัตยาประเสริฐ ที่เคยผ่านมาทั้งงานสื่อและงานการเมืองมาคุย ถึงเบื้องหลังแต่ละย่างก้าวในชีวิตการทำงานสื่อของเขา เกี่ยวกับวิธีคิดและวิธีการทำงานในวันที่สื่อถูกคาดหวังให้เป็นกลาง และชีวิตทางการเมืองของเขาที่ทำให้กายเข้าใจความผิดปกติ (ใหม่) ของเมืองไทยมากขึ้น

    ดำเนินรายการโดย ศุภวิชญ์ ศิริสวัสดิ์วัฒนา

  • อินเดียในสายตาคนไทยเป็นแบบไหน?

    คลิปร้านสตรีทฟู้ดที่ใช้มือตักตวงอาหาร, สำรับเมนูบนโต๊ะที่ประกอบด้วยเครื่องเทศหลากชนิด, ซีรีส์ที่มีตัวละครแสดงอารมณ์เด่นชัด และเนื้อเรื่องสุดแสนมหัศจรรย์ ฯลฯ

    หรือบางคนอาจจะเห็นความหลากหลาย ท้าทาย ดินแดนที่มีอะไรให้ค้นหาไม่มีสิ้นสุด และเป็นจุดหมายของการผจญภัยเพื่อทำความรู้จักอินเดียมากกว่าที่เห็นในสื่อ

    สำหรับแพท–พัทริกา ลิปตพัลลภมองเห็นอินเดียเป็นคอมฟอร์ตโซน ไม่ว่าจะสุขหรือเศร้า ถ้าใจต้องการเครื่องเยียวยา อินเดียจะเป็นคำตอบนั้น การเดินทางไป-กลับแดนภารตะกว่า 30 ครั้งตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา ทำให้เธอคลุกคลีเป็นเนื้อเดียวกันกับอินเดีย และเธอนำสิ่งที่ได้สัมผัสถ่ายทอดออกมาเป็นหนังสือ ‘ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก’

    ในขณะเดียวกัน แพทยังแชร์ประสบการณ์และเรื่องเล่าวัฒนธรรมอินเดียจากสิ่งละอันพันละน้อยลงเพจเฟซบุ๊กในชื่อเดียวกันกับหนังสือ และเมื่อโลกของโซเชียลมีเดียขยายไปข้างหน้า เธอก็หยิบเอาวัฒนธรรมอาหารอินเดียมาเล่าใน TikTok จนคนส่วนหนึ่งได้รู้จักอาหารอินเดียที่มากกว่าสตรีทฟู้ดและเมนูเครื่องเทศแบบเดิมๆ

    ในฐานะคนทำสื่อเล่าเรื่องอินเดีย เธอมองเห็นพื้นที่สื่อไทยที่เล่าเรื่องอินเดียอย่างไรบ้าง คนไทยที่ติดตามเพจชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขกมีภาพจำต่ออินเดียอย่างไร แล้วคนอินเดียชอบเสพสื่อแบบไหนบ้าง ติดตามฟังเรื่องราวทั้งหมดได้ใน PRESSCAST EP.40

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่
    #อินเดีย #พัทริกา #ชาติที่แล้วคงเกิดเป็นแขก

  • ในฐานะนักข่าวที่ติดตามประเด็นสังคม สนใจนโยบายสาธารณะ และชอบสำรวจน่านน้ำของข้อมูล ‘อินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์กุล’ มองเห็นว่าหลายประเด็นปัญหาในสังคมยังคงวนกลับมาถกเถียงกันไม่จบสิ้น แต่นั่นคือพลวัตของสังคมที่สื่อก็ต้องทำหน้าที่นำเสนอและผลักดันให้เกิดการโต้เถียงและความเปลี่ยนแปลงต่อไป

    PRESSCAST Ep.39 ชวนฟังประสบการณ์ทำงานจากอินทร์แก้ว โอภานุเคราะห์ ในฐานะผู้สื่อข่าวออนไลน์ตลอดเกือบครึ่งทศวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในบริบทการทำงานในยุคที่สังคมเจอความท้าทายด้วยประเด็นแหลมคม และความผันผวนแปรปรวนของเทคโนโลยีที่สื่อต้องเอาชนะเขตแดนของอัลกอริทึมเพื่อส่งสารไปสู่ผู้รับชมให้ได้

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • “การทำข่าวเลือกตั้งทำให้เห็นการเมืองไทยแบบที่อ่านหนังสือร้อยเล่มก็ไม่มีทางเห็น”

    สนามข่าวเลือกตั้งปี ’66 คึกคักไปด้วยเวทีดีเบต บทสัมภาษณ์แคนดิเดต และการถกเถียงนโยบายจากพรรคต่างๆ การแข่งขันในสนามเลือกตั้งสูง การแข่งขันในหน้าสื่อก็ไม่ต่างกัน ทั้งเร็ว แรง เข้มข้น และแนวทางหลากหลายจนคนดูแทบตามไม่ทัน

    แต่หากย้อนกลับไปดูการทำข่าวเลือกตั้งในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา ด้วยพัฒนาการของภูมิทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไป ทำให้วิธีการทำงานข่าวของสื่อเปลี่ยนไปเช่นกัน จากยุคที่นักข่าวนำเสนอได้เพียงเหตุการณ์รายวัน วิ่งตามปราศรัยในพื้นที่ต่างๆ ของพรรคการเมืองเพื่อรายงานวาทะเด็ดคำต่อคำในบรรยากาศที่เต็มไปด้วยวาทกรรมสาดโคลน จนเข้าสู่ยุคของการเมืองเรื่องนโยบาย และฉากทัศน์การเมืองแบบใหม่ที่เรียกร้องให้แต่ละพรรคต้อง ‘โชว์’ วิสัยทัศน์ผ่าน ‘ดีเบต’

    ก่อนเข้าสู่คูหาเลือกตั้งในวันที่ 14 พฤษภาคมนี้ ชวนไปฟังเรื่องเล่าการเมืองไทยในมุมมองนักข่าว และสำรวจสมรภูมิการทำข่าวเลือกตั้งไปพร้อมกับเสถียร วิริยะพรรณพงศา ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายข่าว PPTV ใน PRESSCAST Ep.38

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • “ถ้าเราพูดถึงสิทธิสตรี บางคนอาจจะบอกว่าได้ยินเรื่องนี้มาจนเบื่อแล้ว เมื่อไหร่จะขยับไปพูดเรื่องอื่น แต่คุณอย่าลืมว่ายังมีคนในพื้นที่อื่นๆ ที่ยังไม่เข้าใจว่าสิทธิสตรีคืออะไร ตัวเขาเองยังเผชิญอยู่กับการกดทับบางอย่าง ไม่ว่าจะโดยรู้ตัวหรือไม่รู้ตัว หรือบางคนที่มีเพศสภาพเป็นหญิงแต่ยังเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนวิธีคิดแบบปิตาธิปไตยอยู่ เราคิดว่าช่วงเวลานี้ยังจำเป็นที่ต้องขับเคลื่อนโดยอิงเรื่องเจนเดอร์”

    ในวาระเดือนมีนาคมมีวันสตรีสากลที่ทั่วโลกร่วมตระหนักถึงการต่อสู้เรื่องสิทธิและความเท่าเทียมของผู้หญิง PRESSCAST EP.37 คุยกับป่าน–ฉัตรรวี เสนธนิสศักดิ์ ผู้ดูแลคอนเทนต์ Mirror Thailand สื่อที่เชื่อในความเป็นหญิงหลากหลายแบบ และพร้อมสนับสนุนตัวตนของผู้หญิงทุกคน

    ในโลกที่การต่อสู้เรื่องสิทธิความเท่าเทียมทางเพศเดินทางมาถึงศตวรรษที่ 21 ความท้าทายแบบไหนที่คนทำงานสื่อเรื่องผู้หญิงต้องเจอ ในประเด็นถกเถียงในสังคม ไม่ว่าจะเฟมทวิต ชายแท้ หรือภาวะ ‘ทัวร์ลง’ สิ่งเหล่านี้เข้ามามีบทบาทต่อการสื่อสารประเด็นเจนเดอร์อย่างไร ตามไปฟังการทำงานของ Mirror Thailand ได้ในอีพีนี้

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • ในวันที่โลกผันผวน สังคมซับซ้อน สื่อออนไลน์เจอความท้าทายการทำงานไม่ต่างกับความเปลี่ยนแปลงของสังคม Presscast Ep.36 ชวน ธัญ–ธัญวัฒน์ อิพภูดม บรรณาธิการบริหาร The MATTER คุยเรื่องการทำงานสื่อออนไลน์บนความผันผวนของอัลกอริทึม การทำข้อมูลข่าวสารให้ตอบโจทย์กับสังคมและวัฒนธรรมที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา และการทำงานของสื่อบนแนวคิด Work Life Balance เพื่อรักษาสุขภาพกายใจคนทำงานสื่อ

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

    #The101World #TheMATTER #สื่อไทย

  • ต้อนรับบอลโลกปี 2022 รายการ Presscast อีพีนี้ชวนทุกคนเกาะติดสนามการทำข่าวกีฬาไปกับ แจ็คกี้-อดิสรณ์ พึ่งยา คอลัมนิสต์ นักข่าวกีฬา และผู้บรรยายฟุตบอลที่คนไทยคุ้นชื่อมากว่า 30 ปี

    ตั้งแต่ปี 2535 อดิสรณ์ค่อยๆ เป็นที่รู้จักในหมู่แฟนบอลในฐานะนักข่าวกีฬาประจำ ‘สยามสปอร์ต’ สื่อกีฬาในตำนานของแฟนๆ กีฬาเมืองไทย โดยอดิสรณ์ใช้นามปากกา ‘แจ็คกี้’ จนเป็นที่คุ้นหูในวงการ หลังจากนั้นเขาได้เดินทางไปทำข่าวกีฬาที่สหราชอาณาจักร ใกล้ชิดกับต้นตำรับลีกฟุตบอล สะสมประสบการณ์ในฐานะนักข่าวต่างประเทศก่อนจะกลับมาเป็นผู้บรรยายฟุตบอลพร้อมกับการรายงานข่าวกีฬา ทั้งในสื่อทีวีและหนังสือพิมพ์

    ลงสนามติดตามการทำข่าวกับแจ็คกี้ได้พร้อมกันใน Presscast EP. 35

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • “เราอยู่ในสังคมนี้ ทุกอย่างที่เราทำมันส่งผลต่ออีกคนเสมอ [...] เราอยากให้ทุกคนรู้ว่า เราเป็นส่วนหนึ่งกับสังคม สิ่งที่เราทำหรือสิ่งที่เลือกไม่ทำส่งผลกระทบต่อสังคมเสมอ เราอยากให้ Brandthink เล่าเรื่องนี้”

    หลังจากออกจากการทำงานประจำในวัยเลขสี่ ต๊ะ-จักรพันธุ์ ขวัญมงคลเปลี่ยนไปรับบทฟรีแลนซ์นักเขียนและเปิดบริษัทส่วนตัว เขาบอกกับคนรอบตัวว่าจะไม่รับงานประจำอีกแล้ว แต่ 4 เดือนที่แล้วเขาเพิ่งเข้าทำงานใหม่ในตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร Brandthink

    ทุกอย่างเกิดด้วยความไม่ได้ตั้งใจและตั้งใจไปพร้อมๆ กัน เรื่องที่ไม่ได้ตั้งใจคือ วันที่จักรพันธุ์ได้รับโทรศัพท์ให้เข้าไปคุยงานนั้น “ผมอยู่ในชุดบอลกางเกงบอล ไม่น่าจะไปสมัครงานอะไรได้” เขาว่า แต่สุดท้ายชุดกีฬาก็กลายเป็นชุดสมัครงานของจักรพันธุ์ครั้งนี้ ส่วนเรื่องที่ตั้งใจคือ เขาติดตาม Brandthink อยู่แล้ว และสนใจการนำเสนอคอนเทนต์ของสื่อนี้ ประกอบกับเงื่อนไขที่ว่าถ้าจะได้ทำงานประจำอีก เขาอยากทำงานใกล้บ้าน ทุกอย่างประจวบเหมาะเข้ากัน Brandthink จึงได้จักรพันธุ์เข้ามาทำหน้าที่ดูแลภาพรวมเนื้อหาและทิศทางในปัจจุบัน

    ความเชื่อของ Brandthink เป็นอย่างไร ทิศทางแบบไหนที่พวกเขาอย่างขับเคลื่อนภายใต้แนวคิดที่ว่า ‘create a better tomorrow’ ตามไปฟังได้ในรายการ Presscast EP.34

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • โลกที่เคลื่อนไปด้วยข้อมูลข่าวสารไหลผ่านหน้าฟีดอย่างรวดเร็ว คนทำงานสื่อต้องวิ่งไล่ตามให้ทันทุกประเด็นและกระแส แต่หลายครั้งก็ทำได้เพียงการรายงานเพียงแค่ว่าเกิดอะไรขึ้น ไม่มีเวลามากพอที่จะเจาะปัญหาด้วยข้อมูลเชิงลึก

    Rocket Media Lab จึงตั้งใจทำหน้าที่เป็นแหล่งข้อมูลติดตามประเด็นสังคม ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ โดยเลือกประเด็นวิจัยที่มี ‘คุณค่าข่าว (newsworthy)’ นำเสนอทั้งฐานข้อมูลและบทวิเคราะห์ ซึ่งไม่ได้มีเพียงประเด็นสังคมการเมืองเท่านั้น แต่ประกอบด้วยประเด็นวัฒนธรรมที่สังคมกำลังถกเถียงกันอยู่ด้วย เพื่อให้สื่อและองค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้เป็นฐานข้อมูลได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

    การทำงานของ Rocket Media Lab เป็นอย่างไร การทำงาน Data Journalism ในไทยมีความยากง่ายแค่ไหน และเราจะมองเห็นสังคมไทยผ่านโลกแห่งข้อมูลข่าวสารเหล่านี้ได้อย่างไร ตามไปคุยกับ ตั้ม-สันติชัย อาภรณ์ศรี บรรณาธิการแห่ง Rocket Media Lab ได้ใน Presscast EP.33

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • “คำว่าศิลปะไม่ใช่สิ่งจำเป็น [สำหรับทุกคน] ต้องดูด้วยว่าใครเป็นคนพูด ชาวบ้านหรือคนที่ออกไปทำงานก่อสร้างเขาไม่ต้องการศิลปะจริงๆ เหรอ เขาไม่ฟังเพลงเหรอ ยิ่งพื้นที่ไกลออกไปเรากลับคิดว่าศิลปะสำคัญ”

    “รัฐบาลไหนที่เห็นประชาชนเป็นมนุษย์จริงๆ เขาต้องคิดถึงศิลปะด้วย เราไม่ได้จะเข้าข้างเขา แต่ [การที่มี] ดนตรีในสวนหรือว่าหนังกลางแปลง ใครก็เข้ามาดูได้ มันเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี สุดท้ายถ้า [มีคนบอกว่า] จะต้องเลือกระหว่างศิลปะมาก่อนหรือหลังเรื่องอื่น สำหรับเรามันทำพร้อมกันได้ ไม่งั้นจะมีกระทรวงวัฒนธรรมไปทำไม”

    ใครๆ ก็บอกว่าศิลปะเป็นเรื่องใกล้ตัว ศิลปะมีอยู่ทุกที่ และศิลปะก็พิสูจน์แล้วว่าสร้างรายได้ต่อประเทศได้ เมื่อรัฐจัดเป็นสินค้าส่งออกที่เรียกว่า ‘ซอฟพาวเวอร์’ ศิลปะจึงเป็นแขนงหนึ่งที่มีความสำคัญไม่แพ้ศาสตร์อื่นๆ GroundControl เป็นหนึ่งในสื่อที่พยายามสื่อสารความสำคัญของศิลปะ ผ่านการนำเสนอเนื้อหาให้เชื่อมต่อเรื่องราวกับผู้คน โดยหวังว่าวันหนึ่งศิลปะจะเป็นส่วนสำคัญในชีวิตและนำให้ผู้เสพสร้างสรรค์สิ่งต่างๆ ได้

    Presscast EP.32 เราจึงชวน คริสซี่-ศิขรินทร์ ลางคุลเสน ผู้ร่วมก่อตั้ง GroundControl และ กานต์-กฤษฏิญา ไชยศรี บรรณาธิการและคอนเทนต์ครีเอเตอร์ประจำ Ground Control มาร่วมพูดคุยถึงการทำงาน ตั้งแต่จุดเริ่มต้น แนวคิด การนำเสนอเรื่องราวศิลปะอย่างมีศิลปะ ไปจนถึงมุมมองสังคงไทยต่อศิลปะที่ยังคงรอการสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและหลากหลายทั้งจากรัฐและคนในสังคม

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • Lanner เกิดจากการรวมตัวของคนรุ่นใหม่ที่มองเห็นฉากทัศน์การเมืองที่เปลี่ยนไปในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะการลุกขึ้นมาส่งเสียงถึงอนาคตของคนรุ่นใหม่ ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ เท่านั้น แต่ในภูมิภาคอื่นๆ ก็มีการเคลื่อนไหวอย่างเข้มข้น โดยเฉพาะในภาคเหนือที่มีทั้งคนรุ่นใหม่ นักวิชาการ ประชาชนร่วมออกมาพูดคุยถึงบ้านเมืองที่ฝันหลายครั้ง แต่ยังมีบางประเด็นของท้องถิ่นที่ยังส่งต่อความคิด ส่งเสียงความฝันดังไม่ถึงส่วนกลาง สุดท้ายปัญหาที่พูดถึงกันมานานหลายปีก็ไม่ได้รับการติดตามประเด็นอย่างต่อเนื่อง ได้แต่ฉายภาพปัญหาวนซ้ำๆ ในหน้าสื่อกระแสหลัก

    Lanner จึงตั้งใจทำหน้าที่สื่อในการติดตามความเคลื่อนไหวและนำเสนอประเด็นต่างๆ ในภาคเหนือ โดยมีเป้าหมายสำคัญคือการยืนเคียงข้างและเสริมพลังประชาชน วาดหวังเสรีภาพให้เกิดขึ้นในสังคม โดยทีมกองบรรณาธิการวางบทบาทอย่างตรงไปตรงว่าจะเป็น ‘แอคทิวิสต์ที่ต้องการทำงานสื่อสาร’ ในภาวะที่สื่อไม่สามารถทำตัว ‘เป็นกลาง’ ภายใต้สังคมที่มีเสรีภาพอย่างจำกัดและเต็มไปด้วยความอยุติธรรมได้

    ตามไปฟัง นุ๊ก–วัชรพล นาคเกษม บรรณาธิการ Lanner ถึงจุดเริ่มต้น แนวคิดการทำงาน และภาพฝันที่สื่อท้องถิ่นอยากเห็นในภูมิทัศน์สื่อและสังคมไทยได้ใน PRESSCAST EP.31

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • ท่ามกลางสนามการทำงานสื่อไทยที่ส่วนใหญ่ยังคงนำเสนอเรื่องผู้พิการด้วยภาพจำเดียว คือ คนพิการเป็นคนน่าสงสาร ถ้าสนับสนุนคนพิการจะได้รับบุญกุศลตามหลักศาสนาที่ตัวเองยึดถือ สื่อออนไลน์อย่าง ThisAble.Me เลือกที่จะนิยามว่าตัวเองเป็น ‘เพจสื่อสารประเด็นคนพิการที่เฟี้ยว?’

    เหตุผลที่พวกเขา ‘เฟี้ยว’ ไม่ใช่เพราะละเลยประเด็นคุณภาพชีวิตคนพิการ แต่ ThisAble.Me อยากชี้ให้ทุกคนเห็นว่าปัญหาเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความพิการ แต่โครงสร้างสังคมต่างหากที่ไม่เอื้ออำนวยให้ผู้พิการมีชีวิตเท่าเทียมกับคนอื่น ซึ่งเป็นปัญหาให้เกิด ‘ความเป็นอื่น’ ระหว่างคนพิการกับคนในสังคม และนับวันก็ยิ่งทำให้ปฏิสัมพันธ์ของพวกเราถ่างออกไปเรื่อยๆ จนความพิการกลายเป็นเรื่องแปลก

    ThisAble.Me จึงอยากเปลี่ยนภาพจำและนำเสนอเรื่องราวผู้พิการด้วยความเป็นมนุษย์ ผสมผสานการเล่าด้วยน้ำเสียงจากคนรุ่นใหม่ และทุกคนเข้าถึงได้ ไม่ใช่แค่คนพิการเพียงอย่างเดียว

    การทำงานเหล่านี้เกิดขึ้นได้อย่างไร อะไรคือความท้าทายในการทำสื่อผู้พิการ รวมไปถึงสื่อจะทำงานอย่างไรให้สื่อสารประเด็นคนพิการครอบคลุม หลากหลายมิติ และเห็นความเป็นมนุษย์มากกว่าลดทอนคุณค่าของผู้พิการ ฟังเรื่องราวทั้งหมดจาก ‘นลัทพร ไกรฤกษ์’ บรรณาธิการ ThisAble.Me ได้ใน Presscast EP.30

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • ใครหลายคนคุ้นชื่อ ‘จิรเดช โอภาสพันธ์วงศ์’ ในฐานะนักเขียนและนักสัมภาษณ์ในนามปากกา ‘jirabell’ เจ้าของหนังสือ 6 เล่ม อย่าง เราไม่ได้อยู่คนเดียวอยู่คนเดียว, ความทรงจำอยู่ที่ไหน ความคิดถึงอยู่ที่นั่น, Lonely Land ดินแดนเดียวดาย, The Fairy Tale of Underfox, รักเขาเท่าทะเล และ Between Hello and Goodbye ครู่สนทนา

    .

    2-3 ปีที่แล้ว เขาเปลี่ยนบทบาทจากงานถนัดมือมาสู่ตำแหน่งบรรณาธิการบริหาร a day ซึ่งเจ้าตัวยอมรับว่าเป็นงานที่ทำให้ได้ออกจากคอมฟอร์ตโซน เปลี่ยนตัวตนข้างใน และมองเห็นมุมคิดเกี่ยวกับการทำงานสื่อที่แตกต่างออกไป ทั้งเนื้อหางาน การดูแลรายได้ และการบริหารความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

    .

    ไม่นานนี้จิรเดชเปลี่ยนบทบาทจากบรรณาธิการบริหาร a day มาสู่บรรณาธิการบริหารสื่อน้องใหม่อย่าง Capital ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อต้นปี โดยเขาและทีมตั้งใจเล่าเรื่องธุรกิจให้เป็น ‘เรื่องของทุกคน’ โดยเฉพาะคนที่สนใจการทำธุรกิจ เพราะทีม Capital เชื่อว่าไม่เพียงแค่ ‘เงิน’ เท่านั้นที่เป็นทุนของการค้า แต่ยังมีต้นทุนอีกหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความชอบ ประสบการณ์ ความสัมพันธ์ หรือความรู้ Capital จึงอยากช่วยเป็นต้นทุนอีกทางให้กับผู้อ่าน

    .

    คำถามสำคัญคือ ในช่วงที่ข้าวยากหมากแพง การทำธุรกิจถูกท้าทายจากเทคโนโลยี และยุคสมัยพัดพาความเปลี่ยนแปลงมาสู่วิถีชีวิตผู้คน การทำสื่อที่ว่าด้วยธุรกิจจะต้องสื่อสารต่อผู้อ่านอย่างไร มุมมองธุรกิจแบบไหนที่ Capital มองเห็นและอยากสื่อสารให้ถึงคนอ่าน และธุรกิจจะเป็นเรื่องของทุกคนได้อย่างไรในสังคมที่คนมีต้นทุนที่แตกต่างกัน

    .

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • ในยุคที่สำนักข่าวต้องปรับตัวไปตามแพลตฟอร์มดิจิทัลกันมาหลายปี เกิดรูปแบบการเสพข่าวและคอนเทนต์ใหม่หลายอย่าง ‘นักข่าว’ ผู้ทำหน้าที่รายงานและเป็น ‘Gatekeeper’ หรือผู้รักษาประตูข่าวก็ต้องปรับตัวไปตามยุคสมัย เราจึงได้เห็นการรายงานข่าวบนแอคเคาต์โซเชียลมีเดียส่วนตัวของนักข่าว ทั้งรุ่นใหม่และรุ่นเก๋า จนบางคนก็กลายมาเป็น ‘อินฟลูเอนเซอร์’ แห่งวงการสื่อที่มีคนกดติดตามเพื่อรับข่าวสารมากมาย

    เอก–ธนกร วงษ์ปัญญา หรือ เอก THE STANDARD เป็นหนึ่งในนักข่าวการเมืองไทยที่สื่อสารข่าวต่างๆ จากพื้นที่จริงในแอคเคาต์ส่วนตัว และทำให้ใครหลายคนต้องกดติดตามพื้นที่ของเอกเพื่อรับข่าวสารได้อย่างรวดเร็วเช่นกัน

    นั่นคือบทบาทที่คนส่วนใหญ่เห็นจากเขา แต่เบื้องหลังกว่าจะมาเป็น ‘เอก THE STANDARD’ ในวันนี้ เขาสะสมประสบการณ์ในสนามข่าวการเมืองมาอย่างไร มีวิธีการทำงานบาลานซ์ความสัมพันธ์กับแหล่งข่าวทางการเมืองหลายฝ่ายตลอด 1 ทศวรรษอย่างไร รายการ Presscast จึงชวนเอกมาพูดคุยถึงจุดเริ่มต้น เส้นทางตลอด 10 ปีของนักข่าวการเมือง บทบาทของนักข่าวบนโซเชียลมีเดีย วิธีการทำงานข่าวการเมือง ไปจนถึงเสรีภาพสื่อที่เขาเฝ้าฝันถึงในอนาคต

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่

  • “ถ้าเรายังเป็นสื่ออยู่ในสังคมที่มีความเหลื่อมล้ำ ไม่ยุติธรรม ไม่เท่าเทียม สื่อมีหน้าที่ที่ต้องเป็นปากเป็นเสียงให้กับคนที่โดนทำร้าย คนที่โดนกดขี่ คนที่ต่อสู้เพื่อความยุติธรรม เพราะความเป็นธรรมสำคัญกว่า”

    ตลอด 30 ปีของการทำงานสื่อมวลชน ‘สนิทสุดา เอกชัย’ อดีตบรรณาธิการบทความ และบรรณาธิการเซ็คชั่น Outlook แห่ง Bangkok Post ผลิตเนื้อหาสารคดีที่สื่อสารประเด็นสิทธิมนุษยชนออกมาให้คนอ่านได้ทำความเข้าใจสังคมไทยได้อย่างแหลมคม และเปิดมุมมองใหม่ๆ ในสังคม ตั้งแต่ช่วงปี 2530 ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแรงงานพม่า วิถีชีวิตชนบทในอีสานและภาคใต้ สิทธิสตรี ไปจนถึงประเด็นในพุทธศาสนา และต่อมายังได้รวมเล่มเป็นหนังสืออย่าง VOICES FROM THE ESAN (2531), เยียวยาแผ่นดิน (2549) ด้วย

    ในยุคที่หลายคนมองเห็นการทะลุเพดานของสื่อและการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีที่ส่งผลมาถึงการทำงานสื่อ รายการ Presscast จึงชวนอดีตบรรณาธิการ Bangkok Post มาเล่าประสบการณ์ทำงานในแวดวงสื่อมวลชนตลอด 3 ทศวรรษ และมองความเปลี่ยนแปลงของวงการสื่อไทยในยุคที่ใครๆ ก็บอกว่าธุรกิจสื่ออยู่ในช่วงขาลง แต่ในขณะเดียวกันก็มีความก้าวหน้าใหม่ๆ เกิดขึ้นในวงการ

  • 2-3 ปีมานี้ สังคมไทยเผชิญกับความยากลำบากในหลายด้าน ทั้งโรคระบาด ค่าครองชีพ ปัญหาการเมือง และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดบรรยากาศของความเครียด ความเศร้า และความตื่นตระหนกปกคลุมไปทั่วสังคม สื่อจะทำอย่างไรเมื่อจำเป็นต้องรายงานข่าวเหล่านี้อย่างเลี่ยงไม่ได้ แต่ในขณะเดียวกันก็ต้องระมัดระวังผลกระทบต่อสุขภาพใจของคนในสังคมด้วย

    .

    อีกด้านหนึ่ง สื่อจะต้องดูแลใจตัวเองอย่างไร ในฐานะคนที่เป็นด่านหน้าในการรับข้อมูลข่าวสารประเด็นเปราะบาง และอาจส่งผลกระทบต่อจิตใจในระหว่างทำงาน องค์กรสื่อควรปรับตัวอย่างไรในวันที่สุขภาพใจของคนทำงานเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน

    .

    รายการ Presscast ชวน ‘ฝ้าย–กันตพร สวนศิลป์พงศ์’ นักเขียน, คอลัมนิสต์ประจำคอลัมน์ Peace of mine ของ a day และนักจิตวิทยาที่ปรึกษา ผู้ก่อตั้ง MasterPeace องค์กรบริการด้านเชิงจิตวิทยาที่อยากสร้างพื้นที่เอื้อบรรยากาศให้แต่ละคนได้เติบโตในแบบฉบับของตัวเอง มาพูดคุยถึงการทำงานเขียนที่เข้าถึงความรู้สึกผู้อ่าน และช่วยเยียวยาจิตใจคนรับสารในวันที่พายุความเครียดโหมกระหน่ำ รวมไปถึงการพูดคุยถึงวิธีการที่สื่อจะดูแลตัวเองในวันที่ข่าวหนักส่งผลต่อจิตใจ

    .

    ดำเนินรายการโดย สุดารัตน์ พรมสีใหม่