Episodit

  • Good Mind อีพีนี้ เป็นส่วนหนึ่งของแคมเปญ ‘The Cloud Golden Week : Happy Young Old’ ที่ The Cloud จับมือกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (SET) เปิดรับวัยอิสระอายุ 45 ปีขึ้นไป ทั้งนักเขียน ช่างภาพ และผู้ดำเนินรายการพอดแคสต์ มารวมพลัง ‘เล่าเรื่อง’ ผ่านสื่อดิจิทัลบนก้อนเมฆเป็นเวลา 1 สัปดาห์ ภายใต้ธีม ‘การเตรียมตัวเข้าสู่วัยอิสระ’ และ ‘การดำเนินชีวิตหลังเกษียณอย่างมีความสุข’

    เนื่องจาก พี่ปุ๊ก-จารุพัชร อาชวะสมิต ผู้เป็นทั้งอาจารย์ ศิลปิน และนักออกแบบสิ่งทอ กำลังสนใจเรื่องสภาวะจิตใจที่เปลี่ยนไปเมื่ออายุมากขึ้น เลยมานั่งเก้าอี้พิธีกรพิเศษ ชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาอธิบายเรื่อง ‘การบริหารความสุข’ สำหรับวัยกลางคน และเตรียมตัวเข้าสู่วัยเกษียณอย่างมั่นคง พร้อมให้แนวทางการช่วยเหลือเบื้องต้นเมื่อเกิดสัญญาณไม่ดีกับตัวเองหรือคนรอบข้าง

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, จารุพัชร อาชวะสมิต

  • บางทีการจะยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือทีมงานเพื่อแบ่งเบาภาระ ก็เป็นเรื่องที่หัวหน้างานทั้งหลายกล้า ๆ กลัว ๆ เพราะไม่รู้ว่าความช่วยเหลือนั้นจะเป็นประโยชน์หรือทำให้ทีมงานลำบากมากกว่ากัน

    ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เลยชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาให้หลัก 2 C 1 S เพื่อใช้ประเมินสถานการณ์ก่อนให้ความช่วยเหลือ

    ขั้นแรก Connect แบบยังไม่ต้องลงมือทำอะไร เข้าไปดูก่อนว่าสถานการณ์เป็นอย่างไร อ่านบรรยากาศก่อน ลำดับต่อมาคือ Clear หมายถึงการทำความเข้าใจก่อนว่าเขาต้องการความช่วยเหลือไหม เขาวางแผนอะไรไว้อยู่แล้วหรือเปล่า และสุดท้ายคือ Support เมื่อเขาต้องการ

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • Puuttuva jakso?

    Paina tästä ja päivitä feedi.

  • บทบาทของแม่ที่ต้องทำงานไปด้วยมีความกดดันหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเวลาที่ต้องแบ่งให้ทั้งการทุ่มเทกับงานและการดูแลครอบครัว หรือความรู้สึกผิดที่เกิดจากการขัดกันของสิ่งที่ตัวเองอยากทำกับความคาดหวังจากคนรอบข้าง

    คุณพ่อผู้เคยเห็นภรรยารับมือกับเรื่องนี้อย่าง ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เลยชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาให้หลักคิดกับคุณแม่ที่เป็น Working Mom เรื่องการสร้างสมดุลระหว่างบทบาทในบ้าน นอกบ้าน การดูแลร่างกายให้แข็งแรงเพื่อใจที่แข็งแรง และการไม่ลืมที่จะหาเวลาอยู่กับตัวเอง

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • คำว่า พื้นที่ปลอดภัย หรือ Safe Zone ไม่ได้หมายถึงพื้นที่ที่ใช้ขังตัวเองเพื่อให้ไม่ต้องเสี่ยงอะไรเท่านั้น แต่ยังหมายถึงพื้นที่สำคัญที่จะทำให้รู้สึกเป็นอิสระ มีความสุข และใช้ศักยภาพได้อย่างเต็มที่

    เป็นสภาวะที่เราพร้อมมีความคิดสร้างสรรค์และอนุญาตให้ตัวเองได้เป็นในสิ่งที่อยากเป็น

    งานที่มั่นคง เงินดี อาจไม่ใช่งานที่ให้ความปลอดภัยทางอารมณ์ และการทำอะไรตามกิจวัตร การไม่ยอมเปลี่ยนแปลงอาจไม่ใช่ Safe Zone อย่างแท้จริง แต่เป็นแค่เกราะป้องกันใจก็ได้

    องค์กรที่ทำให้คนกล้าที่จะผิดพลาด สร้างพื้นที่ปลอดภัยให้กับทีมงาน จะทำให้พนักงานแสดงศักยภาพของตัวเองได้อย่างเต็มที่ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา และ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ เลยมาคุยกันเรื่องทักษะของผู้นำที่อยากเป็นพื้นที่ปลอดภัย คือต้องฟังให้เป็น เข้าใจคน และสิ่งสำคัญที่ต้องคำนึงถึงคือการสร้างความสัมพันธ์แบบระยะยาว

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • ขอบีบมือลูกพี่ทุกคนแรง ๆ ที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงและลาจากของลูกน้องในทีมครั้งแล้วครั้งเล่า บางคนถึงกับบอกว่า ลูกน้องลาออกเสียใจกว่าแฟนบอกเลิกเสียอีก เจ้านายบางคนรู้สึกผิด ทำไม่ดีพอหรือดูแลไม่ดีพอหรือเปล่า ทั้ง ๆ ที่ความจริงแล้วก็เป็นธรรมชาติของมนุษย์ที่ทุกคนต้องมีความเปลี่ยนแปลง

    ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา จึงชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาคุยกันเรื่องนี้ว่า การลาออกของใครบางคนไม่เกี่ยวกับคุณค่าในตัวเรา อาจจะแค่ถึงเวลาของเขาแล้วไม่ได้มีใครผิด การที่คนเข้า-ออกไม่ได้เป็นตัวบอกว่าเราโอเคหรือไม่โอเค เป็นเจ้านายที่ดีหรือไม่ดี แต่เขาจะอยู่กับเรานานแค่ไหนก็ไม่สำคัญเท่าเวลาที่อยู่ด้วยกันเขาได้โชว์ศักยภาพ หรือชอบตัวเองในเวลาที่เขาอยู่ที่นี่

    และคนที่ทำท่าจะลาออก เป็นการ Call for Help ไม่รู้ว่าตัวเองจะมีหนทางสื่อสารยังไง เลยสื่อสารออกมาในรูปแบบว่าอยากจะลาออก แค่ได้คุยหรือถาม ให้เขาได้เล่า เขาอาจจะเปลี่ยนใจก็ได้

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • เรื่องยากติดอันดับต้น ๆ ของคนเป็นผู้นำเรื่องหนึ่ง คือการต้องทำความรู้จักกับผู้ที่มาสมัครงาน ผ่านการสัมภาษณ์เพียงไม่กี่นาที ซึ่งเวลาไม่นานเหล่านั้นจะส่งผลต่อการตัดสินใจที่มีทั้งค่าใช้จ่ายและค่าเสียโอกาสสำหรับทั้งองค์กรและผู้สมัคร

    การทำความรู้จักเรื่องผลงานและประสบการณ์นั้นไม่ยาก แต่การจะรู้ทักษะเรื่อง Soft Skills ของแต่ละคนที่จะส่งผลต่อผู้ร่วมงานนั้นทั้งยากและละเอียดอ่อน ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เลยชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาคุยกันว่า จะลดอัตราการสูญเสียจากการที่คนเข้ามาทำงานแล้วไม่มีความสุข หรือไม่เหมาะกับองค์กรได้อย่างไรบ้าง

    หมอเอิ้นแนะนำสิ่งที่ต้องเตรียมและไม่ต้องเตรียมไปก่อนสัมภาษณ์ พร้อมทั้งให้แนวทางคำถามในการสัมภาษณ์งานให้ได้คนที่ใช่เอาไว้ด้วยนะ

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • บางครั้งคนที่เป็นคู่ชีวิตหรือคนที่มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาก ๆ ก็เป็นคนเดียวกันกับเพื่อนร่วมงานคนสำคัญในโลกธุรกิจ

    ไม่ว่าจะเป็นคู่ชีวิต คนรัก พ่อแม่ พี่น้อง เพื่อน หรือญาติสนิท ความสัมพันธ์ที่จำเป็นต้องมีพื้นที่ทับซ้อนแบบนี้ บางทีความขัดแย้งจากที่ทำงานก็ตามมาถึงในบ้าน ทำให้คนที่ควรจะเป็นจุดพักใจ กลายเป็นคนทำให้ปวดใจแทน

    ปัญหาเหล่านี้หากไม่รับมือให้ดี อาจจะลามไปถึงความสัมพันธ์อื่น ๆ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา เลยชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาบอกเคล็ดลับการเคลียร์พื้นที่ทับซ้อนระหว่างงานกับเรื่องส่วนตัว ที่ต้องรู้แก่นความสำคัญของชีวิตอีกฝ่าย แบ่งพื้นที่ และการเปิดใจทำข้อตกลงให้ชัดเจน

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • ขึ้นชื่อว่าเป็นมนุษย์ ยังไงก็เป็นสัตว์สังคมที่กลัวความโดดเดี่ยว แต่ในตำแหน่งผู้นำองค์กรกลับมีความโดดเดี่ยวที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงมีคำพูดที่มักพูดถึงสิ่งที่ผู้นำต้องเจอว่า “ยิ่งสูงยิ่งหนาว”

    คำว่าหนาว ไม่ใช่แค่เรื่องเชิงพฤติกรรม แต่เป็นเรื่องความรู้สึกในใจด้วย นอกจากทางออกเบื้องต้นคือการหาคนที่เป็นเพื่อนคู่คิดที่ไว้ใจได้แล้ว การดูแลเรื่องความสัมพันธ์ทั้งเพื่อนฝูง ครอบครัว ที่ทำงาน ก็เป็นเรื่องที่ผู้นำที่ไม่อยากโดดเดี่ยวใช้เพิ่มอุณหภูมิความอุุ่นให้หัวใจ ทั้งในวันที่อยู่บนที่สูง และวันที่ต้องก้าวลงจากยอดพีระมิดได้

    ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา ชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาคุยให้ฟังเรื่องการเป็นคนธรรมดาที่ต้องอ่อนแอให้เป็น เป็นผู้นำที่มีความเห็นอกเห็นใจ และการดูแลความสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ผู้นำหนาวน้อยลงอีกนิด

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • ภาวะหมดไฟ มักมีความรู้สึกหมดใจเป็นสาเหตุ และถ้าปล่อยให้ไฟมอดอยู่เนิ่นนานไม่ได้รับการเยียวยา ก็อาจเป็นสาเหตุของการทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพและความรู้สึกห่อเหี่ยวแบบเรื้อรังได้ Good Mind EP. นี้ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา จึงชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาให้ความรู้เพื่อให้เหล่าหัวหน้าคอยสังเกตสมาชิก โดยเฉพาะช่วงที่มีความสุ่มเสี่ยงอย่างช่วงที่งานเยอะ ว่าให้เฝ้าระวัง 3 สัญญาณบอกลางหมดไฟมากเป็นพิเศษ คือ หนึ่ง เห็นว่าเขาดูว่างเปล่า เบื่อหน่าย ไม่แอ็กทีฟอย่างที่เคย สอง เขาเริ่มมีความอดทนน้อยลง เรื่องที่เคยไม่เป็นปัญหาก็ดูจะกลายมาเป็นปัญหา และสาม ประสิทธิภาพงานลดลง รวมทั้งแชร์วิธีการรับมือให้มีประสิทธิภาพ การแนะนำให้พักผ่อนเพื่อสะสมพลัง เทคนิคการชมให้ผู้ฟังรู้สึกได้ว่าจริงใจ รวมทั้งการดูแลสุขภาพกายเพื่อป้องกันภาวะหมดไฟ

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • ถามหมอเอิ้นเรื่อง ‘ทำยังไงให้ไม่รู้สึกผิดเวลาอยากเลิกงานตรงเวลา’ หมอเอิ้นบอกว่าไม่มีอะไรยาก แค่จริงใจ สื่อสาร และวางแผน คนเราจะรู้สึกผิดเมื่อคิดว่ายังทำอะไรได้ไม่ดีพอ หมอเอิ้นจึงชวนให้กลับมาทบทวนว่าเราทำงานของวันนั้น ๆ ลุล่วงแล้วหรือไม่ งานบางอย่างทำเสร็จได้ในวันเดียว แต่งานหลายอย่างที่ทำยังไงก็ไม่เสร็จ การวางแผนตั้ง Small Win ให้แต่ละวันจะช่วยลดความรู้สึกผิดได้

    EP นี้มีเคล็ดลับให้ทั้งเจ้านายและลูกน้อง ที่ต้องร่วมมือกันทำให้การกลับบ้านตรงเวลาไม่ใช่เรื่องผิดและแปลก ด้วยการพิจารณาและคุยกันที่ผลลัพธ์ของงาน มากกว่าระยะเวลาการทำงาน ที่สำคัญคือหัวหน้าต้องทำให้เป็นตัวอย่าง เอื้ออำนวยให้เขาใช้เวลาทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ บริษัทก็จะประหยัดทั้งค่าโอที ค่าแอร์ ค่าที่จอดรถ ลูกน้องก็ได้ไปใช้ชีวิตหลังเลิกงาน มีแต่ Win กับ Win!

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • “เสนอไอเดียอะไร เจ้านายก็ไม่เชื่อ ขายงานกับเจ้านายยากกว่าขายงานลูกค้าอีก” ใครเคยรู้สึกแบบนี้บ้าง และเคยสงสัยบ้างไหมว่า ที่ขายไม่ผ่านนี่เป็นเพราะเจ้านายเยอะ หรือเราที่เยอะกันแน่

    Good Mind EP. นี้ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา จึงชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาเปิดเคล็ดลับการพูดคุยที่จะทำให้การขายงานลุล่วงไปได้ ลดความฟุ้ง ความเยอะ และอีโก้ แล้วมาฟัง 5 ไม้ตายที่จะทำให้เจ้านายหันมารับฟัง ด้วยการสังเกตว่าเจ้านายชอบการสื่อสารแบบไหน ขายแบบมีแผนการ คิดแล้วลงมือทำ มีตัวชี้วัด และไม่ยึดติดกับความคิดของตัวเอง

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • Good Mind Season 2 นี้ว่ากันด้วยเรื่องของคนวัยทำงานและการดูแลลูกน้องให้มีระยะห่างที่เหมาะสมก็เป็นเรื่องที่หัวหน้าหลายคนกังวลใจ เพราะไม่อยากดูแลใกล้เกินไป แต่บางทีลูกน้องก็ฟีดแบ็กว่ารู้สึกโดนทอดทิ้ง

    Good Mind EP. นี้ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา จึงอาสาเป็นตัวแทน ถาม หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ ว่าต้องทำยังไงถึงจะเจอระยะห่างที่พอดี

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • Good Mind Season 2 นี้ว่ากันด้วยเรื่องของคนวัยทำงาน และคนทำงานหลายคนที่รู้ตัวว่าเป็นอินโทรเวิร์ตก็ถึงกับออกปากว่า “ไม่มีวันเป็นหัวหน้าคนได้ นึกไม่ออกเลยว่าจะดูแลลูกน้องได้ยังไง”

    แต่เมื่อเป็นคนทำงานเก่งแล้ว วันหนึ่งก็ต้องขึ้นมาเป็นหัวหน้า Good Mind EP. นี้ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา จึงชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาอธิบายให้คลายกังวลว่า จริง ๆ แล้ว หลายคุณสมบัติในความเป็นอินโทรเวิร์ตนี่แหละที่เป็นคุณสมบัติของการเป็นผู้นำที่ดี แค่มีทักษะที่ต้องหัดเพิ่มเติมเล็กน้อยและไม่ยากเลย

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • Good Mind Season 2 นี้ว่ากันด้วยเรื่องของคนวัยทำงาน และปัญหาที่คนทำงานหลายคนต้องเผชิญ คือ ความกดดันเมื่อได้โปรโมตขึ้นเป็นหัวหน้า ทั้งเรื่องภาวะผู้นำที่บางคนก็ไม่ได้มีติดตัวมา หรือความคาดหวังทั้งจากคนอื่นและตัวเองเรื่องการเป็นหัวหน้าที่ดี

    Good Mind EP. นี้ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา จึงชวน หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ มาให้แนวคิดการเป็นหัวหน้ามือใหม่ ที่ยังอยากสนุกกับงานและเป็นหัวหน้าที่ดีไปด้วย เพราะทุกคนไม่ได้เกิดมาเป็นหัวหน้า แต่หัดกันได้

    แค่คิดอยากเปิดมาฟัง EP. นี้ ก็เริ่มเป็นหัวหน้าที่ดีแล้วนะ

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • ไม่ว่าโปร 1 เดือน 1 ยัน 12 เดือน 12 ที่แพ้มาราบคาบทั้งปี หรือเทศกาลลดกระหน่ำรวมของเซลล์ราคาดีที่แวะเวียนมารบกวนเงินเก็บในกระเป๋าสตางค์อีกครั้งในช่วงปลายปี การช้อปปิ้งถือเป็นยาพาราแก้อาการปวดเศียรเวียนเกล้าจากสารพัดสิ่งในชีวิตได้ดีเสมอ แต่ช้อปอย่างไรให้เป็น ‘Shopping Therapy’ ไม่ใช่ ‘Shopaholic’ พอดแคสต์ Good Mind ตอนนี้ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ ชวน ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา สำรวจวิถีการช้อปปิ้งอีกครั้ง อธิบายตามหลักจิตวิทยาว่าการจับจ่ายใช้สอยทำให้เรามีความสุขได้อย่างไร พร้อมแนะ 6 เทคนิคการช้อปจากหมอเอิ้น เปย์อย่างไรให้ใจเบาแต่กระเป๋ายังตุงอยู่ มาเซฟเงินในกระเป๋าและเอาชีวิตรอดฝ่าดงของเซลล์ตามห้างและเทศกาลช้อปออนไลน์ไปด้วยกัน!

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • วิกฤตไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายในชีวิตเสมอไป มันอาจให้บทเรียนครั้งยิ่งใหญ่และเป็นโอกาสได้ในคราวเดียวกัน หากเรารู้จักมันดีพอและรับมือด้วยหัวใจที่แข็งแรง

    พอดแคสต์รายการ Good Mind คราวนี้ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ และ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา มาชวนคุณผู้ฟังย้อนมองกลับไปสำรวจเส้นทางชีวิตว่าได้ผ่านวิกฤตครั้งสำคัญมาแล้วกี่ครั้ง พร้อมตั้งคำถามว่า หนักหน่วงแค่ไหนจึงจัดเป็นวิกฤตได้ หมอเอิ้นให้หลักเกณฑ์การรู้จักวิกฤตเบื้องต้น และวิธีประมือกับวิกฤตอย่างเชี่ยวชาญ เปลี่ยนวิกฤตเป็นความคิดสร้างสรรค์ได้อย่างไร้กังวล ทำให้ความสุขเดินเคียงคู่กับความสำเร็จ ฟังกลเม็ดเคล็ดลับทั้งหมดได้ในรายการตอนนี้

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • Defense Mechanism หรือ เกราะป้องกันใจ คือกลไกการป้องกันตัวซึ่งเป็นรากฐานของบุคลิกภาพ แต่เรามักหยิบมาใช้อัตโนมัติโดยไม่เคยได้ทันสังเกต

    พอดแคสต์ Good Mind ตอนนี้ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ จึงชวน ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา มาสำรวจเกราะป้องกันใจรูปแบบต่างๆ ตั้งแต่ Introjection ‘แบกโลกทั้งใบไว้ที่ใจเราคนเดียว’ Projection การโยนความคิด การเล่นใหญ่เมื่อเจอปัญหา จนถึงการดื้อเงียบ พร้อมดูว่าเกราะป้องกันใจแบบต่างๆ สะท้อนความเป็นตัวตนแบบไหนออกมา การใช้เกราะเดิมๆ ในการรับมือปัญหามีข้อเสียอะไร เราจะรับมือกับกับดักความเคยชิน และสลับใช้เกราะป้องกันใจไม่ให้จำเจ จนส่งผลต่อความสุขสำเร็จได้อย่างไร หาคำตอบได้ในรายการตอนนี้

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • หลังจากให้เทคนิคการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep Listening) ไปเมื่อคราวก่อน พร้อมแจกการบ้านให้กลับไปฟังคนรอบตัวเล่าเรื่องวันละ 5 นาที โดยห้ามตอบโต้ ตอนนี้ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ และ ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา ชวนอัปเลเวลมาทำความรู้จักการฟังเชิงรุก (Active Listening) ‘ฟังแบบไหน ต้องตอบโต้อย่างไร’ ผ่านเทคนิค ‘LISTEN’ จากหมอเอิ้น

    เริ่มตั้งแต่ทำตัวให้ดูสนใจผู้ฟัง กลวิธีการตั้งคำถามปลายเปิด ไปจนถึงเคล็ดลับพูดทวนประโยคเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ Active Listening ช่วยให้ความสัมพันธ์ดีขึ้นได้แค่ไหน และพาเราไปพบกับทางออกของปัญหาได้อย่างไร ชวนฝึกเทคนิคพร้อมกลับไปพิสูจน์ได้ด้วยตัวเอง

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • ว่ากันว่ามนุษย์มี 2 หู มากกว่า 1 ปาก ก็เพราะพระเจ้าอยากให้เราฟังมากกว่าพูด แต่เราเชื่อว่าทักษะพื้นฐานอย่างการฟัง ที่ดูเหมือนจะง่ายดายจนถูกมองข้าม คือต้นตอปัญหาใหญ่โตมากมาย ขณะเดียวกันก็เป็นกุญแจดอกสำคัญที่จะพาไปสู่ความสุขและความสำเร็จ

    รายการ Good Mind ตอนนี้ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ จึงชวน ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา มาเรียนรู้พร้อมฝึกฝนทักษะการฟังแบบ Deep Listening การฟังอย่างลึกซึ้งด้วยหัวใจ กับ 4 สเต็ปพื้นฐานจาก Theory U ของ อ็อตโต ชาร์เมอร์ (Otto Scharmer) ตั้งแต่รับฟังเพื่อเก็บข้อมูล จนถึงรับฟังเพื่อหาทางออก มาเปลี่ยน ‘ได้ยิน’ เป็น ‘ได้ฟัง’ พร้อมกันได้เลย

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา

  • การสื่อสารคือทักษะขั้นพื้นฐานที่แม้เราใช้กันอยู่ทุกวี่วัน แต่ก็ยังมีปัญหาเกิดขึ้นอยู่บ่อยๆ ยิ่งมีคนบอกว่า ‘การสื่อสารคือกุญแจของความสำเร็จ’ ก็ยิ่งชวนสงสัยว่าจะฝึกฝนให้เก่งขึ้นได้อย่างไร รายการ Good Mind ตอนนี้ หมอเอิ้น-พิยะดา หาชัยภูมิ จึงชวน ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา มาเข้าห้องเรียนจำลอง ชวนสำรวจวิธีการสื่อสารผ่านภาษาเฉพาะของคนแต่ละบุคลิก โดยอ้างอิงกับแบบสำรวจสัตว์สี่ทิศ (DISC Personality) กระทิง อินทรีย์ หมี หนู เราเป็นสัตว์ชนิดไหน คู่สื่อสารน่าจะมีบุคลิกแบบใด แล้วมีเทคนิคการพูดคุยข้ามหมวดหมู่ เต้นรำไปกับภาษาของกันและกันอย่างไร หาคำตอบได้จากหมอเอิ้นในรายการตอนนี้

    ดำเนินรายการ : พิยะดา หาชัยภูมิ, ช้างน้อย กุญชร ณ อยุธยา