Episodes

  • 20 ก.ย. 67 - เผชิญความกลัวด้วยสติ : แต่บางทีการยอมเผชิญหน้ากับมัน กลับพบว่า มันไม่มีอะไรที่น่ากลัว ความเครียดที่เคยเกิดขึ้นกับการต่อสู้ ขัดขืน หรือวิ่งหนี มันก็หายไป กลายเป็นความผ่อนคลาย เพราะฉะนั้น เวลาเรามีความรู้สึกใด ๆ ที่มารบกวนจิตใจ อาจจะไม่ใช่แค่ความกลัว อาจจะเป็นความรู้สึกผิด หรือแม้แต่อารมณ์อื่นก็ตาม รวมทั้งความคิดด้วย การที่ครูบาอาจารย์สอนว่า อย่าไปกดข่มมัน อย่าไปต่อสู้กับมัน แค่ให้รู้ซื่อ ๆ นี่มันเป็นวิธีการที่ช่วยได้มาก มีพลังมาก

    สมัยพุทธกาล มีพระจำนวนมากโดนมารมาหลอก อย่างพระสมิทธิ ภาวนาอยู่ในป่า ปรากฏว่าโดนมารมาหลอกด้วยการทำให้เกิดแผ่นดินไหว พระสมิทธิก็หนีเลย หนีไปเชตวัน พระพุทธเจ้าถามว่าเกิดอะไรขึ้น พระสมิทธิก็เล่าให้ฟัง พระพุทธเจ้าบอกว่า ทีหลัง เวลามันมีแบบนี้อีกนะ พูดกับมารเลยว่า “มาร เรารู้จักเจ้าเสียแล้ว เจ้าทำอะไรเราไม่ได้อีกแล้ว” พระสมิทธิก็เชื่อ พอไปภาวนาอีก เจอแผ่นดินไหวอีก พระสมิทธิรู้เลยว่า ฝีมือมาร ก็เลยบอกว่า “มาร เรารู้แล้วว่าคือเจ้า” แค่นี้ มารก็ถอยหนีเลย มารมันจะมีฤทธิ์มากมายเพียงใด แม้มันจะมีฤทธิ์มากมายกว่ามนุษย์ แต่สิ่งที่มันกลัวคือ การถูกรู้ทัน ไม่ต้องหนีมัน แค่เผชิญหน้ากับมัน แล้วก็บอกมันว่า เรารู้ทันมัน ทุกอารมณ์ต่าง ๆ ก็เหมือนกัน ถ้าเรารู้ทันมัน มันก็พ่ายแพ้ อยู่ที่ว่าเราจะรู้ทัน เพราะมีสติมากพอหรือเปล่า ส่วนใหญ่นี่พอมีความกลัว ก็หนีเลย หนี แล้วก็ปล่อยให้มันหลอกหลอนไล่ล่า แต่ถ้าเราหันหน้าเผชิญกับมัน เราก็สามารถที่จะถอนพิษสง หรือว่าทำให้มันหมดอำนาจขึ้นมาได้ การรู้ซื่อ ๆ หรือการเผชิญหน้ากับอารมณ์ต่าง ๆ ที่เคยรบกวนหลอกหลอนเรา จึงเป็นวิธีการที่สำคัญมากที่ไม่ว่าในยามสุข หรือในยามทุกข์ ในยามปกติ หรือยามป่วยไข้ มันเป็นวิธีที่ทรงพลังมาก ในการที่จะพาใจของเราให้กลับมาเป็นปกติ
  • 19 ก.ย. 67 - ปฎิบัติผิด จิตก็เพี้ยน : ที่จริงครูบาอาจารย์ท่านก็สอนถูก แต่ว่านักปฏิบัติจำนวนมากเอามาใช้ผิด ๆ เพราะว่าพกพาเอาความคาดหวังที่ผิดมาด้วย คือ ปฏิบัตินี่มันต้องไม่มีความคิด ปฏิบัติเพื่อดับความคิด อันนี้เป็นความเข้าใจผิด ไม่ได้เข้าใจว่า ที่จริงแค่รู้ทันมันเท่านั้นเอง อะไรเกิดขึ้นก็รู้

    ปฏิบัติผิดอีกอย่างหนึ่ง คือไหลไปตามความคิด ตรงนี้ที่ทำให้หลายคนเกิดอาการซึมเศร้า วิตกกังวลสูง เพราะว่าพอมันคิดถึงเรื่องที่เจ็บปวดในอดีต ก็จมอยู่กับความคิดเหล่านั้น หรือพอกังวลกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น ก็ไปจมพะวงอยู่กับเรื่องเหล่านั้น แล้วก็จมไม่เลิก เพราะว่าทั้งวันไม่ได้ทำอะไร ถ้าเป็นอยู่ที่บ้าน ก็ทำนู่นทำนี่ ระหว่างที่ทำนั่นทำนี่ พูดคุยกับคน มันก็ลืม มันก็วาง เรื่องที่เคยทำให้เจ็บปวด เคยทำให้ทุกข์ แต่พอมาปฏิบัติ มันมีเวลาว่างทั้งวัน แล้วคนที่ปฏิบัติไม่ถูก ใจมันก็จะไหลไปในความคิด จมอยู่กับเรื่องราวในอดีต หรือไม่ก็ไปพะวง จมอยู่กับการปรุงแต่งเกี่ยวกับภาพในอนาคต เรื่องงานการ เรื่องการเรียน เรื่องพ่อแม่ เรื่องเจ็บป่วย ฉะนั้นจากที่ไม่เคยกังวลก็เลยกังวลหนัก ที่ไม่ซึมเศร้าก็เลยซึมเศร้าไปเลย เพราะฉะนั้น คนที่มีปัญหาทางจิตอยู่แล้ว อาตมาไม่แนะนำให้มาทำสมาธิ หลายคนเป็นโรคซึมเศร้า หลายคนมีลูกซึมเศร้า อยากจะให้มาปฏิบัติ อาตมาบอกว่าอย่าเลย เพราะว่าพอมาแล้ว อาการจะหนักกว่าเดิม
  • Episodes manquant?

    Cliquez ici pour raffraichir la page manuellement.

  • 18 ก.ย. 67 - มีสติเมื่อไหร่ ใจปลอดภัยเมื่อนั้น : พอพูดถึงชัยภูมิ เราก็มักนึกจะนึกถึงชัยภูมิในศึกสงคราม แต่คนเราแม้จะไม่ได้สู้รบตบมือกับใคร แต่ว่าในใจเราก็มีศึกสงครามอยู่ในบางครั้ง กับกิเลส กับความทุกข์ บ่อยครั้งเราก็แพ้ ถูกกิเลสครอบงำ เพราะปล่อยให้ความหลงมันครองใจ แต่ถ้าเรามีชัยภูมิอยู่ข้างในใจ เป็นชัยภูมิที่เปรียบเหมือนกับถิ่นของพ่อ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสคือความรู้สึกตัว

    การที่จิตอยู่ในภาวะของความตื่นรู้ เต็มตื่น เพราะมีสติ เป็นสติที่เรียกว่าสัมมาสติ มันก็ทำให้เรามั่นคง ไม่ว่าจะมีภัยมาคุกคามอย่างไร และหมอคนนั้นพอบอกให้คนไข้จินตนาการถึงที่ที่ปลอดภัย ซึ่งสุดท้ายเขาก็พบว่ามันอยู่กลางใจของเขานี่เอง มันเหมือนกับว่าเขามีชัยภูมิ เพราะฉะนั้นถึงแม้เขาจะร่างกายเจ็บป่วย แต่ใจก็ไม่ได้ทุกข์เท่าไหร่ มีความสงบมั่นคงผ่อนคลาย พวกเราก็ต้องมีสิ่งนี้อยู่ในใจ ที่จริงก็มีอยู่แล้ว เพียงแต่ต้องรู้จักค้นพบให้เจอ และเข้าถึงให้ได้ จะเรียกว่าถิ่นของพ่อ จะเรียกว่าที่ที่ปลอดภัย หรือชัยภูมิ ก็แล้วแต่ และการเจริญสติของเรา จะช่วยเบิกทางให้เราได้ค้นพบสิ่งที่เป็นจุดพักพิง หรือจุดที่ปลอดภัย ที่สามารถจะเป็นชัยภูมิให้กับชีวิตจิตใจของเราก็ได้
  • 17 ก.ย. 67 - ดูแลใจอย่าให้เผลอยึด : แล้วการฝึกสติ การทำความรู้สึกตัวนี้ จริงๆ นอกจากการเจริญสติในรูปแบบแล้วนะ เราสามารถฝึกในชีวิตประจำวันก็ได้ เวลาเราวางของให้วางอย่างมีสติ วางด้วยความรู้สึกตัว วันๆ หนึ่งเราวางของเป็น 100 ชิ้น ไม่ว่าจะเป็นช้อน ยาสีฟัน แปรงสีฟัน ขัน เสื้อผ้า ถ้าเราฝึกสติ เริ่มจากการรู้จักวางของอย่างมีสติ อย่างมีความรู้สึกตัว ทำได้ครึ่งหนึ่งก็ถือว่าใจได้พัฒนาแล้ว

    ถ้าเราฝึกวางของด้วยมืออย่างมีสติ มันก็ช่วยทำให้ใจเรานี้ไม่เผลอยึดอะไรง่ายๆ หรือไม่เผลอยึดด้วยความหลง มันสัมพันธ์กันนะ ฝึกมือให้รู้จักวางของอย่างมีสติ มีความรู้สึกตัว มันก็จะเป็นการฝึกใจไม่ให้ไปยึดด้วยความหลง ด้วยความเผลอ และนั่นก็ทำให้ใจเราไม่ทุกข์ ไม่ถูกบีบคั้นด้วยอารมณ์ต่างๆ ที่เป็นอกุศล
  • 15 ก.ย. 67 - เรียนรู้ของดีจากใจเรา : มีผู้รู้เขาบอกว่า ความโกรธถ้าไม่ไปทำอะไรกับมัน มันก็จะหายไปภายใน 90 วินาที แต่ที่จริงมันหายไปเร็วกว่านั้น มันดับเร็วกว่านั้น แต่หลายคนทนไม่ได้ที่จะรอให้มันดับไปเอง 90 วินาที ก็พยายามกดข่มมัน ปรากฏไปต่ออายุให้มัน ยาวเป็น 900 วินาทีเลย หรือยาวเป็นชั่วโมง นี่เพราะว่าไม่รู้จักเท่าทันมัน ด้วยการรู้ซื่อ ๆ

    ต่อไปไม่ใช่แค่รู้เท่าทัน เราจะได้บทเรียนจากมัน เราจะรู้สัจธรรมจากมันว่า เออ ใจเราไม่เที่ยงเลย แล้วความไม่เที่ยงของใจ มันทำให้เราเข้าใจความไม่เที่ยงของกาย และความไม่เที่ยงของใจ ความไม่เที่ยงของกาย ก็ทำให้เราตระหนักชัดถึงความไม่เที่ยงของโลก ของชีวิต รวมทั้งสิ่งที่เคยสร้างความทุกข์ให้กับเรา มันก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน มันก็ไม่แน่นอน อย่างที่เขาพูดว่าแล้วมันก็จะผ่านไป อันนี้เป็นสิ่งสำคัญ สำคัญกับความสงบ เพราะความสงบส่วนใหญ่ก็เกิดขึ้นชั่วครั้งชั่วคราว กลับไปบ้านก็ไม่สงบ แต่ถ้าเราเข้าใจว่า อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอน รู้จักยอมรับสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้ รู้เท่าทันความคิดและอารมณ์ และเห็นถึงความไม่เที่ยงของสิ่งต่าง ๆ มันก็ทำให้ใจเราไม่ไปยึดมั่นสำคัญหมายกับสิ่งต่าง ๆ จนเป็นทุกข์เมื่อมันไม่เป็นไปดั่งใจ ความสงบก็ไม่เที่ยง เมื่อรู้เช่นนี้เราก็ไม่โหยหา ไม่ยึดติดในความสงบ ไม่สงบเราก็ไม่หวั่น เราก็ไม่ตระหนก เพราะเรายอมรับมันได้ อันนี้แหละคือสิ่งที่เราจะได้เรียนรู้จากการมาเฝ้าดูใจของเรา
  • 14 ก.ย. 67 - อย่าโทษคนอื่นจนลืมมองตน : แต่ที่จริงการสูญเสียทรัพย์ไม่ได้ทำให้เราทุกข์ ที่เราทุกข์เพราะเราไปยึดในทรัพย์ว่าเป็นของเรา ถ้าเราลองมาแก้ที่ใจบ้างว่า ใครเขาจะขโมยไป ช่างมัน อย่างน้อยฉันก็มีเวลาที่จะออกไปเที่ยวข้างนอกบ้าง หรือว่าไม่ต้องทำงานหนักก็ได้ ทำใจว่ามันจะขโมย ก็ขโมยไป เรียกว่าปล่อยวางในทรัพย์ อันนี้ก็มีความสุขได้โดยที่ไม่ต้องเหนื่อยกับการทำงานหนัก

    ไม่ใช่ว่าจะต้องหาทางป้องกันไม่ให้คนมาขโมยทรัพย์สมบัติเสมอไป ต้องทำที่ใจด้วย แก้ที่ใจก็คือว่าไม่ยึดว่าทรัพย์นั้นเป็นของเรา เพราะพอเราไปยึดว่าทรัพย์เป็นของเรา เราก็เป็นของมันเลย อย่างกรณีนี้เห็นได้ชัดเลยว่า แกไปยึดว่าบ้านนี้เป็นของแก สุดท้ายแกก็เป็นของบ้านไปเลย ไม่ไปไหนเฝ้าแต่บ้าน บ้านมันควรจะรับใช้เรา แต่ว่าชายคนนี้รับใช้บ้าน เฝ้าบ้านจนตายคาบ้านเลย อันนี้เพราะไปยึดว่าบ้านเป็นของเรา หรือบ้านเป็นของกู แต่ว่ากลายเป็นว่ากูก็เป็นของบ้านไปแล้ว เพราะฉะนั้นต้องทำงานหาเงิน ทำงานเหนื่อย เพื่อที่จะปกปักรักษาบ้านนี้เอาไว้ รวมทั้งทรัพย์สมบัติ ทรัพย์สิ่งของด้วย แล้วก็ไม่ยอมไปไหน ถ้าหากว่าลองฝึกใจสักหน่อยว่า เราก็พยายามป้องกันไม่ให้ทรัพย์สมบัติถูกขโมย แต่ถ้ามันจะถูกขโมยไปก็ไม่เป็นไร ช่างมัน ปล่อยวางซะบ้าง มันก็จะสุขได้ ไม่ใช่ว่าเราทุกข์เพราะสูญเสียทรัพย์ แต่ทุกข์เพราะไปยึดในทรัพย์นั้นต่างหาก อันนี้คือสิ่งที่คนไม่ได้มอง ก็จะไปแก้ที่นอกตัว ไปจัดการกับสิ่งภายนอก จนลืมจัดการหรือแก้ที่ใจของตัว
  • 13 ก.ย. 67 - ร้ายกลายเป็นดีได้หากวางใจเป็น : คนเรานี้ต้องรู้จักในการเปลี่ยนเคราะห์ให้เป็นโชค เราก็ไม่รู้ว่าเราจะเจออะไรในวันข้างหน้า อาจจะเจอความพิการ อาจจะเจอความเจ็บป่วย อาจจะเจอความผิดหวัง อาจจะเจอความสูญเสีย แต่ถ้าหากว่าเรารู้จักที่จะเปลี่ยนความทุกข์ ให้กลายเป็นความไม่ทุกข์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนว่า หรือรู้จักปรับมุมมองของเรา แทนที่จะเห็นว่าความพิการ หรือว่าเคราะห์เหล่านี้ มันเป็นสิ่งที่เลวร้าย แต่มองว่ามันเป็นประโยชน์

    มันไม่ใช่ง่ายที่คนพิการคนหนึ่ง จะเห็นว่าความพิการมีคุณค่า แต่ว่าชายหนุ่มคนนี้สามารถจะมองเห็นได้ ทั้ง ๆ ที่แกก็อาจจะไม่สนใจธรรมะ แต่แกกลับขอบคุณความพิการ​ เวลาเราเจอสิ่งที่ไม่สมหวัง สิ่งที่มันเป็นเคราะห์ แทนที่เราจะเอาแต่บ่นก่นด่าชะตากรรมของตัวเอง หรือโทษคนนั้นคนนี้ ลองตั้งหลักให้ดี เราจะพบว่ามันมีประโยชน์ สามารถจะเป็นจุดเริ่มต้นให้เราทำสิ่งดี ๆ ให้กับตัวเอง และกับผู้อื่นได้
  • 12 ก.ย. 67 - หาตัวช่วยให้กับใจใฝ่ดี : อย่างไรก็ตาม แม้ตัวช่วยจะมีประโยชน์ แต่เราจะไปพึ่งพาตัวช่วยไปตลอดเวลาก็ไม่ได้ เช่น หลายคนบอกว่า เวลามาวัดแล้วรู้สึกสงบ ไม่เหมือนเวลาอยู่บ้าน หรือเวลาทำงานทำการ อันนี้มันก็ดีอยู่ ความสงบช่วยทำให้สติเติบโตได้ไว ความรู้สึกตัวกลับมาเร็ว​ แต่เราก็ต้องระวังที่จะไม่พึ่งพาหรือพึ่งพิงตัวช่วย เพราะไม่อย่างนั้นจะติดตัวช่วย เช่น ติดสถานที่ที่มันสงบ ๆ เราต้องรู้จักทิ้ง หรือวางตัวช่วยลงบ้าง ไปเจอ หรือไปปฏิบัติ ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่มันวุ่นวาย นอกจากแวดล้อมด้วยกัลยาณมิตรแล้ว บางทีอาจจะไปเจอกับมิตรที่ไม่ค่อยน่ารัก หรือไม่เป็นมิตรเลย ก็เพื่อจะได้เจริญสติ ได้ฝึกสติ ให้เราสามารถที่จะรับมือกับสิ่งกระทบต่าง ๆ ได้

    แล้วไม่ใช่แค่สิ่งกระทบภายนอกอย่างเดียว แม้กระทั่งกิเลสภายใน เราก็ต้องฝึก ให้สติ หรือความรู้สึกตัว หรือปัญญา มันมีกำลังพอที่จะจัดการกับความหลง ความเห็นแก่ตัว หรือกิเลสได้ โดยที่ไม่ต้องอาศัยตัวช่วย อย่างที่ได้พูดมา ตัวช่วยมีประโยชน์ แต่ว่าอย่าพึ่งพิงหรือพึ่งพามันมาก ไม่อย่างนั้นจะติด ขาดตัวช่วยเมื่อไหร่ ก็เสียท่ากิเลส เสียท่าความหลงเมื่อนั้น อันนั้นมันไม่ใช่ทาง เราต้องสามารถจะพัฒนาสติ ความรู้สึกตัว ปัญญา ให้มีกำลังเหนือกิเลสหรือความหลงให้ได้
  • 10 ก.ย. 67 - กับดักที่นักปฎิบัติธรรมควรระวัง : ถึงเวลาเราเจอปัญหาหนักๆ ที่ไม่มีใครหนีพ้น เช่น ความสูญเสีย ความแก่ ความเจ็บ ความป่วย เราก็อยู่กับมันได้ด้วยใจที่ไม่ทุกข์ เพราะว่าเราฝึกมาแล้ว คนที่คิดแต่จะหนีปัญหา คิดแต่จะหวังความสงบความสบาย จะไม่มีทางพบสิ่งเหล่านี้ได้เลย

    เพราะว่าเราต้องเจอกับความพลัดพรากสูญเสียอยู่เสมอ ไม่ว่าจะเป็นของรักหรือคนรัก ต้องเจอกับคำต่อว่าด่าทอ ต้องเจอกับโลกธรรมฝ่ายลบ มีลาภก็เสื่อมลาภ มียศก็เสื่อมยศ มีสรรเสริญก็มีนินทา มีสุขก็มีทุกข์ แล้วต้องเจอความเจ็บความป่วย แต่ถ้าเรารู้จักฝึกใจในการรับมือกับปัญหาต่างๆ เจออะไรใจก็ไม่กระเพื่อม ไม่หวั่นไหว อย่างที่ในบทสวดมงคลสูตร มงคลสูตร 4 ข้อสุดท้ายสำคัญมาก จิตของผู้ใดอันโลกธรรมถูกต้องแล้วย่อมไม่หวั่นไหว ไม่เศร้าโศกด้วยกิเลสเป็นจิตเกษมศานต์ อันนี้คือจุดหมายของเราชาวพุทธเลย ก็คือว่าเมื่อเจอโลกธรรมฝ่ายลบ คำต่อว่าด่าทอ ความสูญเสีย ความเจ็บป่วย ความล้มเหลว แต่ก็ไม่หวั่นไหว ใจไม่กระเพื่อม ไม่ใช่เพราะไม่มีปัญหา ไม่ใช่เพราะว่ารอบตัวมันสมบูรณ์แบบเลิศเลอเพอร์เฟค ถึงแม้มันจะเต็มไปด้วยปัญหาแต่ใจก็สงบได้ สงบแบบนี้ต่างหากที่เราควรจะคำนึง ไม่ใช่สงบเพราะสิ่งแวดล้อม แต่สงบเพราะสามารถจะทำใจให้เป็นปกติได้ ไม่ว่าจะเจออะไรมากระทบก็ตาม เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเรามุ่งหวังแต่ความสงบ ต้องระวังนะว่าเราจะตกกับดักของนักปฏิบัติธรรม ซึ่งสามารถทำให้เรากลายเป็นคนเห็นแก่ตัว ทำให้กลายเป็นคนเอาแต่หนีปัญหา เอาแต่แสวงหาความสบาย สุดท้ายพอเจอความเจ็บความป่วย ความพลัดพรากสูญเสีย รวมทั้งความตายก็ปรากฏว่าทุกข์ทรมานมาก นับว่าเสียประโยชน์ อุตส่าห์ปฏิบัติธรรมมาตั้งนานแต่ว่าพอเจอสิ่งเหล่านี้แล้วไปไม่รอด
  • 9 ก.ย. 67 - เดินทางภายใน จิตใจผ่านตลอด : เหมือนความคิด ความคิดนี่ถ้าเราตั้งชื่อว่าความคิดฟุ้งซ่าน เราจะทุกข์มากเลยเวลามันเกิดขึ้น แต่พอเราเรียกชื่อมันใหม่ว่าความคิดที่รอการเห็นการรู้ มันจะไม่ทุกข์เลย มันจะกลายเป็นเรื่องท้าทายว่า เออ มันเกิดขึ้นแล้วเราเห็นมันได้ไวขึ้นไหม มันจะเกิดขึ้นกี่ครั้ง จะเกิดขึ้นมากเท่าไหร่เราจะไม่ทุกข์ร้อนเลย เพราะมันจะกลายเป็นเรื่องท้าทายว่า เออ เราจะเห็นมันได้เร็ว มันไม่ใช่ความคิดฟุ้งซ่านอีกแล้ว มันคือความคิดที่รอการเห็นจากเรา หรือเห็นจากสติ

    ฉะนั้นปรับใจเสียใหม่ เวลาภาวนาประการแรกก็คือว่า ลืม หรือวางจุดมุ่งหมายไว้ก่อน ให้อยู่กับปัจจุบัน แล้วยิ่งจุดมุ่งหมายคือความสงบนี่ ก็ให้เข้าใจเสียใหม่ว่าไม่ใช่ความสงบจากความคิดหรือสงบเพราะไม่คิด แต่มองว่าสงบเพราะรู้ทัน ถึงตอนนี้เราก็จะฝึกใจให้รู้ทันเร็วขึ้น ๆ ๆ มันจะมีความคิดมากหรือน้อย ไม่เป็นไร เราก็จะรู้ทันอย่างเดียว วิธีนี้ที่ทำให้เราสามารถจะผ่านอะไรต่ออะไรที่เกิดขึ้นในใจได้ แม้กระทั่งทุกขเวทนาที่เกิดขึ้นกับร่างกาย เราก็จะผ่านมันได้ ไม่ข้องแวะ ไม่ติดขัดหรือขัดอกขัดใจเมื่อมันมีความคัน ความปวด ความเมื่อย รวมทั้งเวลามี รูป รส กลิ่น เสียง มากระทบ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ก็ผ่านมันได้ ใจก็โปร่งสบาย ไม่ใช่ว่าไม่มีเสียงดัง แต่ว่าเสียงดังทำอะไรใจไม่ได้เพราะไม่มีการผลักไส ตรงนี้แหละที่ทำให้สงบ สงบเพราะรู้ซื่อ ๆ สงบเพราะรู้แล้วก็วาง รู้แล้วก็ปล่อย
  • 8 ก.ย. 67 - บันไดขั้นต้นของการออกจากทุกข์ : ความทุกข์ของคนเราทุกวันนี้ มันไม่ได้เป็นเพราะทุกข์กาย แต่เป็นเพราะทุกข์ใจ แล้วที่ทุกข์ใจเพราะความหลงนี่แหละ ทุกข์เพราะคิด หรือทุกข์เพราะไม่รู้ทันความคิด ทุกข์เพราะปล่อยให้อารมณ์ครอบงำ หรือพูดอีกอย่างก็คือปล่อยให้ความหลงมาครอบงำใจ แต่ถ้าเรารู้จักออกจากความหลง การออกจากความทุกข์มันก็จะเป็นเรื่องที่ง่ายขึ้น เป็นไปได้

    แล้วเราจะออกจากความหลงได้ อย่างน้อยก็อย่าไปหลงซ้อนหลง เมื่อเวลาหลงก็รู้ว่าหลง แค่นี้ก็ช่วยได้เยอะแล้ว รู้ตัวว่าหลง รู้ว่าหลงมีอาการอย่างไร แล้วก็รู้ทันเวลามันสรรหาเหตุผลมาล่อหลอกเรา เวลามันบอกว่าอีกหน่อยน่า อีกหน่อยน่า อีกนิดน่า เราก็จะไม่เชื่อมันแล้ว หรือเวลามันบอก ครั้งนี้ครั้งสุดท้ายแล้ว เราก็จะไม่เชื่อมันง่าย ๆ หรือเวลาความโกรธ มาบอกว่าถ้าได้ฆ่ามัน ได้ทำร้ายมัน ติดคุกกูก็ยอม เราไม่เชื่อแล้ว ไม่เชื่อว่าจะทำอย่างนั้น หรือยอมตามอำนาจของมัน จะมีเสียงที่ทักท้วงอีกทางหนึ่งว่าเราจะไม่ทำอย่างนั้น เพราะเห็นโทษของมัน แล้วถ้าหากว่าเราทำให้อาการหลงซ้อนหลงมันน้อยลง การออกจากทุกข์ก็จะเป็นเรื่องง่าย เพราะว่าถ้าเรารู้จักรักษาใจไม่ให้หลงซ้อนหลง ถึงเวลามีความหลง ก็ออกจากความหลงได้เร็วขึ้น ออกจากความหลงได้เร็วขึ้นก็ออกจากทุกข์ได้ง่ายขึ้น
  • 7 ก.ย. 67 - เวลาเหลือน้อย ปล่อยวางบ้าง : ฉะนั้นถ้าเราเริ่มต้นจากการที่ไม่เสียเวลาไปกับความทุกข์ ไม่มัวแต่จับจ้องมองเห็นแต่สิ่งที่ไม่ถูกต้อง หรือสิ่งที่ไม่ถูกใจ หรือแม้กระทั่งความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นกับเรา แล้วก็ไม่ปล่อยใจให้ไปเสียเวลากับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง

    โอกาสที่ใจเราจะเปิดรับความสุข หรือว่าเกิดกำลังใจในการทำสิ่งดี ๆ ที่มีคุณค่าที่ทำให้เรารู้สึกภูมิใจกับชีวิตที่ผ่านมา แล้วก็มีความพร้อมในการรับมือกับความผันผวนปรวนแปร ถึงเวลาเราต้องลงจากป้าย ถึงเวลาที่เราลงจากรถเมล์ ไม่ว่าจะป้ายหน้าหรืออีกกี่ป้าย เราก็จะไม่มีความอาลัย พร้อมที่จะลงได้ แล้วก็ไปสู่จุดหมายที่เราต้องการได้ จะทำอย่างนี้ได้ต้องมีสติ เพราะถ้าไม่มีสติ เราจะทำตามนิสัยความเคยชินเดิม ๆ มองเห็นแต่เรื่องลบ จับจ้องมองเห็นแต่ความผิดพลาดของคนอื่นบ้าง ของตัวเองบ้าง หรือไม่ก็หมดเวลาไปกับความทุกข์ ความคับแค้นใจ เสียอารมณ์ไปกับเรื่องที่ไม่เป็นเรื่อง สุดท้ายสิ่งดี ๆ ที่เราควรจะได้รับจากการเกิดมาเป็นมนุษย์ในโลกนี้ ก็ได้แบบกะพร่องกะแพร่ง หรือว่าไม่ได้รับเลย เพราะว่าในใจนี้มันเต็มไปด้วยความทุกข์ มันเต็มไปด้วยความหงุดหงิด อันนี้ก็น่าเสียดายมาก
  • 6 ส.ค. 67 - มองเห็นสิ่งดีๆ จากทุกเหตุการณ์ : ถึงแม้เรายังไม่เห็นสัจธรรมในระดับวิปัสสนา มีความสำคัญมั่นหมายในเรา ในของเราอยู่ แต่อย่างน้อยถ้าหากว่าเรารู้จักคิดบวกอย่างสม่ำเสมอ จนเป็นความเคยชิน จนเป็นนิสัยอย่างหนึ่งของเรา แม้ว่าธรรมะที่เรามีในระดับความคิดเอามาช่วยแก้ปัญหา ความทุกข์ของเราในยามเจ็บป่วย ในยามสูญเสียไม่ได้ แต่อย่างน้อยการรู้จักมองบวกก็จะช่วยทำให้เรายอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ง่ายขึ้น

    ยิ่งถ้าเรามีสติด้วยแล้ว สติที่ช่วยทำให้เราไม่จมอยู่กับความทุกข์ ความเศร้า ความโกรธ ความคับแค้น หรือสติที่ทำให้เรารู้ทันความคิด ที่มันบ่นโวยวาย ตีโพยตีพาย ก็จะช่วยรักษาใจของเรา ให้ออกจากความทุกข์ หรือไกลจากความทุกข์ได้เร็วขึ้น ถึงเวลาป่วย มันก็ป่วยแต่กาย แต่ใจไม่ป่วย ถึงเสียทรัพย์ ก็เสียแต่ทรัพย์ แต่ไว้ใจไม่เสีย สุขภาพไม่เสีย ถึงเวลาที่งานการล้มเหลว มันก็เสียแต่งาน แต่ว่าใจไม่ได้เสียด้วย ไม่อย่างนั้น พอเจอเหตุการณ์แบบนี้ มันเสียทั้งทรัพย์ เสียทั้งใจ เสียสุขภาพ เสียงาน เวลาป่วยก็ไม่ใช่แค่ป่วยกาย แต่ป่วยใจด้วย ยิ่งซ้ำเติมเพิ่มทุกข์เข้าไปอีก เพราะว่าใจที่ชอบคิดลบ ซึ่งมันเป็นนิสัยที่เราสะสมมานาน เราจะไม่ให้นิสัยนี้ครองใจเราได้ ต้องสร้างนิสัยใหม่ คือนิสัยที่รู้จักมองหาประโยชน์จากสิ่งที่เกิดขึ้น หรือหันมาใส่ใจกับสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ เสียเงินเท่าไหร่ ก็ไม่กลุ้มใจ เพราะเห็นถึงเงิน หรือทรัพย์อีกมากมาย รวมทั้งสิ่งดี ๆ ที่ยังมีอยู่กับเรา เช่น พ่อแม่ คนรัก บ้านเรือน ที่ดิน
  • 5 ก.ย. 67 - ทำใจอย่างไรให้ไกลทุกข์ : สติทำให้เห็น ไม่เข้าไปเป็น เห็นความคัน เห็นความปวด ความเมื่อย แต่ไม่เป็นผู้ปวด ไม่เป็นผู้เมื่อย ซึ่งอันนี้ส่วนใหญ่มันจะยากกว่าเห็นความโกรธ ไม่เป็นผู้โกรธ เห็นความเศร้า ไม่เป็นผู้เศร้า อันนี้มันยังง่ายกว่าเห็นความปวดความเมื่อย แต่ไม่เป็นผู้ปวดผู้เมื่อย

    แล้วถ้าเราเห็นดี ๆ ไม่เข้าไปปรุงแต่ง ไม่เข้าไปจดจ่อกับความปวด ไม่ไปกดข่มมัน เราก็จะพบว่า กายปวด แต่ใจไม่ได้ทุกข์ด้วย ตรงนี้แหละ ที่จะช่วยทำให้จิตอยู่เหนือความปวดความเมื่อย เรียกว่ากายป่วยใจไม่ป่วย สติช่วยเราได้มากเลย เวลาร่างกายเราเจ็บป่วย หรือเวลามีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับทรัพย์สมบัติของเรา กับงานการของเรา แต่ว่าใจไม่ทุกข์ ถึงเวลาที่กายมันทุกข์ แต่ใจก็ไม่ได้ทุกข์ตามไปด้วย ฉะนั้นการเจริญสติจึงสำคัญมาก มันเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยรักษาใจให้ไม่ทุกข์ แม้ว่ากายจะทุกข์ก็ตาม
  • 4 ก.ย. 67 - แก้ปัญหา อย่าลืมแก้ที่ใจด้วย : บางครั้งหรือบ่อยครั้ง เมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นกับเราไม่ว่าทางกายทางใจ หากว่าเราพยายามแก้แล้ว ไม่สำเร็จ อย่างหนึ่งที่เราทำได้และควรทำคือ ทำใจยอมรับมัน มันจะช่วยลดความทุกข์จากการต่อต้านผลักไสหรือปฏิเสธ

    อันที่จริงแล้วมันทำให้ใจเราเป็นอิสระจากสิ่งที่เกิดขึ้นได้ คือมันเกิดขึ้นแต่ก็ทำอะไรเราไม่ได้ เหมือนกับรถติด แต่ว่าจิตไม่ตก มันติดก็ติดไป แต่ใจก็ยังปกติ ความเจ็บป่วยก็เหมือนกัน แม้มันจะป่วย ความป่วยยังเกิดขึ้นอยู่ แต่มันก็ป่วยแค่กาย แต่ใจไม่ป่วย แต่ว่าการยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ใช่เป็นเรื่องง่าย เพราะใจเราฝืน ใจเราต่อต้าน ส่วนหนึ่งเพราะมีความคาดหวัง แล้วพออะไรที่ไม่เป็นไปตามความคาดหวัง ก็จะไม่ยอมรับ แต่พอเรายอมรับได้ สิ่งที่เคยเป็นปัญหามันก็ทำอะไรจิตใจเราได้น้อยลง พูดง่ายๆ คือว่า เมื่อมีปัญหา นอกจากแก้ที่ตัวปัญหาแล้ว หรือแก้ที่ปัจจัยต่างๆ แล้ว สิ่งสำคัญคือแก้ที่ใจของเราด้วย ใจที่ต่อต้านผลักไส ปรับให้ยอมรับได้ ยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นได้ ปัญหาก็จะไม่ใช่ปัญหาอีกต่อไป
  • 3 ก.ย. 67 - การปฎิบัติที่ไม่เรียกร้องอะไรจากเรามาก : จะเห็นได้ว่าการเจริญสติเราสามารถจะทำได้กับทุกเรื่องเลย แล้วมันช่วยทำให้เรารู้ตัวดีขึ้น ต่อไปก็ไม่ใช่แค่รู้กาย ก็รู้ใจด้วย รู้ใจนี้ก็รวมถึงความคิด หรืออารมณ์อกุศลมาครอบงำ ไม่ปล่อยให้มันครองใจ

    ต่อไปสิ่งเร้าภายนอก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่เคยกระตุ้นให้โกรธ ให้ทุกข์ ให้เศร้า มันก็มีอิทธิพลต่อจิตใจเราน้อยลง เราก็เป็นอิสระจากมันมากขึ้นเพราะมีความรู้เนื้อรู้ตัว อันนี้ช่วยทำให้เกิดความสงบเย็นในจิตใจ ทำงานทำการอะไรก็ทำได้ดี ทำโดยไม่ทุกข์ เพราะฉะนั้นจึงบอกว่าการเจริญสติเป็นการปฏิบัติที่คนถือตัวว่าเป็นชาวพุทธ หรือหันมาสนใจพระพุทธศาสนาควรจะใส่ใจ
  • 2 ก.ย. 67 - หลงเมื่อใด ทุกข์เมื่อนั้น : กระทั่งปัจจุบันหรือต่อไปในอนาคต ถ้าเราลองถอยกลับมาดูพฤติกรรมของเรา เราอาจจะพบว่าพฤติกรรมที่เรากำลังทำอยู่ หรือจะทำต่อไปนี่มันก็ไม่ฉลาดเลย เพราะว่ามันเป็นการเพิ่มทุกข์ให้กับตัวเอง หรือว่าทำให้เกิดผลเสียกับตัวเอง หลายสิ่งหลายอย่างที่อาตมาพูดมา หลายคนอาจจะบอก โอ้โห เขานี่โง่นะที่ทำอย่างนั้นนะ แต่เมื่อใดก็ตามที่ตัวเองตกอยู่ในอารมณ์เดียวกัน มันก็คงทำเหมือนกันแหละ เพราะว่าขึ้นชื่อว่าความหลงแล้วมันไม่เข้าใครออกใคร จะเป็นพระ เป็นโยม จะเป็นคนฉลาดจบปริญญาเอกหรือไม่ หลงเมื่อไหร่มันก็ทำอย่างนี้แหละ

    แต่ถ้าเกิดว่าเรารู้ว่า เออ ความหลงนี่มันทำให้เราทำผิดทำพลาด หรือทำในสิ่งที่ไม่ฉลาด เราก็จะพยายามกลับมารู้เนื้อรู้ตัว​ อย่างน้อยก็กลับมาใคร่ครวญ ทำอะไรก็ถอยออกมาดูว่า สิ่งที่เราทำมันถูกต้องไหม เพราะไม่อย่างนั้นเราก็สามารถจะทำร้ายหรือเบียดเบียนตัวเองได้ และยังเผลอคิดว่าฉลาดที่ทำอย่างนั้น หรือว่าดีใจที่ทำอย่างนั้น แต่ว่าพอหายหลงแล้วถึงค่อยมารู้ตัวว่า ไม่น่าทำเลย ทำอย่างนั้นได้ยังไงวะ แต่มันก็ทำไปแล้ว
  • 1 ก.ย. 67 - โลกเป็นอย่างไร รักษาใจให้มั่นคง : สำคัญมากคือการที่เรารักษาใจให้มั่นคง แม้ว่าสิ่งอื่นมันจะไม่มั่นคง แม้ว่าสิ่งอื่นมันจะแปรปรวนไป เช่น สุขภาพร่างกาย ฐานะความเป็นอยู่ ครอบครัวที่เคยอบอุ่นกลายเป็นแตกสลาย หรือว่าบ้านเมืองที่มันเคยสงบสุข มันก็วุ่นวาย สิ่งเหล่านี้มันอยู่ในวิสัยที่จะแปรเปลี่ยนไปได้ แล้วเราก็คงจะไม่อยู่ในวิสัยที่จะป้องกันหักห้ามได้ หรือว่าบงการให้เป็นไปดั่งใจได้ แต่สิ่งที่เราทำได้คือรักษาใจให้มั่นคงเอาไว้

    มันจะมีความผันผวนแปรปรวนเกิดขึ้น กับกายอย่างไร กับคนแวดล้อมรอบตัวอย่างไร แต่ว่าใจก็ยังเป็นปกติได้ ส่วนหนึ่งก็เพราะมีปัญญา ปัญญาที่ช่วยให้ไม่ไปยึดติดกับสิ่งต่าง ๆ ไม่เอาสุขไปผูกติดอยู่กับสิ่งรอบตัว ชื่อเสียง เงินทอง คนรัก ครอบครัว แต่ขณะเดียวกันก็มีสติรักษาใจด้วย อะไรเกิดขึ้นไม่ว่าจะเป็นความโศก ความเศร้า ความวิตกกังวล ของพวกนี้ห้ามไม่ได้ แต่เรารักษาใจไม่ให้มันครอบงำได้ ถ้าเรารู้จักรักษาใจให้มั่นคง ความผันผวนแปรปรวนในโลกหรือในชีวิตนี้ มันก็ไม่สามารถทำให้เราเป็นทุกข์ หรือจมดิ่งอยู่ในความเศร้าได้ มันสำคัญมากเลยนะ การรู้จักครองตนครองใจให้มั่นคง ไม่ว่าจะมีความผันผวนแปรปรวนอย่างไร ถ้าเรารักษาใจให้มั่นคงได้ด้วยสติและด้วยธรรมะข้ออื่น ๆ เราก็สามารถจะอยู่ในโลกนี้ได้อย่างปกติสุข แม้ว่าอะไร ๆ รอบตัวมันจะไม่เที่ยงก็ตาม