Episoder

  • 14 มิ.ย. 67 - ยิ่งกดข่ม ใจยิ่งทุกข์ : จะดีกว่าถ้าเกิดว่ามันมีความรู้สึกหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้นก็แค่รับรู้มัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่าให้รู้ซื่อ ๆ คืออันนี้แหละที่เคยพูดว่านักปฏิบัติเราต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ รู้ในที่นี้คือรู้แบบรู้ซื่อ ๆ รู้โดยไม่ตัดสินว่า ดีหรือชั่ว เพราะถ้าตัดสินว่ามันชั่วก็จะเผลอกดข่มมันเอาไว้ อย่างที่เกิดขึ้นกับ 2 ตัวอย่างหลัง

    แต่ถ้ารู้โดยที่ไม่ต้องไปตัดสินว่าดีหรือชั่ว ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แค่รู้ซื่อ ๆ มันโกรธก็รู้ว่าโกรธ มันอิจฉาก็รู้ว่าอิจฉา มันอยากได้หรือมีจิตปฏิพัทธ์กับสามีของพี่สาวก็รู้ ทำตามมันก็ไม่ได้ เกิดข้อเสีย เกิดปัญหาตามมา แต่ถ้าไปกดข่มมันเอาไว้ก็มีปัญหา การรู้ซื่อ ๆ นี้มันช่วยได้เยอะทีเดียว แล้วทุกวันนี้คนจำนวนมากมีความทุกข์เพราะกดข่มความคิดที่ไม่ดี ที่มันไม่ควรจะเกิดในใจของตัว อาจจะไม่ใช่โกรธ หรือว่ามีราคะ หรืออิจฉา แต่อาจจะรู้สึกไม่ดีที่มีเสียงจ้วงจาบครูบาอาจารย์ มีเสียงต่อว่าพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ หรือบางทีก็จ้วงจาบพระพุทธเจ้า พยายามกดข่มมันเอาไว้ ไม่สำเร็จสักราย แล้วก็ไม่มีความสุขด้วย จนกว่าจะยอมรับว่า มันมีความคิดแบบนี้ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส แต่ก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรา พอไปคิดว่ามันเป็นเราเมื่อไหร่ เสร็จเลย มันจะรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ถ้ามองว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นเรื่องที่คิดขึ้นได้ ความคิดที่เลวร้าย หรือ ความคิดแบบอุบาทว์ มันไม่ใช่เรา ที่จริงถ้ามีสติรู้ซื่อ ๆ มันก็ไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าเป็นความคิดอุบาทว์ มันก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็จะผ่านเลยไป
  • 13 มิ.ย. 67 - ใฝ่รู้ อย่าใฝ่เสพ : ถ้าสร้างนิสัยใฝ่รู้จะนําไปสู่นิสัยใฝ่ธรรม ถ้าเราใฝ่รู้ ขยันรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุก ยิ่งเพลิดเพลิน และยิ่งเกิดฉันทะในการเพียร ในการทำ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีความฟุ้งซ่าน บางครั้งใจไม่สงบเลย แต่ถ้าใฝ่รู้แล้ว ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน นี่ถือว่าได้กําไร

    แต่ถ้าใฝ่เสพ ใฝ่เสพความสงบ พอฟุ้งซ่าน พอมีความคิดมาก ๆ หงุดหงิดหัวเสีย บางทีจะท้อ ไม่อยากปฏิบัติ ทำแล้วฟุ้งซ่าน ทำทีไรก็ฟุ้งซ่าน ความคิดเยอะเหลือเกิน แต่นักปฏิบัติที่ใฝ่รู้ ความฟุ้งซ่านก็ให้ความรู้กับเรา เพราะว่าดูจิตก็เห็นธรรม จิตที่ฟุ้งซ่านก็สอนธรรมให้กับเราได้เยอะแยะ เช่นเดียวกับร่างกายที่ป่วยก็สอนธรรมให้กับเราได้เหมือนกัน
  • Manglende episoder?

    Klik her for at forny feed.

  • 12 มิ.ย. 67 - ในบวกมีลบ ในลบมีบวก : อาจารย์พุทธทาสท่านก็บอกว่าความเจ็บป่วยมาเตือนให้ฉลาด ป่วยทุกครั้งก็ฉลาดทุกที เพราะว่าความเจ็บป่วยเขาสามารถสอนธรรมให้เราเห็นเรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ซึ่งถ้าเราเข้าใจก็พ้นทุกข์ได้

    ในทุกข์นี่มีหนทางแห่งความพ้นทุกข์อยู่ เหมือนกับสวิตช์ไฟ สวิตช์ไฟจะใช้ปิดจนห้องมืดก็ได้ หรือจะเปิดเพื่อห้องสว่างก็ได้ หรือเหมือนกับประตู ประตูมันจะขังเราก็ได้ หรือประตูมันจะเปิดสำหรับเป็นอิสระก็ได้ รูกุญแจก็เหมือนกัน รูกุญแจนี่มันสามารถจะขังเรา แต่รูกุญแจรูเดียวกันก็สามารถจะเปิดให้เราพบอิสรภาพหรือออกจากทุกข์ได้ ฉะนั้นเวลาเจอทุกข์ อย่าจมอยู่กับความรู้สึกลบ เพราะว่าในทุกข์มันก็มีทางออกจากทุกข์ แม้กระทั่งสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เช่น ความคิดฟุ้งซ่านในเวลาปฏิบัตินี่มีประโยชน์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเทศน์ว่า มองกายเห็นจิต มองคิดเห็นธรรม คิดนี่หมายถึงความคิดฟุ้งซ่าน ถ้าเราดูดีๆ ก็เห็นธรรมจากความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นโทษ ก่อความว้าวุ่นกับเรา อันนี้เรียกว่าในลบมีบวก ขณะเดียวกันเมื่อเราเจอบวก เราก็อย่าไปหลงกับมัน เพราะว่าในบวกมันก็มีลบแทรกอยู่เหมือนกัน
  • 4 มิ.ย. 67 - ทำอะไรใจไม่ลืมเป้าหมาย : หลายคนอยากจะทำงานให้มันได้ดี ได้เร็ว ได้สะดวก ก็ต้องมีรถ มีรถเพื่ออะไร เพื่อจะได้ทำงานได้ดี ได้สะดวก แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่าทำงานเพื่อจะได้มีเงินผ่อนรถ มีเงินค่าน้ำมันรถ มีเงินค่าซ่อมรถ ดูแลรถ มันกลับกันเลยนะ แต่ก่อนนี่รถมีไว้เพื่อจะได้ทำงานสะดวก แต่ตอนหลังนี่กลับกลายเป็นว่าทำงานเพื่อจะได้มีเงินเอาไว้ผ่อนรถ สิ่งที่เคยเป็นเป้าหมาย มันกลับลดระดับกลายเป็นอุปกรณ์ไปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอุปกรณ์ที่จะส่งเสริมเป้าหมาย มันกลับกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว

    แล้วเป็นอย่างนี้กันเยอะเพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไม่ค่อยได้ตั้งคำถาม ไม่ค่อยได้ตรวจสอบ ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ใคร่ครวญว่าเราทำไปเพื่ออะไร อันนี้เรียกว่าขาดสติก็ได้ ทำไปๆ มันลืม ลืมว่าเราทำไปเพื่ออะไร หลายคนสนใจภาวนา แล้วคิดว่าจะภาวนาได้มันต้องหาที่สงบๆ อาศัยสถานที่สงบเพื่อจะเกื้อกูลต่อการภาวนา แต่ไปๆ มาๆ ไม่ใช่อาศัยความสงบเพื่อเป็นปัจจัยส่งเสริมการภาวนา กลับกลายเป็นว่าภาวนาเพื่อจะเอาความสงบ พอเจอความไม่สงบเข้าก็ไม่พอใจ รู้สึกอึดอัด คับแค้น ลืมไปว่าความสงบนี่ไม่ใช่เป้าหมายของการภาวนา เป็นสิ่งที่เสริมอำนวยให้การภาวนาก้าวหน้า คนเราถ้าเราไม่ระวัง ไม่มีสติ สิ่งที่คิดว่าจะเป็นเป้าหมาย มันกลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว เหมือนกับที่เขาพูดว่าเรากินเพื่ออยู่ แต่ไปๆ มาๆ อยู่เพื่อกิน มันก็ไม่ต่างจากคนที่มีรถเพื่อจะได้ทำงานสะดวก แต่ไปๆ มาๆ กลับทำงานเพื่อจะได้มีเงินผ่อนรถ มีเงินค่าน้ำมันรถ ทำงานหนักเพื่อครอบครัว แต่ไปๆ มาๆ ทิ้งครอบครัวเพื่อจะได้ทำงานเยอะๆ อันนี้เพราะขาดสติ มันก็เลยเอาสิ่งที่เป็นมรรควิธีกลายเป็นเป้าหมาย สิ่งที่เป็นเป้าหมายก็กลายเป็นเรื่องรองไปเสีย ฉะนั้นเวลาเราทำอะไร การมีสติหรือมีการใคร่ครวญ นี่สำคัญ ว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ บางทีเรามาบวชเพื่อปฏิบัติ ไปๆ มาๆ บวชเพื่อจะหาลาภสักการะ ลืมไปเลย การปฏิบัติเป็นเพียงแค่สิ่งที่เสริมภาพลักษณ์เพื่อให้มีลาภสักการะมากขึ้น แบบนี้ก็มีเยอะนะ อันนี้เป็นเพราะว่าเพลินกับความสะดวกสบาย เพลินกับความสุขที่ลาภสักการะนำมาให้ หรือไม่เช่นนั้นก็เพลินกับสิ่งที่กำลังทำ จนลืมไปว่าเราทำไปเพื่ออะไร ทำเพื่อครอบครัวหรือเปล่า หรือว่าทิ้งครอบครัวเพื่อจะได้ทำงานได้มากๆ
  • 3 มิ.ย. 67 - บำรุงใจเหมือนดูแลสวน : จิตของเรา จะว่าไปก็ไม่ต่างจากสวนหรือไม่ต่างจากพื้นที่ที่สามารถจะปลูกต้นไม้นานาชนิดได้ การฝึกจิตถ้าเราคิดว่า จิตของเราบังคับบัญชาได้ สามารถจะบงการให้เป็นไปดั่งใจ ก็คงจะไม่ต่างจากการคิดแบบช่างไม้ แล้วถ้าเราทำกับจิตของเรา เหมือนกับช่างไม้ทำกับไม้ ก็อาจจะผิดหวังได้ เพราะว่าจิตนี้บังคับไม่ได้ ไม่สามารถจะปรับแต่งให้เป็นไปดั่งใจได้

    สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การส่งเสริม ฝึกฝนให้จิตได้เจริญงอกงาม โดยสอดคล้องกับธรรมชาติของเขา ซึ่งใจหรือจิตเป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ จะให้จิตเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ใจเรา จิตบังคับไม่ได้ แต่ฝึกฝนได้ อำนวยส่งเสริมเกื้อกูลให้เป็นไปในทางที่ดีงาม นี่ทำได้ ก็ไม่ต่างจากคนที่ปลูกต้นไม้ ต้นทุเรียน ต้นมะม่วง เราจะบังคับให้เป็นต้น ให้ออกดอกแบบอื่น ออกผลแบบอื่น มันทำไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถจะสนับสนุนให้เขาเติบโต ใส่ปุ๋ยหรือว่าตัดแต่งกิ่ง รวมทั้งจัดหาสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล นี่ทำได้ เวลาเราฝึกจิต ให้เราลองมองแบบนี้บ้างว่าเหมือนกับปลูกต้นไม้ เหมือนกับทำสวน ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในการบังคับบัญชาของเราได้ นอกจากขึ้นอยู่กับต้นไม้แต่ละชนิด แต่ละพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ มีเหตุปัจจัยมากมายที่เราต้องคำนึง ไม่ได้อยู่ที่ใจเรา
  • 2 มิ.ย. 67 - สิ่งชี้วัดความก้าวหน้าของการปฎิบัติ : ถ้าเราเจริญสติได้ดี แม้จะมีความหงุดหงิดขึ้นก็ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ รักษาใจให้สงบได้ เพราะอะไรเพราะมีสติเห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นหรือไม่เข้าไปยึด ไม่ไปผลักไสมันด้วย บางคนพอเวลาไม่มีความฟุ้ง ใจก็สงบ แต่พอมีความคิดเกิดขึ้นใจ ไม่สงบก็เลยเข้าไปกดข่มมัน ก็เลยยิ่งไม่สงบเข้าไปใหญ่ ยิ่งหงุดหงิดเพราะว่ากดข่มเท่าไหร่มันก็ไม่ไป มีความโกรธ มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าใจจะต้องว้าวุ่น เป็นทุกข์เสมอไป อยู่ที่ว่า เห็นมันไหม เห็นได้ไวพอหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าของการปฏิบัติจะต้องวัดตรงนี้ด้วย วัดว่าสงบได้ไม่ใช่เฉพาะเวลาปฏิบัติ แต่ว่าสงบได้แม้มีสิ่งกระทบ มีสิ่งเร้า ถ้าหากว่าสงบได้เมื่อไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีสิ่งกระทบ อันนี้ใคร ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก นักปฏิบัติต้องทำได้มากกว่านั้นคือว่าแม้เจอสิ่งเร้า เจอสิ่งกระทบ ตา หู จมูก ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ ใจก็สงบได้ ตรงนี้แหละคือสิ่งที่วัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนถ้าเกิดว่าเข้าใจเรื่องหรือเห็นเรื่องรูป เรื่องนาม เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราก็ช่วยทำให้ใจสงบได้ง่าย ไม่ใช่สงบด้วยสติอย่างเดียว แต่สงบด้วยปัญญาด้วย
  • 1 มิ.ย. 67 - สอนคนอื่น อย่าลืมดูใจตนเอง : ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร

    ฉะนั้นหมั่นเตือนตนอยู่เสมอ ทำอะไรก็ตามมันไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร แม้จะทำเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ เรื่องบุญกุศล แต่ว่าถ้าขาดสติหรือทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็สามารถจะเกิดโทษได้ เตือนใจเสมอเวลาเจอความไม่ถูกต้อง อย่างแรกที่ต้องทำก็คือ รักษาใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปจัดการคนอื่นเพื่อให้เขาทำถูกต้อง ถ้าขืนไปจัดการคนอื่นโดยที่ไม่ทันดูใจของตัว ไม่ทันรักษาใจของตัวให้ถูกต้องแล้ว สิ่งที่ทำกับคนอื่นก็จะกลายเป็นความไม่ถูกต้องหนักกว่าเดิมก็ได้ เรื่องนี้มันเป็นอุทธรณ์สอนใจที่ดีโดยเฉพาะกับคนที่สนใจธรรมะ นักปฏิบัติธรรม จะได้ไม่หลงตัวลืมตน ว่ามาปฏิบัติธรรมว่ามาแสดงธรรม แล้วก็ลืมมองตัวเองไป
  • 31 พ.ค. 67 - ใฝ่ทำดีกว่าใฝ่เสพ : คนเราถ้าเป็นคนที่ใฝ่รู้ แค่ได้ความรู้เขาก็พอใจแล้ว คะแนนจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ หรือไม่ใช่เรื่องสำคัญ และกรณีนี้พอโตขึ้นแล้วเขาจะมีความสุขจากการที่ได้ทำความดี ซื่อสัตย์สุจริต ภูมิใจในความดีที่ทำ เรื่องเงินเรื่องทองจะเป็นเรื่องเล็กน้อย คนเราถ้าเอาความสุขไปผูกกับเงิน ไปผูกกับชื่อเสียง จะหาความสุขไม่ได้เลย

    อย่างที่เราเห็น ดาราที่มีชื่อเสียงร่ำรวยหลายคน ฆ่าตัวตายเพราะว่าถูกต่อว่า ถูกสื่อมวลชนวิจารณ์ว่าเล่นไม่ได้เรื่อง หรือว่าเป็นเพราะอกหัก แฟนทิ้ง อันนี้เพราะว่าไม่เข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ไปเอาความสุขของตัวไปอยู่ผูกติดอยู่กับสิ่งของ อยู่กับชื่อเสียง อยู่กับเงินทอง หรือแม้แต่อยู่กับคนอื่น เอาความสุขหรือคุณค่าไปผูกติดกับคนอื่น พอเขาก็ทิ้งเรารู้สึกหมดคุณค่าทันที แต่ถ้าหากว่าคนเราพบว่าความสุขอยู่ที่ใจ อยู่ที่การทำความดี อยู่ที่ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความสุขที่ผูกติดอยู่กับความดีในตัวไม่มีสูญหายไปง่าย ๆ ใครเขาจะทิ้ง ใครเขาจะดูถูกอย่างไร ตัวเองก็ยังมีความสุขความภูมิใจในสิ่งที่ทำ แม้จะไม่รวยแต่ก็มีความสุข นี่แหละคือสิ่งที่ศาสนาจะสอนเราได้ จะนำทางให้เราพบความสุขอย่างนี้ แล้วก็การมาวัดก็สามารถช่วยทำให้เราได้พบกับความจริงข้อนี้ได้ วันนี้นักเรียนอาจจะยังไม่เห็น เพราะยังคิดว่าความสุขอยู่ที่การกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ช็อป มีแฟน แต่ให้จำในสิ่งที่หลวงพ่อพูดเอาไว้วันนี้ พอถึงวันที่พวกเธอโตมากกว่านี้และในยามที่เจอกับความไม่สมหวังในชีวิต เจอกับความพลัดพราก อาจจะได้คิด แล้วถึงตอนนั้นก็อาจจะรู้วิธีที่จะหาทางออกจากความทุกข์ได้
  • 24 พ.ค. 67 - โกรธก็ได้ ใจไม่ทุกข์ : แต่ยิ่งเราไม่ยอมรับ ยิ่งเราผลักไสมัน มันก็ยิ่งมีอำนาจเหนือจิตใจของเรา วิธีที่จะทำให้มันหมดพิษสงก็คือยอมรับมัน หรือว่าถ้าพูดแบบภาษาธรรมะก็คือว่าแค่เห็นมันเฉย ๆ รู้ซื่อ ๆ หรือยอมรับมันได้ มันมีสิ่งหนึ่งที่เหมือนกัน ก็คือว่าไม่ผลักไส ไม่ต่อต้าน ไม่กดข่ม แล้วถ้าเราใช้ท่าทีนี้กับสิ่งอื่นด้วย ไม่ใช่เฉพาะกับอารมณ์ที่เกิดขึ้นในใจ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเซ็ง ความเบื่อ แต่ยังใช้กับเสียงที่มากระทบหู หรือภาพที่กระทบตา หรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับตัวเรา หรือแม้กระทั่งความเจ็บปวดทุกขเวทนาที่เกิดขึ้น ถ้าเรายอมรับได้ ใจไม่ผลักไสอยู่ลึก ๆ อันนี้ท่านเรียกว่า “เห็น ไม่เข้าไปเป็น” อำนาจที่มันมีต่อจิตใจของเราทำให้ทุกข์ใจก็น้อยลง จะเหลืออยู่ก็แค่ความทุกข์กาย แต่ใจไม่ทุกข์แล้ว

    ความซังกะตายก็เหมือนกัน จริง ๆ มันก็ไม่ได้ทำร้ายใจเราเท่าไหร่ แต่ที่มันทำร้ายจิตใจผู้หญิงคนนั้นมากคือเพราะไม่ยอมรับ ความซังกะตายไม่ได้ทำร้ายเรา แต่การที่เราไม่ยอมรับความซังกะตาย ความรู้สึกเฉาต่างหากที่ทำร้ายเรา เหมือนกับนอนไม่หลับ นอนไม่หลับนี้ก็ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรา แต่ที่ทุกข์กันมากก็เพราะว่าไม่ยอมรับ เวลานอนไม่หลับก็เกิดความวิตกกังวล พยายามข่มตาให้หลับ ความกลัวว่าจะไม่หลับ หรือความอยากให้หลับ แล้วพอไม่หลับก็เลยวิตกกังวล ตัวนี้ต่างหากที่สร้างปัญหา พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเรา ไม่ได้สร้างปัญหาให้กับเรามากเท่ากับปฏิกิริยาหรือท่าทีที่เรามีต่อสิ่งนั้น ถ้าเราแค่ดู เห็น รู้ซื่อ ๆ หรือเป็นมิตรกับมัน มันก็หมดพิษสงลง อันนี้คือสิ่งที่เราสามารถจะเรียนรู้หรือทดลองดูได้ ปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวันของเรา
  • 23 พ.ค. 67 - ฟังธรรมอย่างไรใจเปลี่ยนแปลง : การตั้งคำถามกับตัวเองเวลาฟังธรรมนี้ ช่วยให้เกิดการปฏิบัติ ไม่อย่างนั้นฟังแล้วก็ไม่เกิดการปฏิบัติ หรืออย่างน้อยก็เกิดปัญญา รู้จักใคร่ครวญ แล้วทำให้เกิดความเฉลียวใจ แล้วส่วนใหญ่ฟังก็ไม่ค่อยได้ถามตัวเองว่าจริงไหม ที่ท่านพูดจริงไหม แล้วการใคร่ครวญก็ไม่ใช่แค่ใช้เหตุใช้ผลอย่างเดียว แต่ว่าเอาประสบการณ์ตัวเองมาเทียบหรือตอบโดยอาศัยประสบการณ์ตัวเอง จริงไหม

    แล้วเวลาท่านพูดถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมาก เราก็ต้องถามตัวเองว่า “เออ เราเป็นอย่างนั้นด้วยหรือเปล่า” “เราเป็นอย่างที่ท่านว่ามาไหม” แล้วเวลาท่านแนะนำทางออกหรือข้อที่ควรปฏิบัติ ก็ควรจะถามตัวเองด้วยว่า “แล้วเราได้ทำอย่างนั้นบ้างหรือเปล่า” หรือคิดจะไปทำบ้างไหม ฉะนั้นถ้าเราไม่ถามตัวเองอย่างน้อย 3 คำถาม การฟังธรรมก็ไม่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในตัวเอง แล้วนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนจำนวนมากทีเดียว การฟังธรรมก็เป็นเพียงแค่การทำให้ใจเพลิน ฟังแล้วเพลินดี ก็คงไม่ต่างจากวัยรุ่นฟังเพลง แต่ว่าคนแก่หรือว่า สว. ก็ฟังธรรม เหมือนกันตรงที่ว่าฟังแล้วเพลิน แต่ว่าไม่ได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอะไรขึ้นมาอย่างจริงจัง
  • 22 พ.ค. 67 - ประโยชน์ที่ควรได้จากการเป็นชาวพุทธ : แต่ไม่ว่าจะทำดีแค่ไหน ความทุกข์บางอย่างก็ยังสามารถมาถึงตัวเราได้ เช่นความแก่ ความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความตาย ไม่ต้องพูดถึงคำต่อว่าด่าทอ หรือว่าความล้มเหลว ความไม่สมหวัง สิ่งเหล่านี้แม้เราจะเจอ แต่ใจไม่ทุกข์ก็ได้ ถ้าเรามีสติรู้ทันอารมณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อมีการกระทบ หรือดียิ่งกว่านั้นคือรู้ทันการปรุงแต่ง จนกระทั่งไม่ว่าเห็น ไม่ว่าได้ยิน ก็สักแต่ว่าเห็น สักแต่ว่าได้ยิน หรือแม้มีอารมณ์เกิดขึ้นก็แค่รู้ซื่อๆ ใจก็ไม่ทุกข์

    นี่เป็นโอกาสแห่งการพ้นทุกข์ที่เราทุกคนสามารถทำได้ แล้วเราจะทำได้ก็ต่อเมื่อเราได้ศึกษาคำสอนของพระพุทธเจ้า ศึกษาว่าพระองค์ทรงค้นพบอะไร และอะไรทำให้พระองค์ทรงออกจากทุกข์ได้ และที่พระองค์ชี้ทางออกจากทุกข์ให้กับเรา ก็คือชี้เรื่องนี้แหละ ฉะนั้นถ้าเรารู้จักใคร่ครวญและนำไปปฏิบัติ ก็เท่ากับว่าเราได้ประโยชน์จากการเป็นชาวพุทธ เราได้ประโยชน์จากการที่มีพระพุทธเจ้าเป็นพระบรมศาสดาของเรา รวมทั้งได้ประโยชน์สูงสุดจากศาสนาที่เรานับถือ ไม่อย่างนั้นเราก็ได้ประโยชน์อย่างไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย สุดท้ายเราก็ไม่ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการเกิดมาเป็นมนุษย์
  • 21 พ.ค. 67 - อยู่กับความรู้สึกตัวให้เป็น : ความรู้สึกตัว ถ้าเราอยู่กับมัน หรือถ้าเรากลับมารู้สึกตัวบ่อย ๆ การอยู่กับตัวเองเป็นเรื่องง่าย อยู่กับผู้คนก็ไม่ได้ว้าวุ่น หงุดหงิด อยู่กับตัวเองคนเดียวก็ไม่ได้เหงาอะไร แล้วถึงเวลาที่เราต้องอยู่กับตัวเองจริง ๆ หรือถึงเวลาที่เราต้องอยู่คนเดียว เพราะว่าคนที่คุ้นเคยล้มหายตายจากไป หรือว่าต้องไปนอนอยู่คนเดียวในโรงพยาบาล ก็อยู่ได้

    หรือถึงแม้อยู่บ้าน ไม่มีคู่ครอง ก็ไม่ได้เรียกร้องว่าจะต้องมีใครมาอยู่ใกล้ ๆ เพราะทนอยู่กับตัวเองไม่ได้ อาการแบบนี้มันก็ไม่มี อยู่กับตัวเองหรืออยู่คนเดียว ไม่ใช่ไม่เหงา ไม่เบื่อ แต่ว่าความเหงาความเบื่อทำอะไรไม่ได้เพราะว่ารู้สึกตัว ยอมรับมัน ไม่ผลักไสมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าการผลักไส การกดข่ม การไม่ยอมรับอารมณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ มันก็เป็นตัวการสร้างปัญหา อย่างการปฏิบัติที่นี่ เราไม่เน้นเรื่องการไปกดข่มความคิด ไปผลักไสอารมณ์ อะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นก็ยอมรับมัน อนุญาตให้มันเกิดขึ้นได้ เพราะว่าเรามีวิชา วิชาอะไร วิชารู้ซื่อ ๆ เห็นมัน เห็นมัน เมื่อรู้แล้วว่ามันมีอยู่ ก็แค่รู้ซื่อ ๆ ไม่ผลักไส ก็ทำให้ไม่เข้าไปเป็น ก็ทำให้เกิดความรู้สึกตัวได้ การปฏิบัติ ถ้าเราอยู่กับตัวเองเป็น มันไม่ได้หมายความว่าไม่มีความเหงา ไม่มีความเบื่อ ไม่มีความเซ็ง มันมีแต่ว่าอยู่กับมันได้ เป็นมิตรกับมันได้ คนเราถ้าอยู่กับตัวเองเป็นคืออยู่กับความรู้สึกตัวแล้วนี้ มันก็อยู่กับอารมณ์ต่าง ๆ ได้ โดยที่ไม่ถูกมันเบียดเบียน ครอบงำ ไม่ใช่ว่าไม่มีอารมณ์เหล่านี้ มีแต่มันทำอะไรไม่ได้ เพราะต่างคนต่างอยู่ อยู่กับความรู้สึกตัวเป็น ก็อยู่กับตัวเองได้ อยู่กับความเหงา อยู่กับความเบื่อ ก็อยู่ได้ ไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไร
  • 19 พ.ค. 67 - ธรรมนำชีวิตให้ผาสุก : ถึงที่สุดแล้วไม่มีอะไรที่เราจะยึดมั่นเป็นเรา เป็นของเราได้เลย ไม่ว่าจะเป็นลาภสักการะ ชื่อเสียงเกียรติยศ หรือแม้กระทั่งร่างกายนี้ ก็ไม่อาจยึดได้ว่าเป็นเรา เป็นของเราได้ ความที่ท่านเข้าใจ หรือเข้าถึงสัจธรรมความจริงนี้แหละ จึงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้ท่านเปี่ยมด้วยคุณธรรมมากมายหลายประการ ที่เราทุกท่านเมื่อได้สัมผัสแล้วก็รู้สึกประทับใจ​ ด้วยเหตุนี้เมื่อเราระลึกนึกถึงท่านแม่ชีสุขี ก็อย่าพึงนึกถึงแต่เพียงแค่บุญที่ท่านบำเพ็ญ แต่ให้นึกถึงธรรมที่ท่านได้ปฏิบัติด้วย

    ผู้คนส่วนใหญ่มักจะนึกถึงบุญ จนบางทีลืมธรรมะไป เพราะเราคิดว่าถ้าเราได้บุญเยอะๆ เราก็จะได้โชคได้ลาภ มีอายุยืน มีสุขภาพดี เพราะเราเชื่อว่า บุญนั้นย่อมอำนวยให้เกิดอายุ วรรณะ สุขะ พละ รวมทั้งปฏิภาณธนสารสมบัติ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนปรารถนา จึงอยากได้บุญกันมากๆ จนกระทั่งจำนวนไม่น้อย ลืมธรรมะไป
  • 18 พ.ค. 67 - เมืองร่มรื่น ใจร่มเย็น เป็นรมณีย์ : ใจรมณีย์คืออะไร ใจรมณีย์ คือ ใจที่ร่มเย็น สงบเย็นได้ด้วยธรรม เราเย็นกายด้วยร่มไม้ และเราสามารถจะเย็นใจได้ด้วยร่มธรรม ร่มไม้สามารถจะปลุกกระตุ้นให้ร่มธรรมในใจของเราเจริญงอกงามได้ แต่จะดียิ่งขึ้นถ้าเกิดว่าเราอาศัยความร่มรื่นของต้นไม้มาใช้ในการฝึกจิต เพื่อทำให้ร่มธรรมในจิตใจของเราเจริญงอกงามยิ่งขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาคือ ใจที่เป็นรมณีย์ ไม่ใช่แค่ถิ่นรมณีย์ที่ภายนอก

    ใจรมณีย์ ไม่ใช่หมายถึงใจที่สงบเย็นเพราะร่มธรรมเท่านั้น แต่ยังอาศัยธรรมะช่วยเปลี่ยนทุกข์ให้การเป็นสุขได้ เหมือนกับต้นไม้สามารถเปลี่ยนแสงแดดที่ร้อนให้กลายเป็นร่มเงาที่เย็น ต้นไม้สามารถเปลี่ยนสิ่งปฏิกูล ขยะ ให้กลายเป็นใบไม้ที่เขียวขจี ดอกไม้ที่สวย ผลไม้ที่หอมหวาน ใจของเราก็เช่นเดียวกัน ถ้าใจของเราเป็นรมณีย์ ก็เพราะสามารถเปลี่ยนทุกข์ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ได้ เปลี่ยนปัญหาให้กลายเป็นปัญญา ก็เกิดขึ้นได้ ใจที่เป็นรมณีย์ คือใจที่ไม่เพียงแต่เป็นผู้รับ แต่ยังเป็นผู้ให้ เหมือนต้นไม้ที่ไม่เพียงแต่รับเอาปุ๋ยจากดิน แต่ยังทิ้งกิ่ง ทิ้งใบ เพื่อเป็นปุ๋ยกลับคืนสู่ดิน เป็นการตอบแทนผืนดินที่ช่วยหล่อเลี้ยงต้นไม้ ต้นไม้ไม่เพียงแต่รับเอาน้ำจากฟ้ามาบํารุงกิ่งก้านและใบ แต่ยังคายน้ำคืนสู่ธรรมชาติ คืนสู่ฟ้า เป็นการตอบแทน
  • 16 พ.ค. 67 - ธรรมสั้นๆที่ปฎิบัติได้แม้ไม่มีเวลา : คนที่บอกว่าไม่มีเวลา ไม่มีเวลาปฏิบัติธรรม แต่ที่จริงแล้ว สามารถจะมีสติในการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ได้ ไม่ต้องใช้เวลาอะไรเลย ไม่ต้องสละเวลาเพิ่มเติม เพราะทุกวันนี้ ก็รับรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวอยู่แล้ว ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ก็เพียงแต่เติมสติลงไป การกินก็เหมือนกัน เรากินอยู่แล้ว ฆราวาสก็ 3 มื้อ ก็เติมสติลงไปในการบริโภค ทำงานก็ทำอยู่แล้ว ก็เติมสติลงไปในการทำงาน

    อปัณณกปฏิปทานี้ จะว่าไปแล้ว มันเป็นธรรมที่สำคัญ ที่ถูกมองข้ามไป เพราะว่าสามารถจะเอามาใช้ในการดำเนินชีวิตได้ แล้วก็เป็นการปฏิบัติที่ไม่มีคำว่าผิด อปัณณก แปลว่าไม่ผิดอยู่แล้ว เป็นทางสายกลาง เป็นการปฏิบัติธรรม ที่สามารถจะทำได้ ในชีวิตประจำวัน มันไม่ต้องการเวลาเพิ่มเติม เพราะว่าทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการรับรู้ทางทวารทั้ง 6 ไม่ว่าจะเป็นการกิน หรือว่าการทำงาน เพียงแต่เติมสติลงไป ให้เป็นอินทรียสังวร ให้เป็นโภชเน มัตตัญญุตา ให้เป็นชาคริยานุโยค แล้วมันก็ช่วยทำให้ไม่เพียงแต่การงานดำเนินด้วยดี แต่ยังช่วยทำให้ความทุกข์บรรเทาเบาบาง และเป็นกำลังในการสนับสนุนให้เกิดการเห็นธรรมที่สูงขึ้นไปเรื่อย ๆ
  • 15 พ.ค. 67 - สอนอะไร ควรทำสิ่งนั้นให้ได้ : เวลาเราจะแนะนำใคร ไม่ว่าเรื่องอะไร ออกกำลังกาย กินอาหารสุขภาพ หรือว่าใช้โทรศัพท์มือถือให้น้อยลง เล่นเกมให้น้อยลง รวมทั้งการนั่งสมาธิ เจริญสติ มันต้องกลับมามองที่ตัวเองก่อนนะว่า “ทำได้หรือยัง” หรือ “ได้ลองทำบ้างหรือเปล่า”

    เชื่อจริง ๆ หรือเปล่าอย่างที่พูดว่ามันมีคุณค่าจริง ๆ หรือไปฟังเขามาแต่ไม่ได้เชื่อจริง เพราะถ้าเชื่อจริงก็ต้องทำด้วยตัวเองแล้ว แต่พอไม่ได้เชื่อจริงก็เลยไม่ได้ทำ แต่อยากให้คนอื่นทำ เสร็จแล้วคนอื่นเขาก็รู้นะว่าคนพูด คนแนะนำนี้ก็ไม่ได้เชื่อจริง พูดอย่างทำอย่าง เขาก็ไม่ฟัง แต่ถ้าเกิดว่าเราจริงจังหรือจริงใจในสิ่งที่พูด ในสิ่งที่แนะนำ เราต้องทำให้ได้ก่อน หรือพยายามทำแล้วเราถึงจะแนะนำคนอื่นได้เต็มปาก เราปล่อยวางได้แล้วไม่มากก็น้อย เราถึงแนะนำให้คนอื่นปล่อยวางบ้าง หรือว่าเราได้ทำสมาธิเจริญสติมาพอสมควร แล้วก็รู้รสชาติ รู้ความยากลำบากของมันว่ามันเป็นอย่างไร เราถึงจะแนะนำเขาได้ ไม่งั้นมันก็จะเป็นคำพูดที่ไม่มีความหมาย หรือกลายเป็นการกระทำแบบนกแก้วนกขุนทองแบบที่เด็กคนนั้นพูด