Эпизоды
-
Пропущенные эпизоды?
-
ความเพียรชอบกับความเพียรอย่างที่เราคิดกันมันคนละเรื่องกัน ความเพียรชอบเพียรลดละกิเลสที่มีอยู่ เพียรปิดกั้นอกุศลใหม่ไม่ให้เกิด เพียรทำกุศลที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น เพียรทำกุศลที่เกิดแล้วให้เจริญให้มากขึ้น จะทำได้ก็อาศัยสติ ไม่ใช่เรื่องอื่นเลย อย่างเรามีกิเลส เรามีสติปุ๊บ กิเลสดับทันทีเลย กิเลสที่มีอยู่ดับ ในขณะที่มีสติอยู่กิเลสใหม่ก็ไม่เกิด เห็นไหมเรามีสัมมาวายามะแล้ว หรือการที่เรามีสติขึ้นมา กุศลได้เกิดเรียบร้อยแล้ว แล้วถ้าสติของเราถี่ยิบขึ้นมา กุศลเราก็จะพัฒนาขึ้นไปเป็นศีล เป็นสมาธิ เป็นปัญญา ถึงจุดหนึ่งวิมุตติก็เกิดขึ้น ความเพียรจริงๆ เป็นแบบนี้ มีสติรู้เท่าทันจิตใจตัวเองไป มันปรุงกิเลสก็รู้ทันไป มันปรุงอะไรก็คอยรู้ไป ในที่สุดจิตก็มีสัมมาวายามะ มีความเพียรชอบ ส่วนที่นั่งสมาธิเดินจงกรมหามรุ่งหามค่ำอะไรแต่ไม่ได้มีสติ อันนั้นไม่ได้มีความเพียร อันนั้นคืออัตตกิลมถานุโยค การทำตัวเองให้ลำบากโดยเปล่าประโยชน์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช บ้านจิตสบาย 27 ตุลาคม 2567
-
หัดรู้สึกตัวไว้ พอรู้สึกตัวได้ แล้วเจริญปัญญา วิธีจะรู้สึกตัวง่ายๆ เลย จิตไหลไปแล้วรู้ ใจมันก็จะตั้งมั่นขึ้นมา ตื่นขึ้นมา ใจตื่นขึ้นมาก็แยกขันธ์ กายกับจิตคนละอัน เวทนากับจิตก็คนละอัน สังขารกับจิตก็คนละอัน จิตกับจิตแต่ละดวงๆ ก็คนละดวง มันจะแยกๆๆ ออกไป แล้วจะเห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วดับ มีเหตุก็เกิด หมดเหตุก็ดับบังคับไม่ได้ ดูไปเรื่อยๆ พอรู้จริงก็จะวาง ที่บอกว่าศีล สมาธิ ปัญญาสมบูรณ์แล้ว ก็จะเกิดอริยมรรค หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 26 ตุลาคม 2567
-
กฎข้อที่หนึ่ง ให้ความรู้สึกเกิดแล้วค่อยรู้เอา อย่าไปรอดู กฎข้อที่สอง เวลาดูดูแบบคนวงนอกไม่เข้าไปคลุกวงใน กฎข้อที่สาม หลังจากที่เราไปรู้อารมณ์แล้ว ถ้าจิตยินดีให้รู้ทัน ถ้าจิตยินร้ายให้รู้ทัน 3 ข้อนี้ก็คือช่วงเวลา 3 ช่วงของการปฏิบัติ อันแรกที่บอกว่าอย่าไปดักดู อันนี้คือก่อนที่สภาวะจะเกิดอย่าไปนั่งจ้อง อันที่สอง ขณะที่สภาวะเกิด ดูเหมือนคนวงนอกไปดู อันที่สาม เมื่อสภาวะเกิดแล้ว จิตยินดีให้รู้ทัน จิตยินร้ายให้รู้ทัน เพราะฉะนั้นก็จะมี 3 ช่วงเวลา ก่อนที่จะกระทบ ก่อนที่อารมณ์จะเกิด ระหว่างที่อารมณ์เกิด เมื่ออารมณ์นั้นเกิดขึ้นแล้ว เราพยายามทำตามกฎ 3 ข้อนี้ แล้วเราจะสามารถเห็นสภาวะทั้งหลายของจิตใจตามความเป็นจริงได้ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช มูลนิธิเพื่อการเผยแผ่ธรรมะภาคภาษาจีนฯ 25 ตุลาคม 2567
-
เราเป็นคนเราต้องรู้จักคำว่ากตัญญู บรรพบุรุษมีบุญคุณ คนไม่กตัญญูใช้ไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านบอกว่า ความกตัญญูเป็นเครื่องหมายของคนดี เราอยากดูว่าคนไหนดีไม่ดี ดูว่าเขากตัญญูไหม ความกตัญญูกว้างขวาง กตัญญูต่อพ่อแม่ครูบาอาจารย์ผู้มีพระคุณ ใหญ่โตขึ้นมาก็คือกว้างขึ้นมาก็คือ กตัญญูกับชาติบ้านเมือง แล้วเราเป็นชาวพุทธเราก็ต้องกตัญญูกับพระพุทธเจ้าด้วย การจะกตัญญูกับพระพุทธเจ้า คือเราต้องเป็นลูกที่เชื่อฟังท่าน อะไรที่ท่านห้ามอย่าทำ อะไรที่ท่านบอกว่าควรทำต้องทำ สิ่งที่ท่านห้ามเราก็คืออย่าทำชั่ว ตั้งอกตั้งใจรักษาศีลให้ดี ให้เราฝึกจิต ให้เราเจริญปัญญา หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 23 ตุลาคม 2567
-
บางคนก็คิดแค่ว่าจะทำบุญ จะฟังเทศน์มหาชาติ จะทอดกฐินหลายๆ วัดอะไรอย่างนี้ แล้ววันหนึ่งจะได้ไปเจอพระศรีอริยเมตไตรย พระพุทธเจ้าองค์ถัดไป แล้วก็จะบรรลุธรรมอย่างง่ายดาย หลวงปู่ดูลย์ท่านบอกไม่ฉลาดหรอก เพราะธรรมะที่พระศรีอาริย์สอน กับที่พระพุทธโคดมสอนก็อันเดียวกัน ถ้ายุคนี้เหลวไหลก็สะสมนิสัยเหลวไหลไปจนถึงยุคข้างหน้า ไปเจอพระศรีอาริย์มันก็เหลวไหลต่อไปอีก มันผ่านพระพุทธเจ้าเป็นจำนวนมาก ก็ไม่หายเหลวไหล ถ้าเราไม่อยากเหลวไหล โอกาสที่จะเจอศาสนาพุทธจริงๆ หายากมาก วันเวลาที่มีพระพุทธศาสนาสั้นนิดเดียวเทียบกับเวลาที่ไม่มี เพราะฉะนั้นในขณะนี้ถือว่าเราเป็นพวกมีบุญพอสมควร รีบมาต่อยอดตัวเองศึกษาปฏิบัติธรรมให้มาก จะศึกษาปฏิบัติธรรมต้องรู้ก่อนว่าเราปฎิบัติไปเพื่ออะไร ปฏิบัติธรรมะเพื่อความดับสนิทแห่งทุกข์ เพื่อจะพ้นทุกข์ ไม่ใช่เพื่อความร่ำรวย หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 20 ตุลาคม 2567
-
เราจะปฏิบัติอันแรกเพื่อความพ้นทุกข์ ข้อสอง ต้องการพ้นทุกข์ก็ต้องดับที่เหตุ วิธีที่จะดับเหตุทำอย่างไร รู้ทุกข์ให้แจ่มแจ้ง ถ้ารู้ทุกข์แจ่มแจ้งเมื่อไร สมุทัยก็เป็นอันถูกละอัตโนมัติ รู้ทุกข์แจ่มแจ้ง คือรู้อะไร อันที่หนึ่ง รู้ถึงความมีอยู่ของรูปธรรมนามธรรม ที่ประกอบกันขึ้นมาเป็นตัวเราของเรานี้ล่ะ อันที่สอง รู้ลึกซึ้งลงไป รูปธรรมนามธรรมทั้งหลาย ที่ประกอบกันเป็นตัวเราของเรานี้ ล้วนแต่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงตรงนี้ได้ เราจะพ้นจากทุกข์ คือหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรมนี้ ถ้าหมดความยึดถือในรูปธรรมนามธรรม ก็คือหลุดจากโลกแล้ว หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 19 ตุลาคม 2567
-
ภาวนา พยายามทำเข้า ลดละความชั่ว สร้างสรรค์ความดีให้ตัวเองไว้ มีโอกาสทำทานก็ทำ อย่าทำจนตัวเองลำบากเดือดร้อน ศีลรักษาให้เต็มที่ สมาธิต้องทำทุกวัน แบ่งเวลาไว้ทำในรูปแบบทุกวันๆ ปัญญาก็เรียนรู้ความจริงของโลกของชีวิตไป ถ้าอินทรีย์เรายังอ่อนเราลองมองทั่วๆ ไป สัตว์ที่เป็นทุกข์สัตว์ที่ลำบากเยอะแยะไปหมด เห็นแล้วใจก็เกิดเมตตากรุณาได้ แล้วก็ไม่เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง ถ้ากำลังของเรามากขึ้น เราก็เรียนเข้ามาให้ถึงรูปนามกายใจของตัวเอง รู้ลงมาที่กาย รู้ลงมาที่ใจ แล้วจะเห็นความจริง ถึงสุดท้ายเราจะเห็น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรเกิดขึ้น นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรตั้งอยู่ นอกจากทุกข์ไม่มีอะไรดับไป ถ้าเห็นอย่างนั้นเรียกว่ารู้ทุกข์แจ่มแจ้ง รู้ทุกข์แจ่มแจ้งก็ละตัณหาได้ทันที นิโรธคือนิพพานก็ปรากฏขึ้นทันที อริยมรรคก็เกิดขึ้นในทันทีนั้น ฉะนั้นเราสะสมของเรา เดี๋ยววันหนึ่งเราก็ดี วันนี้ยังเลวอยู่ก็ลดละเสีย หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 18 ตุลาคม 2567
-
พยายามฝึกตัวเอง มีโอกาสทำความดีอะไรก็ทำเสีย ความชั่วทั้งหลายงด ความดีมีโอกาสทำก็ทำไป ทุกวันทำในรูปแบบ จะได้ฝึกให้จิตมีสมาธิ ให้จิตมีบ้านอยู่ พอจิตใจเรามีกำลังแล้วเราก็มาเจริญปัญญา เรียนรู้ความจริงของร่างกายของจิตใจไป ถ้าเราเห็นความจริงของร่างกาย ว่าร่างกายนี้ต้องแก่ ต้องเจ็บ ต้องตายเป็นธรรมดา ต่อไปอะไรเกิดขึ้นในร่างกาย ใจเราจะไม่ทุกข์ ถ้าเราเห็นความจริงว่า จิตใจเรากระทบอารมณ์ที่ดีบ้างไม่ดีบ้าง ต่อไปเวลาเราเจอสิ่งที่ไม่ดี อย่างคนที่เรารักตายไป จิตใจเราจะไม่ทุกข์ เพราะเราเห็นความจริงแล้วว่า ความรู้สึกทั้งหลายมาแล้วมันก็ไปเหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นพยายามพัฒนาตัวเอง อยู่ในเส้นทางที่ดีที่เล่าให้ฟัง แล้วชีวิตจะมีความสุข ไม่มีความสุขอะไรเสมอเหมือนพระนิพพาน เพราะความสุขอย่างอื่นไม่ยั่งยืนหรอก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 17 ตุลาคม 2567
-
เวลาเราปฏิบัติจิตเราไม่ธรรมดา เราบังคับตัวเอง ถ้าเราอยากรู้สึกตัวเอง รู้ด้วยใจธรรมดาๆ ธรรมดาฟังแล้วง่ายๆ แต่ยาก กว่าจะธรรมดาภาวนาลองผิดลองถูกกันนาน วิธีก็คือ ทำกรรมฐานไป แล้วคอยรู้ทันจิตตัวเอง จิตโลภแล้ว มันอยากสงบเร็ว รู้ทัน ความโลภก็ดับ จิตก็เป็นธรรมดาไม่โลภ นั่งไปแล้วไม่สงบสักที จิตใจหงุดหงิด มีสติรู้ว่าจิตหงุดหงิด มีโทสะ โทสะก็จะดับไป จิตก็จะเป็นธรรมดา จิตที่เป็นธรรมดาคือจิตที่ไม่ถูกกิเลสครอบงำ จิตไม่ถูกกิเลสครอบงำเพราะมีสติ รู้ทันความปรุงแต่งของจิต หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 14 ตุลาคม 2567
-
จับหลักให้แม่น ถ้าเราจะเจริญปัญญา เราอย่าไปปรุงแต่งจิต จิตเป็นอย่างไรรู้ว่าเป็นอย่างนั้น แล้วเราจะเห็น จิตมันเป็นนักปรุงแต่ง เราไม่ได้เจตนาจะโลภ มันก็โลภได้เอง เราไม่ได้เจตนาจะโกรธ มันก็โกรธได้เอง เราไม่ได้เจตนาจะหลง มันก็หลงได้เอง เราเห็นจิตมันปรุงแต่งของมันได้เอง ให้เรารู้ทันความปรุงแต่งของจิต อย่าไปปรุงแต่งจิตเสียเอง จับตรงนี้ให้แม่นๆ จิตปรุงสุขก็รู้ จิตปรุงทุกข์ก็รู้ จิตปรุงกุศลก็รู้ จิตปรุงโลภ ปรุงโกรธ ปรุงหลง ปรุงฟุ้งซ่าน ปรุงหดหู่ ก็รู้ไป ต่อไปเรื่อยๆ เราก็จะเห็นความปรุงแต่งทุกชนิดที่เกิดขึ้น ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่แตกสลาย อยู่ได้ชั่วคราวแล้วก็แตกสลาย ไม่ว่าสุขหรือทุกข์ ดีหรือชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเราบังคับไม่ได้ ควบคุมไม่ได้ มันจะเห็นทั้งเวทนา ทั้งสัญญา ทั้งสังขาร ล้วนแต่ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 13 ตุลาคม 2567
-
ถ้าเราอยากให้ทุกอย่างมันดีตลอด ภาวนาแล้วหวังว่ามันจะดีตลอด มันจะทุกข์ เพราะมันเป็นความหวังลมๆ แล้งๆ ไม่มีจริง ไม่มีใครหรอกที่ภาวนาแล้วจิตเจริญตลอดเวลา ถ้าภาวนาแล้วจิตเจริญตลอดเวลา สิ่งที่เราจะได้มาคือมิจฉาทิฏฐิ เราจะรู้สึกว่าจิตเราเที่ยง จิตเป็นของบังคับได้ เป็นอัตตาตัวตน ทั้งๆ ที่ในความจริงแล้ว ธรรมะได้แสดงธรรมสอนเราอยู่ตลอดเวลา สิ่งที่มันปรุงแต่ง อันเกิดขึ้นมานั้น ล้วนแต่ไม่เที่ยง ล้วนแต่ถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ล้วนแต่ไม่อยู่ในอำนาจบังคับ มันเป็นไปตามเหตุ ไม่ใช่ตามที่เราอยาก อย่างเราภาวนา จิตเราเจริญ สว่าง ผ่องใส ร่มเย็นเป็นสุข ผ่านไป ทั้งๆ ที่ภาวนาเหมือนกันทุกวัน อ้าว มันกลับเสื่อมให้ดู ไม่ต้องตกใจ อันนั้นธรรมะกำลังสอนเราอยู่ ถ้ามันเจริญลูกเดียว เราจะเกิดเป็นมิจฉาทิฏฐิ แต่ถ้าเราเห็นความจริง ว่าสิ่งทั้งหลายเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป เราจะได้ความจริงคือสัมมาทิฏฐิ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 12 ตุลาคม 2567
-
การปฏิบัติ เราต้องให้ถึงพร้อมด้วยศีล ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา ปัญญาต้องเห็นไตรลักษณ์ เห็นว่าทุกอย่างเกิดแล้วก็ดับไปๆ มีแล้วก็หายไป ไม่มีอะไรคงที่ ทำอย่างนี้เรื่อยๆ ถ้าศีลเราไม่ดี สมาธิเราก็พัง พอศีลไม่ดี ใจจะถูกกิเลสเย้า ยั่วยวน ชักจูงไป จิตก็ฟุ้งซ่าน สมาธิเราก็เสีย ไม่ตั้งมั่น แล้วถ้าเราไม่มีศีล เราไปเจริญปัญญา มันจะเป็นปัญญาแบบคนทุศีล ปัญญาแบบตามใจกิเลสปกป้องกิเลส เข้าข้างกิเลส เพราะฉะนั้นตั้งใจ ศีลไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ทำแล้วมีอานิสงส์มาก เราจะได้ประโยชน์ในปัจจุบันได้ประโยชน์ในอนาคต ได้ประโยชน์อย่างยิ่งคือพระนิพพาน หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 6 ตุลาคม 2567
-
ต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 5 ตุลาคม 2567
- Показать больше