Episodios

  • กลายเป็นมหากาพย์อิรุงตุงนังไม่ต่างจากไส้ในแซนด์วิช เพราะเมื่อไม่นานมานี้ได้เกิดประเด็นดราม่า ‘SUBWAY’ ในประเทศไทย ซึ่งสาเหตุเกิดจากผู้บริโภคทั้งขาจรและขาประจำต่างพร้อมใจกันร้องเรียนคุณภาพอาหาร ตั้งแต่รสชาติขนมปังที่ไม่เหมือนเดิม สีจากกระดาษห่อเลอะติดอาหาร กระดาษห่อไม่มีโลโก้ SUBWAY หรือแม้แต่วัตถุดิบขาดแคลนผิดวิสัยร้านอาหารขวัญใจมหาชน 
    .
    ฝุ่นยังไม่ทันหายตลบทางเพจเฟซบุ๊ค SUBWAY Thailand ได้ออกมาชี้แจงถึงดราม่าดังกล่าวโดยระบุว่า จากการตรวจสอบตามข้อมูลที่ลูกค้าร้องเรียนเข้ามา พบว่าสาขาที่ใช้บริการคือสาขาที่ถูกยกเลิกสิทธิ์แฟรนไชส์ไปตั้งแต่วันที่ 26 กรกฎาคม 2567 โดยมีจำนวนรวมทั้งสิ้นจำนวน 105 สาขา ซึ่งผู้ที่ออกมาอ้างว่าตนคือผู้ถือสิทธิ์แฟรนไชส์ SUBWAY แต่เพียงผู้เดียวในประเทศไทย ก็คือบริษัท PTG Energy 
    .
    คำถามคือก่อนหน้านี้เกิดเรื่องราวอะไรขึ้น เดิมทีแฟรนไชส์ SUBWAY ใครเป็นคนนำเข้ามา ทำไมแบรนด์ระดับ Global ถึงเกิดปัญหาที่ไม่น่าเกิด ปัญหาควรจะถูกคลี่คลายไปในทิศทางใด และข้อกฎหมายเกี่ยวกับการถือครองแฟรนไชส์ที่คนทำธุรกิจควรรู้มีอะไรบ้าง ทั้งหมดนี้ข้อชวนหาคำตอบแบบจัดเต็มได้ในรายการ Bon Appétit EP.104

  • ว่ากันว่าสังคมยุคนี้ต้องขับเคลื่อนด้วย ‘ข้อมูล’ ใครที่มี Big Data หรือฐานข้อมูลขนาดใหญ่ที่ละเอียดและแม่นยำ ก็จะนำมาวิเคราะห์การตลาด กำลังซื้อ เข้าใจลูกค้า ลดค่าใช้จ่าย และนำไปใช้ประกอบการตัดสินใจได้ ‘ข้อมูล‘ จึงเปรียบเสมือนหัวใจในการสร้างความได้เปรียบทั้งในเชิงธุรกิจ ไปจนถึงการบริหารจัดการทรัพยากรและบริการต่างๆ ของเมือง
    .
    จาก Big Data สู่ Open Data ที่เริ่มเป็นที่พูดถึงกันในยุคนี้ หรือก็คือการเปิดโอกาสให้คนทั่วไปเข้าถึงข้อมูลจำนวนมากที่เคยถูกจัดเก็บและใช้งานเฉพาะในองค์กรหรือภาครัฐได้ ข้อมูลเปิดเหล่านี้ช่วยสร้างความโปร่งใสในกระบวนการต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน เพราะประชาชนมีชุดข้อมูลเดียวกัน จึงสามารถช่วยกันตรวจสอบหรือนำข้อมูลไปใช้ในรูปแบบใหม่ๆ ที่อาจสร้างประโยชน์ต่อสังคมได้ 
    .
    นอกจากนั้น ข้อมูลเปิดที่ว่านี้ยังช่วยให้ผู้ประกอบการนำข้อมูลมาสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ๆ เช่น การพัฒนาแอปพลิเคชันด้านการเดินทาง สุขภาพ หรือสิ่งแวดล้อม โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรวบรวมข้อมูลเอง การเปิดข้อมูลเป็นสาธารณะยังทำให้นักวิจัย นักเรียน นักศึกษา และสถาบันการศึกษานำข้อมูลไปใช้ในการศึกษาวิจัยและพัฒนาได้ 
    .
    ฐานข้อมูลขนาดใหญ่คืออะไร การมีข้อมูลที่เที่ยงตรงและแม่นยำดียังไง ทำไมทุกวันนี้เมืองชั้นนำถึงขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและนำข้อมูลออกสู่สาธารณะ แล้วจะจัดการข้อมูลเปิดยังไงให้เอามาใช้ได้จริง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาทุกคนไปรู้จักโลกแห่งข้อมูลในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.29 ตอนนี้ 

  • ¿Faltan episodios?

    Pulsa aquí para actualizar resultados

  • “และผู้ที่จะได้เป็นมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ของประเทศไทยในปีนี้ก็คือ ซันจิ และ เอตะ !” 
    .
    สิ้นเสียงการตัดสินจาก 1 ใน 4 คณะกรรมการอย่าง เชฟป้อม-หม่อมหลวงขวัญทิพย์ เทวกุล จึงเป็นอันรู้ผลว่า ‘ซันจิ-กรรณปกร อภิบุญอำไพ’ และ ‘เอตะ-เอกตระการ เชี่ยวพัทธยากร’ สองหนุ่มน้อยวัย 11 ปี คือผู้ที่คว้าแชมป์มาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์ ซีซั่น 3 และเป็นแชมป์ร่วมครั้งแรกในหน้าประวัติศาสตร์ของรายการดังกล่าว 
    .
    สำหรับผู้ที่ติดตามรายการมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ไทยแลนด์ ซีซั่น 3 น่าจะทราบดีอยู่แล้ว ว่าฝีมือการทำอาหารของเชฟเด็กทั้งสองคนนี้เกินอายุไปไกล ไม่ว่าจะเป็นอาหารประเภทคาวหรือหวานก็ตีโจทย์ได้แตก และนำเสนอผลงานออกมาได้ประทับใจคณะกรรมการทุกอาทิตย์ ผนวกกับคาแรกเตอร์สดใส มุ่งมั่น ที่แสดงออกอย่างตรงไปตรงมา ทำเอาพ่อยกแม่ที่เฝ้าหน้าจอโทรทัศน์ต่างพากันโดนตกเข้าด้อมไปตามๆ กัน
    .
    ถึงการแข่งขันจะจบลงแล้ว แต่หลายคนน่าจะอยากรู้จัก ซันจิ และ เอตะ มากกว่านี้ รายการ Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว EP.103 เลยขออาสาพาไปทำความรู้จักกับทั้งสอง ตั้งแต่จุดเริ่มต้นการเข้าครัว เมนูที่ถนัดที่สุด วันที่ตัดสินใจสมัครลงแข่งขันมาสเตอร์เชฟจูเนียร์ฯ ความฝันในอนาคตที่ยังยืนอยู่บนเส้นทางสายอาหาร และทั้งคู่มากลายเป็นเพื่อนซี้กันตอนไหน
    .
    บอกเลยว่าการันตีความน่ารัก จนต้องเผลออมยิ้มตลอดทั้งรายการ

  • สถานการณ์โควิด-19 ทำให้บางแบรนด์หายจากไป แต่อีกหลายแบรนด์ก็เฟื่องฟูอย่างมากในช่วงเวลานี้ โดยเฉพาะกับแบรนด์ที่ตอบโจทย์เรื่องความสบายในบ้านได้ดี และ Birkenstock รองเท้าสัญชาติเยอรมันที่มีอายุยาวนานกว่า 250 ปีก็เป็นอีกหนึ่งแบรนด์ที่ฉกฉวยโอกาสนั้นไว้ได้
    .
    ในช่วงโควิด-19 แบรนด์มียอดขายเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งยังมีการปล่อยสินค้าหลายคอลเลกชั่นที่ทำเอาแฟนๆ ต้องคอยตามเก็บ หรือแม้ใครไม่ใช่แฟน ก็เริ่มอยากได้อยากมีเป็นของตนเอง แต่หกาย้อนกลับไปยังขวบปีแรกของแบรนด์ Birkenstock ต้องผ่านการปรับตัวและต่อสู้หลายช่วง เพราะดีไซน์ที่ไม่โดนใจคน แม้จะใส่สบายมากแค่ไหน แถมยังมีภาพลักษณ์ที่แม้หลายคนอยากจะใส่ก็ต้องแอบใส่แค่ในห้องนอน
    .
    การทำธุรกิจแบบ Birkenstock เป็นอย่างไร การปรับตัวของแบรนด์ให้เท่าเทันยุคสมัยแต่ยังคงรากเหง้าของตนเองนั้นเป็นแบบไหน พอดแคสต์เล่าเรื่องธุรกิจอย่าง Biztory ตอนนี้จะเล่าให้ฟัง

  • หลังจากรัฐบาลประกาศแนวคิดเก็บค่าธรรมเนียมรถติดนำร่อง 50 บาท/คัน เพื่อนำมาผลักดันนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย ทำให้ประเด็นนี้เรียกเสียงฮือฮาและกำลังเป็นที่ถกเถียงกันอย่างหนักว่า การเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ที่ทำแล้วสามารถช่วยลดรถติดได้ในหัวเมืองใหญ่ๆ อย่าง ลอนดอน สต็อกโฮล์ม สิงคโปร์ เมื่อมานำมาทำในบ้านเราจะเหมาะสมหรือช่วยแก้ปัญหาได้จริงหรือไม่?
    .
    ค่าธรรมเนียมรถติดเป็นค่าธรรมเนียมที่เรียกเก็บจากผู้ขับขี่ที่ต้องการเข้าไปในพื้นที่ที่มีการจราจรหนาแน่นหรือแออัด โดยเฉพาะในเขตเมืองใหญ่อย่างย่านใจกลางเมืองหรือย่านธุรกิจ เพื่อลดจำนวนรถยนต์บนท้องถนนในช่วงเวลาที่มีการจราจรคับคั่ง รวมถึงส่งเสริมให้ผู้คนใช้บริการขนส่งสาธารณะมากขึ้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่ากลยุทธ์นี้ช่วยลดปัญหารถติดได้จริงถึง 30% ช่วยลดมลภาวะทางอากาศและลดการเกิดอุบัติเหตุได้ รวมถึงเมื่อเก็บเงินแล้วยังนำมาปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานของเมือง เช่น รถบัส รถไฟฟ้า หรือถนนหนทางได้อีกด้วย 
    .
    ในต่างประเทศมีวิธีเก็บค่าธรรมเนียมรถติดยังไงและผลที่ได้กลับมาคืออะไร นอกจากวิธีการเก็บค่าธรรมเนียมรถติดแล้ว ยังมีวิธีไหนอีกบ้างที่จะทำให้นโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายสามารถทำได้ รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.28 ตอนนี้

  • โอเด้งร้อนๆ โดนัทครีมสดเนื้อเนียน เมลอนปังกรอบนอกนุ่มใน และนานาสารพัดของทอดเสียบไม้ เหล่านี้เป็นเพียงเมนูยอดฮิตส่วนหนึ่งของ ‘LAWSON’ แบรนด์ร้านสะดวกซื้อชื่อดัง ที่ถูกยกให้เป็นเพื่อนพึ่งพายามหิวของนักเดินทาง  
    .
    ด้วยเมนูสุดครีเอทไม่ว่าจะประเภทหวานหรือคาว ไหนจะเมนูสุดเอ็กซ์คลูซีฟที่รังสรรค์จากวัตถุดิบชั้นดีซึ่งวางขายในช่วงเทศกาล ไปจนถึงสินค้าเบ็ดเตล็ดทั่วไปที่ต้องใช้ในชีวิตประจำวัน นั่นทำให้ LAWSON ครองตลาดร้านสะดวกซื้อในประเทศท่องเที่ยวสำคัญๆ อย่างญี่ปุ่น ที่ปัจจุบันมีเปิดให้บริการมากกว่า 14,000 สาขา  
    .
    ขณะที่ในประเทศไทยความนิยมในแบรนด์ร้านสะดวกซื้อดังกล่าวก็ไม่น้อยหน้า หลายต่อหลายครั้งบนโลกโซเชียลฯ มักมีการโพสต์แชร์เมนูเด็ดของ LAWSON ไปจนถึงกระทู้ชวนถกว่า LAWSON สาขาไหนที่มีของกินให้เลือกหลากหลายมากที่สุด 
    .
    อย่างไรก็ดี นี่ไม่ใช่กระแสไวรัลชั่วครั้งชั่วคราว เพราะหากมองกันที่ภาพรวม LAWSON ถือเป็นร้านสะดวกซื้อในไทยเพียงไม่กี่แบรนด์ที่ยืนระยะได้อย่างยาวนาน และมีสาขาเปิดรวมกันมากถึง 198 แห่ง ดังนั้นคำถามสำคัญคือกลยุทธ์ใดที่ทำให้ LAWSON ครองใจผู้บริโภคได้อยู่หมัด หาคำตอบได้จาก Bon Appétit ซีซั่น 2 EP.2

  • อายุ 30 แล้ว มีบ้านเป็นของตัวเองหรือยัง? ค่านิยมที่ปลูกฝังพวกเรามาอย่างยาวนานว่าเมื่ออายุมากขึ้นก็ควรมีทรัพย์สินเป็นหลักประกันหรือสิ่งที่ทำให้รู้สึกถึงความมั่นคงบางอย่าง แต่ในวันที่เศรษฐกิจโลกถดถอยและค่าแรงยังไม่ขยับไปไหน การจะมีบ้านสักหลังในกรุงเทพฯ ดูเหมือนจะเป็นเรื่องไกลตัวและราคาก็ดูจะเกินเอื้อมไปสักหน่อยกับมนุษย์เงินเดือน หรือคนทำงานหาเช้ากินค่ำ
    .
    ที่อยู่อาศัยราคาแพงไม่ได้เกิดขึ้นแค่ในกรุงเทพฯ แต่เป็นปัญหาที่มหานครทั่วโลกกำลังประสบพบเจอ คนจำนวนมากต้องย้ายออกไปอยู่ที่ไกลจากตัวเมืองเพื่อหาที่อยู่อาศัยในราคาถูกกว่า ซึ่งทำให้เกิดปัญหาในการเดินทาง การเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางเพิ่มขึ้น และเสียเวลาในการทำกิจกรรมอื่นๆ รวมถึงส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจท้องถิ่น เนื่องจากคนงานต้องย้ายออกไปและไม่สามารถสนับสนุนธุรกิจในพื้นที่นั้นๆ ได้นั่นเอง
    .
    ทำไมที่อยู่อาศัยถึงราคาแพง เก็บเงินกี่ปีถึงจะซื้อบ้านในกรุงเทพฯ ได้ แล้วรัฐจะช่วยให้คนมีที่อยู่อาศัยได้ยังไง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.26 ตอนนี้ 

  • ห่างหายกันไปให้พอคิดถึง วันนี้รายการ ‘Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว’ กลับมาพบกับแฟนๆ และมิตรรักนักชิมอีกครั้ง พร้อมเรื่องราวสนุกๆ และหลากเทคนิคการบริหารธุรกิจอาหารที่คัดสรรโดย เชอร์รี่-มณีเนตร วรชนะนันท์ Host ของเราเหมือนเช่นเคย
    .
    ซีซั่นที่ 2 นี้ ประเดิมด้วยรสชาติแซ่บซี้ดจัดจ้านกับ ‘เผ็ดเผ็ด’ ร้านอาหารอีสาน ที่แต่ละเมนู ‘เผ็ด’ และ ‘เด็ด’ สมชื่อ ไม่ว่าจะส้มตำปูปลาร้าที่น้ำปลาร้าหมักเองกับมือ ตำหลวงพระบางรสนัวใส่พริกจัดเต็ม แหนมย่างรสเด็ดที่ไปแล้วไม่กินถือว่าผิด ไปจนถึงอาหารอีสานอีกกว่าร้อยเมนูที่ผ่านการครีเอทรสชาติ และคัดสรรวัตถุดิบอย่างพิถีพิถัน 
    .
    ‘Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว’ ซีซั่นนี้ มณีเนตรจึงขอประเดิมด้วยการพาไปคุยถึงการครีเอทรสชาติของเผ็ดเผ็ด และค้นเคล็ดก้นครกที่ทำให้ร้านอาหารอีสานสไตล์โฮมเมดร้านนี้เติบโตแบบก้าวกระโดด จนตอนนี้มีร้านเปิดทำการถึง 8 สาขา  

  • สายบิวตี้โดยเฉพาะสายฝอ น่าจะรู้จัก Sephora นี่คือร้านมัลติแบรนด์ความงามสัญชาติฝรั่งเศส ที่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่าก่อตั้งมานานกว่า 50 ปี แถมผู้บุกเบิกยังไม่ใช่ผู้หญิง แต่เป็นชายหนุ่มนาม Dominique Mandonnaud ที่เห็นช่องว่างทางธุรกิจ
    .
    จุดเด่นที่ทำให้ Sephora ยืนหนึ่งในวงการคือการเป็นร้านมัลติแบรนด์ความงามที่ไม่ได้เน้นขายของอย่างเดียว แต่เน้นการสร้างประสบการณ์ และการออกแบบโปรแกรมสมาชิกซึ่งแม้จะไม่มีโปรลงปังถี่ๆ แบบเจ้าอื่น แต่กลับทำให้ลูกค้ากลายมาเป็น loyalty customer ได้
    .
    เคล็ดลับที่ Sephora ใช้บริหารจัดการแบรนด์คืออะไร Biztory ตอนนี้จะพาไปเปิดโต๊ะเครื่องแป้ง เปิด How to สร้างธุรกิจของแบรนด์สัญชาติฝรั่งเศสแบรนด์นี้กัน  

  • ในหนึ่งวันคุณไถโซเชียลมีเดียไปกี่ชั่วโมง และท่ามกลางคอนเทนต์ที่ดูมีครีเอเตอร์สักกี่คนที่จดจำได้ ยิ่งในยุคปัจจุบันที่คนไทยใช้โซเชียลมีเดียถึง 50 ล้านคน ส่วนหนึ่งในนั้นมีครีเอเตอร์อยู่ถึง 3 ล้านคน และมีแนวโน้มที่ครีเอเตอร์หน้าใหม่จะเกิดขึ้นเรื่อยๆ ในขณะที่ยังมีคนดูเท่าเดิม 
    .
    คำถามที่น่าสนใจคือครีเอเตอร์แต่ละคนจะสร้างตัวตนให้โดดเด่นและแตกต่างท่ามกลางวันที่ครีเอเตอร์ล้นจอได้อย่างไร? และหากขยายภาพใหญ่กว่านั้น การที่ประเทศไทยมีครีเอเตอร์มากมายขนาดนี้จะช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจของไทยและทำให้ค่า GDP เติบโตได้หรือไม่?
    .
    รายการ Business Summary EP.16 ตอนนี้ เล็ก–มนต์ชัย วงษ์กิตติไกรวัล พาไปพูดคุยกับ ขจร เจียรนัยพานิชย์ ผู้จัดงาน iCreator Conference เพื่อคลายข้อสงสัยข้างต้น พร้อมพาไปส่องโอกาสและอนาคตของวงการครีเอเตอร์ไทย

  • ‘ตายแล้วไปไหน?’ น่าจะเป็นคำถามนามธรรมที่ยังไม่มีใครหาข้อสรุปได้ แต่ถ้ามองในโลกความเป็นจริง ในบางศาสนาหรือความเชื่อ ถึงจะเสียชีวิตไปแล้วก็ยังต้องการที่อยู่อาศัยเหมือนกับคนเป็นอย่างเราๆ
    .
    พื้นที่ในเมืองมักถูกมองว่าเป็นที่สำหรับใช้ชีวิต ทำงาน พักผ่อนหย่อนใจ และทำกิจกรรมต่างๆ แต่ในอีกมุมหนึ่งโลกหลังความตายก็อยู่เคียงคู่กับเมืองมาเสมอแค่ไม่ได้มาในรูปแบบของบ้าน แต่มาในรูปแบบของสุสาน หรือสถานที่ฝังศพหรือเก็บกระดูกของผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่จะทำยังไงเมื่อที่ดินในเมืองทุกวันนี้เริ่มขาดแคลน ทำให้คนเป็นก็เริ่มหาที่อยู่ยาก ส่วนคนตายก็หาสุสานยากเช่นกัน เมืองยุคใหม่หลายๆ เมืองจึงมีแนวคิดเปลี่ยนสุสานที่เคยเป็นแนวราบ กินพื้นที่เยอะ มาเป็นสุสานบนตึกสูงที่กินพื้นที่น้อยลง แถมยังเก็บได้เยอะขึ้น
    .
    สุสานจะปรับตัวให้เข้ากับเมืองได้ยังไง ทำไมนายทุนยุคใหม่ถึงอยากลงทุนในการทำสุสานมากกว่าสร้างที่อยู่ให้กับคนเป็น รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.26 ตอนนี้ 

  • ที่จริงแล้ว หนังสือราคาแพงไม่ใช่เพราะว่าขายแพง แต่ต้นทุนการทำหนังสือสวนทางกับรายได้ในบ้านเราที่ยังไม่ขยับไปไหน การมีอยู่ของห้องสมุดสาธารณะทุกคนเข้ามาใช้งานได้ฟรี จึงสำคัญมาก เพราะนี่คือหนึ่งในที่ที่ทำให้ทุกคนยังเข้าถึงหนังสือดีๆ หนังสือที่ตรงกับความชอบ หรือหนังสือที่หลากหลายได้อย่างเท่าเทียม

    ทุกวันนี้ห้องสมุดสาธารณะปรับเปลี่ยนตัวเองไปตามยุคสมัยมากขึ้น ทั้งมานั่งทำงานแบบเป็นกลุ่มได้ เอาข้าวน้ำขนมมานั่งกินได้ เป็นพื้นที่เรียนรู้ของชุมชน รวมถึงเป็นที่จัดงานนิทรรศการต่างๆ เรียกว่าห้องสมุดเป็นมากกว่าที่อ่านหนังสือ แต่เป็นแหล่งเรียนรู้ที่ทำให้คนเมืองได้นำความรู้มาพัฒนาเมืองต่อไป เพราะการอ่านเป็นรากฐานสำคัญของทุกๆ เรื่องนั่นเอง

    ห้องสมุดมีความเป็นมายังไง และสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ยังไง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.25 ตอนนี้ 

  • ไม่มีช้อปหรูหรา ไม่จ้างนักกีฬาชื่อดัง แต่สินค้าดีจนคนตามหากันเพื่อให้ได้มาครอบครอง ทั้งยังได้รับการขนานนามว่าเป็น ‘Lamborghini แห่งวงการวิ่งเทรล’ 

    แบรนด์ที่เรากำลังพูดถึง คือ Norda แบรนด์รองเท้าวิ่งเทรลจากแคนาดาที่ก่อตั้งโดยดีไซน์เนอร์ที่หลงรักการวิ่งเทรลเป็นชีวิตจิตใจ Norda แก้เพนพอยต์เรื่องดีไซน์และประสิทธิภาพการใช้งานได้แทบทุกข้อ และแม้ความต้องการจะสูงมากแค่ไหน แต่ Norda ก็ยังพอใจในการเป็นแบรนด์โลอลเล็กๆ 

    เบื้องหลัง Norda แบรนด์ที่เกิดจากแพสชั่นของคนรักการวิ่งจะเป็นยังไง รายการพอดแคสต์ Biztory ตอนนี้จะพาไปลงลึกกัน

  • เราคุ้นเคยกับชั่วโมงการทำงาน 40 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ คิดกลมๆ แล้ว เราทำงานราวๆ 8 ชั่วโมงต่อวัน แต่แนวคิดทำงาน 4 วัน คืออาจปรับลดชั่วโมงการทำงานได้หลากหลายวิธีขึ้นอยู่กับนโยบายของบริษัทหรือองค์กร เช่น จากเดิมทำงาน 5 วัน วันละ 8 ชั่วโมง อาจปรับเป็น 4 วัน วันละ 8 ชั่วโมง แต่ลดชั่วโมงการทำงานลงเป็น 32 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ซึ่งเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมมาก เพราะช่วยให้พนักงานมีเวลาพักผ่อนมากขึ้น หรือถ้าเดิมทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวัน อาจปรับเป็นทำงานวันละ 6-7 ชั่วโมง ใน 4 วัน เพื่อให้ชั่วโมงการทำงานลดลงตามเป้าหมาย เช่น ลดเหลือ 28 หรือ 30 ชั่วโมงต่อสัปดาห์

    ทำไมการทำงานแค่ 4 วัน ถึงเป็นกระแสที่กำลังมาแรง ทำไมหลายประเทศเริ่มให้คนทำงานแค่ 4 วัน แล้วทำไมบางประเทศถึงได้งาน แต่บางประเทศถึงไม่ค่อยเวิร์ก รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.24 ตอนนี้ 

  • Paris 2024 Olympics ที่ผ่านมา เป็นการจัดมหกรรมกีฬาที่สร้างแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก ทั้งในแง่วิธีคิดและการออกแบบที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากที่สุดนั่นก็คือการนำแลนด์มาร์กสำคัญทางประวัติศาสตร์มาออกแบบให้เป็นสนามกีฬากลางแจ้ง และหมู่บ้านนักกีฬาไร้เครื่องปรับอากาศ
    .
    สิ่งนี้เองแสดงให้เห็นว่าประเทศเจ้าภาพต้องเตรียมความพร้อมในเชิงสถานที่เอาไว้ เพื่อต้อนรับเหล่านักกีฬาและผู้เข้าชมที่จะหลั่งไหลเข้ามาเป็นจำนวนมาก แต่คำถามสำคัญต่อมาคือ ‘หลังโอลิมปิก พื้นที่เหล่านี้เอาไปทำอะไรต่อให้เมืองได้บ้าง?’ บางประเทศเจ้าภาพก็ใช้สนามกีฬาสำหรับจัดการแข่งขันกีฬาประเภทอื่นๆ ต่อ บางประเทศก็เปลี่ยนให้เป็นสวนสาธารณะ และพื้นที่ส่วนกลางของเมืองที่เปิดให้ทุกคนได้มาใช้เวลาดีๆ ด้วยกัน
    .
    ประเทศเจ้าภาพครั้งที่ผ่านๆ มา เปลี่ยนสนามกีฬาหลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกให้เป็นพื้นที่สาธารณะอะไรบ้าง และทำไมบางที่ถูกเปลี่ยนให้เป็นแลนมาร์ก แต่บางที่ถูกทิ้งร้าง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมพาทัวร์และไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.23 ตอนนี้

  • ซูชิในความทรงจำของทุกคนเป็นแบบไหน? เป็นซูชิแบบโอมากาเสะ เป็นซูชิในร้านอาหารเชนตามห้าง หรือเป็นซูชิคำละ 5-20 บาทตามตลาดนัด แต่เชื่อว่าช่วงหลายปีมานี้ ภาพจำซูชิของหลายคนน่าจะเริ่มเปลี่ยนไป 

    เป็นของซูชิในจานสีแดง เงิน หรือทองที่เคลื่อนที่ไปบนสายพานด้วยความเร็วคงที่ เสิร์ฟความอร่อยให้เราถึงโต๊ะ ปิดจบด้วยการใช้เครื่องสแกนว่าวันเราทานซูชิไปทั้งหมดกี่จาน รวมแล้วเสียสตางค์ไปทั้งหมดกี่บาท นั่นคือซูชิจากซูชิโร่ ที่เพิ่งมาเปิดในประเทศไทยเมื่อปี 2564 แต่ขยายสาขาไปมากกว่า 20 สาขาในเวลาไม่นาน แถมยังมีคนต่อคิวหน้าร้านเรื่อยๆ 

    ซูชิโระทำยังไงให้ขยายสาขาได้ไว ขยายไปได้ทั่วโลก ทั้งยังทำให้ซูชินั้นเข้าถึงกลุ่มคนได้หลากหลาย และตกคนเข้าไปนั่งมองสายพานได้อยู่เรื่อยๆ รายการพอดแคสต์ Biztory ตอนนี้มีคำตอบ

  • ยอดขายข้าวขาหมูขึ้นเป็น 2 เท่า ในเวลา 1 สัปดาห์, ได้ลงนิตยสาร Time และ National Geopgraphic, ค่ายหนังสัญชาติอเมริกัน A24 เอาไปทำมีม, ส่วน CNN สำนักข่าวระดับโลกก็ลงพาดหัวข่าว – ใช่แล้ว เรากำลังพูดถึงน้อง ‘หมูเด้ง’ ฮิปโปแคระ แห่งสวนสัตว์เปิดเขาเขียวที่ตอนนี้กำลังไวรัลไปทั่วบ้านทั่วเมืองและทั่วโลก

    แต่วันนี้เราไม่ได้จะมาพูดถึงน้องหมูเด้งแบบลงลึกเรื่องสายพันธุ์ แต่จะพาทุกคนมาดูการออกแบบเมืองในมิติของสวนสัตว์กันบ้าง เพราะสวนสัตว์ถือเป็นแหล่งเรียนรู้สำคัญของเมืองที่เปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้มาเห็นและทำความเข้าใจเกี่ยวกับสัตว์ประเภทต่างๆ ส่วนครอบครัวก็ได้มาใช้เวลาดีๆ ร่วมกัน และในทางหนึ่งคนทั่วไปอย่างเราที่ไปสวนสัตว์ก็ได้ความเพลิดเพลินกลับบ้านเหมือนได้พักผ่อนหย่อนใจ

    ชวนมาฟังว่าทำไมน้องหมูเด้งถึงเป็นไวรัลไปทั่วบ้านทั่วเมือง ความเป็นมาของสวนสัตว์แห่งแรก สวนสัตว์ในเมืองมีกี่ประเภท และการมีสวนสัตว์สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับเมืองแค่ไหน รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.22 ตอนนี้ 

  • ถ้าถามว่าแบรนด์ไหนทำคอลแล็บบ่อยที่สุด เชื่อว่าชื่อของ Carnival ร้านมัลติแบรนด์สัญชาติไทยจะเป็นชื่อแรกที่หลายคนนึกถึง นอกจากจะคอลแล็บกับแบรนด์ในอุตสาหกรรมเดียวกันแล้ว Carnival ยังโดดเด่นเรื่องการคอลแล็บข้ามสาย ซึ่งตั้งแต่เริ่มก่อตั้งมา หากนับนิ้วดูแล้ว Carnival คอลแล็บกับแบรนด์ต่างๆ มาแล้วกว่า 200 แบรนด์กันเลย

    การจับมือกับแบรนด์น้อยใหญ่สร้างสรรค์โปรดักต์ใหม่ๆ ออกมายังคงเป็นไปอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดได้จับมือกับแบรนด์ฟาสต์ฟู้ดเจ้าดังอย่าง 'เบอร์เกอร์คิง' ออกแคมเปญ 'BURGER KING MEETS CARNIVAL' ที่ทั้งสองแบรนด์ได้รังสรรค์เบอร์เกอร์เมนูใหม่ในชื่อว่า 'Spicy & Crispy Carnival Burger' ออกมาเอาใจคนไทย และออกคอลเลกชั่นเครื่องแต่งกายแบบลิมิเต็ดเอดิชั่นเท่ๆ ที่นำสี CI ประจำแบรนด์มาผสมกันอย่างสนุกสนาน

    เบื้องหลังการคอลแล็บแสนพิเศษจากสองแบรนด์ดังเป็นมายังไง ก่อนจะออกมาเป็นเมนู BURGER KING MEETS CARNIVAL ได้ต้องคิดอะไรบ้าง การคอลแล็บข้ามสาย โดยเอาของกินกับแฟชั่นมาอยู่ด้วยกันเป็นยังไง รายการ Podcast Bon Appetit ตอนพิเศษนี้จะพาไปสนทนากับ ตุลย์-ชนินทร์ นาคะรัตนาก Digital Marketing Manager บริษัท เบอร์เกอร์ (ประเทศไทย) จำกัด คิง และ ปิ๊น–อนุพงศ์ คุตติกุล หนึ่งใน Co-founder ของ Carnival ถึงเบื้องหลังของแคมเปญนี้

  • รู้ไหมว่ากรุงเทพมหานครติดอันดับ 6 ในลิสต์ 20 เมืองที่ดีที่สุดด้านอาหาร ซึ่งจัดอันดับโดยนิตยสาร Time Out แต่ที่จริง ไม่ต้องมีรางวัลใดๆ มาการันตี ก็เชื่อว่าสำหรับคนไทยที่เรื่องกินเรื่องใหญ่ ก็คงรู้กันดีว่าสตรีทฟู้ดของไทยไม่แพ้ที่ไหน ในช่วงหลายปีที่ผ่านมายังมีร้านอาหารทั้งขนาดเล็กและกลางผุดขึ้นเป็นดอกเห็ดจนบางย่านกลายเป็นสวรรค์ของนักกินไปเลย

    ‘Bon Appétit ธุรกิจรอบครัว’ ตอนพิเศษนี้จึงพาทุกคนไปทำความเข้าใจว่าทำไมบางย่านถึงเด่นด้านอาหารกว่าย่านอื่นๆ ทำไมบางย่านถึงมีรสชาติความเป็นจีนสูง รวมถึงแนะนำ 21 ร้านเล็กร้านอร่อยใน 7 ย่านดัง ที่ถ้าไม่รู้จะกินเมนูดังโดยไม่ต้องต่อคิวหรือหาที่จอดรถยังไง ก็ยังลิ้มรสความอร่อยของย่านได้ที่บ้านง่ายๆ แค่สั่งผ่านแอป Robinhood ที่ให้บริการ Food Delivery ซึ่งกลับมาเปิดอีกครั้ง พร้อมสนับสนุนร้านเล็กๆ ให้โตไปด้วยกัน

    หรือถ้าไม่รู้จะกินอะไรดี ในแอปก็ยังมีร้านเล็กที่น่าสนับสนุนอีกเพียบ และถ้าหากใครสั่งร้านโปรดีดีพลัส และร้านโปรดีดีถึง 250 บาทขึ้นไป ใส่โค้ด KINARAIDEE ก็รับส่วนลดไปเลย 50 บาท แต่โค้ดพิเศษนี้มีจำนวนจำกัด และใช้งานได้ถึง 16 ตุลาคม 2567 เท่านั้น ถ้าไม่อยากตกขบวนความอร่อยก็เข้าแอป Robinhood แล้วไปสั่งกันเลย go.rbh.app/PAgI/ktufaf3y

  • ทุกวันที่ 22 กันยายนของทุกปี คือวัน World Car-Free Day หรือวันปลอดรถโลก เป็นวันที่ทั่วโลกพยายามรณรงค์ให้ประชาชนลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว แล้วหันมาใช้พาหนะที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การเดิน การปั่นจักรยาน และการใช้ระบบขนส่งสาธารณะ
    .
    การมีอยู่ของวันปลอดรถโลกช่วยสร้างความตระหนักรู้ถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการใช้รถยนต์ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่ทำให้โลกร้อน การจัด World Car-Free Day ไม่ใช่การต่อต้านไม่ให้ใช้รถยนต์ แต่เป็นการทำให้เมืองต่างๆ เห็นโอกาสของการได้ทดลองปรับสภาพการจราจรและพื้นที่สาธารณะให้เป็นมิตรกับคนเดินถนนและนักปั่นจักรยานมากขึ้น อีกทั้งยังสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้คนลองเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางและเห็นข้อดีของการใช้ชีวิตที่พึ่งพารถยนต์น้อยลงอีกด้วย
    .
    ในหลายๆ เมืองมีกิจกรรมพิเศษในวันนี้ เช่น ปิดถนนสายหลักให้กับการเดินและปั่นจักรยาน พื้นที่สาธารณะที่เคยเป็นของรถยนต์จะถูกเปลี่ยนเป็นสถานที่จัดกิจกรรมต่างๆ เช่น การแสดงดนตรีสด การเล่นกีฬา หรือนำมาจัดถนนคนเดิน หรือบางเมืองก็ให้ประชาชนใช้บริการขนส่งสาธารณะฟรีในวันนี้ด้วย
    .
    วันไร้รถยนต์มีที่มายังไง การลดใช้รถยนต์แล้วลองเปลี่ยนมาเดินเท้าหรือปั่นจักรยานแทนดีต่อเศรษฐกิจเมืองยังไง รศ. ดร.พนิต ภู่จินดา ภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และหัวหน้าศูนย์สร้างเสริมสุขภาวะเมือง (Healthy Space Forum) พร้อมไขคำตอบแล้วในรายการพ็อดแคสต์ Capital City EP.21 ตอนนี้