Episoder

  • 25 มิ.ย. 67 - ทุกข์เพราะใจ ได้กลายเป็นเสีย : ถ้าเรานึกแบบนี้เอาไว้ก่อน มันก็ไม่ทุกข์มากหากว่าจะต้องเจอ แล้วเรื่องนี้ยังสอนอีกนะ คนหลายคนมักจะถือคติว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก พอมีลดราคาก็รีบซื้อก่อน ก่อนที่จะหมดโอกาส แต่พอซื้อไปแล้วถึงค่อยพบว่า ช้าๆได้พร้าเล่มงาม คนเราบางทีมันก็ยากนะว่าเมื่อไหร่น้ำขึ้นให้รีบตัก

    หลายคนถือคตินี้แหละ น้ำขึ้นให้รีบตัก พอเขาลดราคาก็รีบซื้อเลย กลัวหมด แต่พอผ่านไปสองสามอาทิตย์ สองสามเดือนมันลดกระหน่ำยิ่งกว่าเดิม รู้อย่างนี้รอดีกว่า คนเราบางทีต้องรู้จักถือคติช้าๆได้พร้าเล่มงาม ก็คงไม่มีเหตุจะต้องทุกข์ เป็นเพราะเราเชื่อว่าน้ำขึ้นให้รีบตัก ก็เลยต้องมาเสียใจ แต่ถ้าวางใจถูกมันก็ไม่มีเหตุผลต้องเสียใจ ทั้งหมดนี้มันไม่ใช่เป็นเรื่องได้หรือเสีย มันเป็นเรื่องการมอง มองไม่เป็นได้คือเสีย มองไม่ถูกมากก็คือน้อย มองไม่เป็น ซื้อถูกก็เข้าใจว่าซื้อของแพง ต้องกลับมาทักท้วงใจเราบ้าง อย่าปล่อยให้ใจมันเล่นตลกหรือปั่นหัวเรา ปัญหาที่ไปเชื่อความคิดในหัวเรามากเกินไป มันถึงทุกข์ กลุ้มใจจนนอนไม่หลับใจได้กลายเป็นเสีย
  • Mangler du episoder?

    Klikk her for å oppdatere manuelt.

  • 24 มิ.ย. 67 - ชีวิตสมบูรณ์แบบได้ด้วยการลดละ : การที่คนเรานี่คิดแต่จะเอาอย่างเดียวนี่มันมันไม่พอ มันต้องคิดถึงการให้ด้วย การได้แชมป์หรือการยิงประตูเข้าเนี่ย อย่างที่บอกนะเป็นเรื่องยากก็จริง แต่การสละโอกาสที่จะได้แชมป์สละโอกาสที่จะยิงประตูเข้าเพื่อให้เพื่อนร่วมทีมเขาได้ยิงประตู หรือว่าสละโอกาสเพื่อไปช่วยเพื่อนมนุษย์ที่กำลังลำบากเนี่ย อันนี้เป็นสิ่งที่ทำได้ยากกว่า แล้วเพราะฉะนั้นใครที่ทำได้เนี่ยจึงได้รับการชื่นชมสรรเสริญ

    อันนี้เป็นคุณธรรมที่เราทุกคนควรจะตระหนัก อย่าคิดถึงแต่การได้ แต่ต้องนึกถึงการให้ด้วย เพราะว่าอันที่จริง ถึงเวลาที่คนเรากำลังจะหมดลม เมื่อคนเราใกล้จะตายมันไม่ค่อยได้คิดหรอกว่า มีอะไร ได้อะไร สิ่งนั้นไม่ได้ช่วยเลย กลับทำให้ทุกข์เสียอีก แต่สิ่งที่ทำให้เราภูมิใจในชีวิตที่ผ่านมา แล้วก็สามารถที่จะยอมรับความตายได้ คือการที่เราได้ทำความดี ได้ช่วยเหลือผู้คน ได้เสียสละ ได้ทำสิ่งที่มีคุณค่า เงินทองที่ได้หรือรางวัลที่คนอาจจะพูดถึงชั่วคราว แต่ที่คนเขาจะกล่าวถึงยาวนาน คือความเสียสละ ความมีน้ำใจ ความขเอื้อเฟื้อ อันนี้คือสิ่งที่สำคัญกว่า ซึ่งนับวันในวงการกีฬาก็จะลบเลือนไป สิ่งที่โรนัลโด้ทำ ชี้ให้เห็นเลยว่า การยิงประตูเข้าททนี่มันไม่สำคัญเท่ากับการที่เปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมทีมได้ยิง อันนี้คือน้ำใจที่ใครๆ ก็สรรเสริญ
  • 23 มิ.ย. 67 - สุขเพราะช็อป ก็ทุกข์เพราะช็อป : เวลาใจเราไม่ยอมรับกับประสบการณ์บางสิ่งบางอย่าง หรือว่ายังรู้สึกเสียดายเงิน ไม่ต้องการจ่ายแพง หรือรู้สึกละล้าละลังเวลาจะซื้อของอะไร บางทีก็ต้องอาศัยการตัดใจ ยอมรับผลที่เกิดขึ้น แล้วก็ฝึกใจปล่อยวาง เรียกว่าเป็นการกล่อมเกลาจิตใจ แล้วที่สำคัญ ต้องเตือนใจว่า “ถ้าปรารถนาความสุขจากการซื้อของ ก็ต้องเตรียมใจทุกข์กับการซื้อของได้เลย”

    คนเรามักจะมองเห็นแต่ด้านดี “โอ ซื้อของ ฉันจะได้ของใหม่ มีความสุขกับการช็อป” แต่ลืมไปว่าอะไรที่ให้ความสุขกับเรา ก็สามารถจะทำความทุกข์ให้กับเราได้ ของที่เราพอใจที่ได้ซื้อมาเมื่อเช้า ตกบ่ายมันกลับกลายเป็นตัวทิ่มแทงใจเรา เพราะมันกลายเป็นของแพงไปเสียแล้ว อันนี้เป็นข้อเตือนใจคนเราได้อย่างดีเลย “สุขเพราะอะไร ก็เตรียมใจทุกข์เพราะสิ่งนั้นได้” ฉะนั้น ถ้าจะให้ดีก็อย่าไปปล่อยใจเพลินหรือมีความสุขกับสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาก เพราะว่าวันดีคืนดีมันก็สามารถจะทำให้ใจเป็นทุกข์ได้ โดยเฉพาะผู้คนที่ปรารถนาความสุขจากการช็อป จากการซื้อ โดยเฉพาะซื้อของถูกนี่ ถ้าวางใจไม่ถูก มันก็จะเจอความทุกข์ชนิดที่ไม่คุ้มกับเงินทองที่เสียไปเลย
  • 21 มิ.ย. 67 - เติมสติให้เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต : ถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อย ๆ จะเห็นเลยว่า ความคิดนี่แม้ว่ามันจะยืดจะยาวเป็นสาย แต่จะมีจุดหนึ่งที่เกิดความระลึกได้ หรือความรู้ตัวขึ้นมา พอรู้ตัวขึ้นมานี่ ความคิดที่ยืดยาวเป็นสายสะดุดเลย เหมือนกับว่าจิตหลุดจากความคิด หรือกระแสความคิดนั้น คนเรานี่ไม่ใช่ว่าจะหลงไปได้ตลอด จะหลงไปถึงจุดหนึ่งหรือฟุ้งไปในจุดหนึ่ง ก็เกิดความรู้สึกตัวขึ้นมา หรือรู้ตัวว่าเผลอไป แล้วสิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ จิตจะกลับมา กลับมาอยู่กับการปฏิบัติ กลับมาอยู่กับการทำในสิ่งนั้นๆ ในปัจจุบันขณะ เช่น ฟังบรรยายหรือสวดมนต์ ขณะที่ฟังบางช่วงใจลอย คิดถึงลูก คิดถึงงานการ แต่แล้วความคิดนี่ก็เกิดหยุด สะดุด เพราะเกิดความรู้ตัว ตรงนั้นแหละแปลว่าสติทำงานแล้ว

    สติ คือความระลึกได้ เมื่อเราระลึกได้ว่ากำลังทำอะไรอยู่ นั่นคือสติ และการปฏิบัติของเราก็คือทำให้เกิดความระลึกได้บ่อยๆ จะระลึกได้บ่อยๆ ก็ต้องทำเยอะๆ ให้เวลามากๆ ชั่วโมงแรกๆ อาจจะรู้สึกตัวหรือระลึกได้แค่ 6-7 ครั้ง ที่เหลือคือฟุ้ง แล้วก็หลง แต่พอเราทำบ่อยๆ ทำเยอะๆ จะระลึกได้บ่อยขึ้น ไม่ใช่ 5-6 ครั้งใน 1 ชั่วโมง แต่ว่าอาจจะ 9 หรือ 10 ครั้งใน 1 ชั่วโมง และถ้าทำต่อไปอีกวันรุ่งขึ้นก็อาจจะระลึกได้ไม่ใช่ 9 หรือ 10 ครั้งแล้ว แต่ 15 ครั้ง แปลว่าอะไร แปลว่าความคิดมันสั้นลง ๆ เคล็ดลับของการปฏิบัติก็คือ เคล็ดลับของการเจริญสติก็คือทำให้ความรู้สึกตัวมันเกิดขึ้นบ่อย ทำให้ความระลึกได้เกิดขึ้นบ่อยๆ จะเกิดขึ้นได้บ่อยๆ คือต้องทำเยอะๆ แล้วก็ทำแบบไม่ได้คาดหวัง เพราะถ้าคาดหวัง ไปจ้อง ไปเพ่ง ไปทำงานแทนสติ แทนที่จะปล่อยให้สติทำงาน ก็อาจจะไม่ได้ผลเท่าไหร่ ต้องให้สติมันทำงานเอง หรือเกิดความระลึกขึ้นมาได้เอง สิ่งที่เราทำได้คือให้โอกาสสติเขาได้ทำงานบ่อยๆ ให้โอกาสสติทำงานบ่อยๆ คือการที่เราให้เวลากับการปฏิบัติเยอะ ๆ
  • 20 มิ.ย. 67 - ขุมทรัพย์ล้ำค่ากลางใจ : แต่ก่อนเถียงกันแบบเอาเป็นเอาตายเพื่อปกป้องความคิดใดความคิดหนึ่ง พอออกมาดูความคิดนั้นก็รู้ว่าไม่มีอะไรเลย แล้วก็อดสงสัยไม่ได้ว่าทําไมตอนนั้นเราไปเป็นบ้าเป็นหลัง เอาเป็นเอาตายกับการปกป้องความคิด หรือตอนจมอยู่ในอารมณ์ ขลุกอยู่ในอารมณ์ก็ถูกอารมณ์ปั่นหัวจนกระทั่งต้องทำตามอำนาจของมัน แต่พอถอยออกมาจากอารมณ์นั้นก็พบว่าไม่มีอะไรเลย ไม่มีค่าควรแก่การใส่ใจด้วยซ้ำ และพบว่ามันไม่ได้มีอำนาจเหนือใจเราขนาดนั้น ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเศร้า พอเราถอยออกมาดู มันหมดพิษสงไปเลย กลายเป็นสิ่งที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

    แต่ตอนที่เข้าไปขลุกอยู่ในอารมณ์ มันเป็นเรื่องที่ยิ่งใหญ่มาก เวลาโกรธถึงกับโวยวายว่า ถ้ากูไม่ด่ามัน กูไม่ได้ทำร้ายมัน เป็นหมาดีกว่า แต่พอถอยออกมาจากอารมณ์เหล่านั้น โอ้ หัวเราะเยาะมันได้เลย มันทำอะไรเราไม่ได้ การถอยออกมาทำให้เราเห็น เห็นอย่างที่มันเป็น และเห็นว่ามันไม่ใช่เราด้วย แต่ก่อนไปคิดว่า มันเป็นเรา ๆ ๆ ความคิดก็เป็นเรา อารมณ์ก็เรา แต่ที่จริงมันไม่ใช่เราเลย พอเห็นความจริงว่ามันไม่ใช่เรา มันหมดพิษสงไปเลย ความคิดและอารมณ์นั้นไม่ว่าจะเป็นความอยาก ความโลภ ความโกรธ ความหงุดหงิด การเจริญสติ ก็คือ การทำให้ใจถอยออกมาเป็นผู้ดูผู้เห็น ไม่ใช่ผู้เป็น บางครั้งการที่เราจะรู้จักอะไรดี ต้องอาศัยการถอยออกมา แล้วเราจะพบว่า ความทุกข์ที่เราเคยเอาเป็นเอาตายที่จริงมันไม่มีอะไรเลย และการที่เราถอยมาทำให้เราได้เห็นสิ่งที่มีค่าที่มีอยู่แล้วในใจของเราด้วยก็ได้
  • 16 มิ.ย. 67 - สวดมนต์ให้ได้ทั้งบุญและธรรม : เวลาเรามาสวดมนต์ อย่านึกถึงแต่บุญ ให้นึกถึงธรรมะด้วย เราสามารถจะเรียนรู้ธรรมจากการสวดมนต์ได้ ไม่ว่าจากการอ่านบทสวดมนต์ ถ้าเป็นภาษาไทยหรือมีการแปล เราก็ได้ธรรมะ อย่างเช่น ภารา หะเว ปัญจักขันธา ขันธ์ทั้งห้าเป็นของหนักเน้อ การสลัดของหนักทิ้งลงเสียเป็นความสุข ความสุขไม่ได้เกิดจากการได้ แต่เกิดจากการสลัด สลัดของหนัก นี่ก็ธรรมะ

    หรือว่าฝึกสติในขณะที่สวดมนต์ นี่ก็ธรรมะ ฝึกสติ ใจไหลใจลอยไปไหนก็ดึงกลับมา ใจหงุดหงิดขุ่นมัวก็ให้ปล่อยให้วางสิ่งที่ทำให้วิตกหรือหงุดหงิดขุ่นมัว ถ้าเราเข้าใจจุดมุ่งหมายของการสวดมนต์ได้ถูกต้อง เราก็จะได้ทั้งบุญทั้งธรรม เวลาทำบุญเราก็ได้ทั้งบุญและธรรม ไม่ว่าจะทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน หรือทำบุญด้วยการรักษาศีล
  • 14 มิ.ย. 67 - ยิ่งกดข่ม ใจยิ่งทุกข์ : จะดีกว่าถ้าเกิดว่ามันมีความรู้สึกหรืออารมณ์ใดเกิดขึ้นก็แค่รับรู้มัน อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่าให้รู้ซื่อ ๆ คืออันนี้แหละที่เคยพูดว่านักปฏิบัติเราต้องเป็นผู้ใฝ่รู้ รู้ในที่นี้คือรู้แบบรู้ซื่อ ๆ รู้โดยไม่ตัดสินว่า ดีหรือชั่ว เพราะถ้าตัดสินว่ามันชั่วก็จะเผลอกดข่มมันเอาไว้ อย่างที่เกิดขึ้นกับ 2 ตัวอย่างหลัง

    แต่ถ้ารู้โดยที่ไม่ต้องไปตัดสินว่าดีหรือชั่ว ไม่มีการวิพากษ์วิจารณ์ แค่รู้ซื่อ ๆ มันโกรธก็รู้ว่าโกรธ มันอิจฉาก็รู้ว่าอิจฉา มันอยากได้หรือมีจิตปฏิพัทธ์กับสามีของพี่สาวก็รู้ ทำตามมันก็ไม่ได้ เกิดข้อเสีย เกิดปัญหาตามมา แต่ถ้าไปกดข่มมันเอาไว้ก็มีปัญหา การรู้ซื่อ ๆ นี้มันช่วยได้เยอะทีเดียว แล้วทุกวันนี้คนจำนวนมากมีความทุกข์เพราะกดข่มความคิดที่ไม่ดี ที่มันไม่ควรจะเกิดในใจของตัว อาจจะไม่ใช่โกรธ หรือว่ามีราคะ หรืออิจฉา แต่อาจจะรู้สึกไม่ดีที่มีเสียงจ้วงจาบครูบาอาจารย์ มีเสียงต่อว่าพ่อแม่ ผู้มีพระคุณ หรือบางทีก็จ้วงจาบพระพุทธเจ้า พยายามกดข่มมันเอาไว้ ไม่สำเร็จสักราย แล้วก็ไม่มีความสุขด้วย จนกว่าจะยอมรับว่า มันมีความคิดแบบนี้ ไม่ปฏิเสธ ไม่ผลักไส แต่ก็รู้ว่ามันไม่ใช่เรา พอไปคิดว่ามันเป็นเราเมื่อไหร่ เสร็จเลย มันจะรู้สึกแย่กับตัวเอง แต่ถ้ามองว่ามันไม่ใช่เรา มันเป็นเรื่องที่คิดขึ้นได้ ความคิดที่เลวร้าย หรือ ความคิดแบบอุบาทว์ มันไม่ใช่เรา ที่จริงถ้ามีสติรู้ซื่อ ๆ มันก็ไม่รู้สึกด้วยซ้ำว่าเป็นความคิดอุบาทว์ มันก็แค่สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นธรรมดา แล้วก็จะผ่านเลยไป
  • 13 มิ.ย. 67 - ใฝ่รู้ อย่าใฝ่เสพ : ถ้าสร้างนิสัยใฝ่รู้จะนําไปสู่นิสัยใฝ่ธรรม ถ้าเราใฝ่รู้ ขยันรู้ว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับกายและใจ ยิ่งรู้ก็ยิ่งสนุก ยิ่งเพลิดเพลิน และยิ่งเกิดฉันทะในการเพียร ในการทำ ถึงแม้ว่าบางครั้งจะมีความฟุ้งซ่าน บางครั้งใจไม่สงบเลย แต่ถ้าใฝ่รู้แล้ว ไม่สงบก็รู้ว่าไม่สงบ ฟุ้งซ่านก็รู้ว่าฟุ้งซ่าน นี่ถือว่าได้กําไร

    แต่ถ้าใฝ่เสพ ใฝ่เสพความสงบ พอฟุ้งซ่าน พอมีความคิดมาก ๆ หงุดหงิดหัวเสีย บางทีจะท้อ ไม่อยากปฏิบัติ ทำแล้วฟุ้งซ่าน ทำทีไรก็ฟุ้งซ่าน ความคิดเยอะเหลือเกิน แต่นักปฏิบัติที่ใฝ่รู้ ความฟุ้งซ่านก็ให้ความรู้กับเรา เพราะว่าดูจิตก็เห็นธรรม จิตที่ฟุ้งซ่านก็สอนธรรมให้กับเราได้เยอะแยะ เช่นเดียวกับร่างกายที่ป่วยก็สอนธรรมให้กับเราได้เหมือนกัน
  • 12 มิ.ย. 67 - ในบวกมีลบ ในลบมีบวก : อาจารย์พุทธทาสท่านก็บอกว่าความเจ็บป่วยมาเตือนให้ฉลาด ป่วยทุกครั้งก็ฉลาดทุกที เพราะว่าความเจ็บป่วยเขาสามารถสอนธรรมให้เราเห็นเรื่องความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน ซึ่งถ้าเราเข้าใจก็พ้นทุกข์ได้

    ในทุกข์นี่มีหนทางแห่งความพ้นทุกข์อยู่ เหมือนกับสวิตช์ไฟ สวิตช์ไฟจะใช้ปิดจนห้องมืดก็ได้ หรือจะเปิดเพื่อห้องสว่างก็ได้ หรือเหมือนกับประตู ประตูมันจะขังเราก็ได้ หรือประตูมันจะเปิดสำหรับเป็นอิสระก็ได้ รูกุญแจก็เหมือนกัน รูกุญแจนี่มันสามารถจะขังเรา แต่รูกุญแจรูเดียวกันก็สามารถจะเปิดให้เราพบอิสรภาพหรือออกจากทุกข์ได้ ฉะนั้นเวลาเจอทุกข์ อย่าจมอยู่กับความรู้สึกลบ เพราะว่าในทุกข์มันก็มีทางออกจากทุกข์ แม้กระทั่งสิ่งที่เราไม่ปรารถนา เช่น ความคิดฟุ้งซ่านในเวลาปฏิบัตินี่มีประโยชน์ อย่างที่หลวงพ่อคำเขียนท่านเทศน์ว่า มองกายเห็นจิต มองคิดเห็นธรรม คิดนี่หมายถึงความคิดฟุ้งซ่าน ถ้าเราดูดีๆ ก็เห็นธรรมจากความคิดฟุ้งซ่านได้ ไม่ใช่ว่ามันจะเป็นโทษ ก่อความว้าวุ่นกับเรา อันนี้เรียกว่าในลบมีบวก ขณะเดียวกันเมื่อเราเจอบวก เราก็อย่าไปหลงกับมัน เพราะว่าในบวกมันก็มีลบแทรกอยู่เหมือนกัน
  • 4 มิ.ย. 67 - ทำอะไรใจไม่ลืมเป้าหมาย : หลายคนอยากจะทำงานให้มันได้ดี ได้เร็ว ได้สะดวก ก็ต้องมีรถ มีรถเพื่ออะไร เพื่อจะได้ทำงานได้ดี ได้สะดวก แต่ไปๆ มาๆ กลับกลายเป็นว่าทำงานเพื่อจะได้มีเงินผ่อนรถ มีเงินค่าน้ำมันรถ มีเงินค่าซ่อมรถ ดูแลรถ มันกลับกันเลยนะ แต่ก่อนนี่รถมีไว้เพื่อจะได้ทำงานสะดวก แต่ตอนหลังนี่กลับกลายเป็นว่าทำงานเพื่อจะได้มีเงินเอาไว้ผ่อนรถ สิ่งที่เคยเป็นเป้าหมาย มันกลับลดระดับกลายเป็นอุปกรณ์ไปแล้ว สิ่งที่เราคิดว่าเป็นอุปกรณ์ที่จะส่งเสริมเป้าหมาย มันกลับกลายเป็นเป้าหมายในตัวมันเองอยู่แล้ว

    แล้วเป็นอย่างนี้กันเยอะเพราะว่าอะไร เพราะว่าเราไม่ค่อยได้ตั้งคำถาม ไม่ค่อยได้ตรวจสอบ ไม่ค่อยได้มีโอกาสได้ใคร่ครวญว่าเราทำไปเพื่ออะไร อันนี้เรียกว่าขาดสติก็ได้ ทำไปๆ มันลืม ลืมว่าเราทำไปเพื่ออะไร หลายคนสนใจภาวนา แล้วคิดว่าจะภาวนาได้มันต้องหาที่สงบๆ อาศัยสถานที่สงบเพื่อจะเกื้อกูลต่อการภาวนา แต่ไปๆ มาๆ ไม่ใช่อาศัยความสงบเพื่อเป็นปัจจัยส่งเสริมการภาวนา กลับกลายเป็นว่าภาวนาเพื่อจะเอาความสงบ พอเจอความไม่สงบเข้าก็ไม่พอใจ รู้สึกอึดอัด คับแค้น ลืมไปว่าความสงบนี่ไม่ใช่เป้าหมายของการภาวนา เป็นสิ่งที่เสริมอำนวยให้การภาวนาก้าวหน้า คนเราถ้าเราไม่ระวัง ไม่มีสติ สิ่งที่คิดว่าจะเป็นเป้าหมาย มันกลายเป็นเรื่องรองไปเสียแล้ว เหมือนกับที่เขาพูดว่าเรากินเพื่ออยู่ แต่ไปๆ มาๆ อยู่เพื่อกิน มันก็ไม่ต่างจากคนที่มีรถเพื่อจะได้ทำงานสะดวก แต่ไปๆ มาๆ กลับทำงานเพื่อจะได้มีเงินผ่อนรถ มีเงินค่าน้ำมันรถ ทำงานหนักเพื่อครอบครัว แต่ไปๆ มาๆ ทิ้งครอบครัวเพื่อจะได้ทำงานเยอะๆ อันนี้เพราะขาดสติ มันก็เลยเอาสิ่งที่เป็นมรรควิธีกลายเป็นเป้าหมาย สิ่งที่เป็นเป้าหมายก็กลายเป็นเรื่องรองไปเสีย ฉะนั้นเวลาเราทำอะไร การมีสติหรือมีการใคร่ครวญ นี่สำคัญ ว่านี่เรากำลังทำอะไรอยู่ บางทีเรามาบวชเพื่อปฏิบัติ ไปๆ มาๆ บวชเพื่อจะหาลาภสักการะ ลืมไปเลย การปฏิบัติเป็นเพียงแค่สิ่งที่เสริมภาพลักษณ์เพื่อให้มีลาภสักการะมากขึ้น แบบนี้ก็มีเยอะนะ อันนี้เป็นเพราะว่าเพลินกับความสะดวกสบาย เพลินกับความสุขที่ลาภสักการะนำมาให้ หรือไม่เช่นนั้นก็เพลินกับสิ่งที่กำลังทำ จนลืมไปว่าเราทำไปเพื่ออะไร ทำเพื่อครอบครัวหรือเปล่า หรือว่าทิ้งครอบครัวเพื่อจะได้ทำงานได้มากๆ
  • 3 มิ.ย. 67 - บำรุงใจเหมือนดูแลสวน : จิตของเรา จะว่าไปก็ไม่ต่างจากสวนหรือไม่ต่างจากพื้นที่ที่สามารถจะปลูกต้นไม้นานาชนิดได้ การฝึกจิตถ้าเราคิดว่า จิตของเราบังคับบัญชาได้ สามารถจะบงการให้เป็นไปดั่งใจ ก็คงจะไม่ต่างจากการคิดแบบช่างไม้ แล้วถ้าเราทำกับจิตของเรา เหมือนกับช่างไม้ทำกับไม้ ก็อาจจะผิดหวังได้ เพราะว่าจิตนี้บังคับไม่ได้ ไม่สามารถจะปรับแต่งให้เป็นไปดั่งใจได้

    สิ่งที่เราทำได้ก็คือ การส่งเสริม ฝึกฝนให้จิตได้เจริญงอกงาม โดยสอดคล้องกับธรรมชาติของเขา ซึ่งใจหรือจิตเป็นอนัตตา ไม่สามารถควบคุมบังคับบัญชาได้ จะให้จิตเป็นอย่างไรก็อยู่ที่ใจเรา จิตบังคับไม่ได้ แต่ฝึกฝนได้ อำนวยส่งเสริมเกื้อกูลให้เป็นไปในทางที่ดีงาม นี่ทำได้ ก็ไม่ต่างจากคนที่ปลูกต้นไม้ ต้นทุเรียน ต้นมะม่วง เราจะบังคับให้เป็นต้น ให้ออกดอกแบบอื่น ออกผลแบบอื่น มันทำไม่ได้ แต่ว่าเราสามารถจะสนับสนุนให้เขาเติบโต ใส่ปุ๋ยหรือว่าตัดแต่งกิ่ง รวมทั้งจัดหาสิ่งแวดล้อมที่เกื้อกูล นี่ทำได้ เวลาเราฝึกจิต ให้เราลองมองแบบนี้บ้างว่าเหมือนกับปลูกต้นไม้ เหมือนกับทำสวน ไม่ใช่ว่าจะอยู่ในการบังคับบัญชาของเราได้ นอกจากขึ้นอยู่กับต้นไม้แต่ละชนิด แต่ละพันธุ์แล้ว ยังขึ้นอยู่กับดินฟ้าอากาศ มีเหตุปัจจัยมากมายที่เราต้องคำนึง ไม่ได้อยู่ที่ใจเรา
  • 2 มิ.ย. 67 - สิ่งชี้วัดความก้าวหน้าของการปฎิบัติ : ถ้าเราเจริญสติได้ดี แม้จะมีความหงุดหงิดขึ้นก็ยังรักษาใจไม่ให้ทุกข์ได้ รักษาใจให้สงบได้ เพราะอะไรเพราะมีสติเห็นมัน ไม่เข้าไปเป็นหรือไม่เข้าไปยึด ไม่ไปผลักไสมันด้วย บางคนพอเวลาไม่มีความฟุ้ง ใจก็สงบ แต่พอมีความคิดเกิดขึ้นใจ ไม่สงบก็เลยเข้าไปกดข่มมัน ก็เลยยิ่งไม่สงบเข้าไปใหญ่ ยิ่งหงุดหงิดเพราะว่ากดข่มเท่าไหร่มันก็ไม่ไป มีความโกรธ มีความหงุดหงิดเกิดขึ้นไม่ได้แปลว่าใจจะต้องว้าวุ่น เป็นทุกข์เสมอไป อยู่ที่ว่า เห็นมันไหม เห็นได้ไวพอหรือเปล่า

    เพราะฉะนั้นความก้าวหน้าของการปฏิบัติจะต้องวัดตรงนี้ด้วย วัดว่าสงบได้ไม่ใช่เฉพาะเวลาปฏิบัติ แต่ว่าสงบได้แม้มีสิ่งกระทบ มีสิ่งเร้า ถ้าหากว่าสงบได้เมื่อไม่มีสิ่งเร้า ไม่มีสิ่งกระทบ อันนี้ใคร ๆ ก็ทำได้ไม่ยาก นักปฏิบัติต้องทำได้มากกว่านั้นคือว่าแม้เจอสิ่งเร้า เจอสิ่งกระทบ ตา หู จมูก ไม่ว่าจะเป็น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส หรือความคิดอารมณ์ที่เกิดขึ้น ที่เรียกว่าธรรมารมณ์ ใจก็สงบได้ ตรงนี้แหละคือสิ่งที่วัดความก้าวหน้าของการปฏิบัติ ซึ่งแน่นอนถ้าเกิดว่าเข้าใจเรื่องหรือเห็นเรื่องรูป เรื่องนาม เห็นว่าไม่มีอะไรที่เป็นเรา เป็นของเราก็ช่วยทำให้ใจสงบได้ง่าย ไม่ใช่สงบด้วยสติอย่างเดียว แต่สงบด้วยปัญญาด้วย
  • 1 มิ.ย. 67 - สอนคนอื่น อย่าลืมดูใจตนเอง : ไม่มีเรื่องทะเลาะเบาะแว้งกับใคร

    ฉะนั้นหมั่นเตือนตนอยู่เสมอ ทำอะไรก็ตามมันไม่สำคัญเท่ากับว่าทำอย่างไร แม้จะทำเรื่องที่เกี่ยวกับธรรมะ เรื่องบุญกุศล แต่ว่าถ้าขาดสติหรือทำด้วยความยึดมั่นถือมั่นแล้ว มันก็สามารถจะเกิดโทษได้ เตือนใจเสมอเวลาเจอความไม่ถูกต้อง อย่างแรกที่ต้องทำก็คือ รักษาใจให้ถูกต้อง ไม่ใช่ไปจัดการคนอื่นเพื่อให้เขาทำถูกต้อง ถ้าขืนไปจัดการคนอื่นโดยที่ไม่ทันดูใจของตัว ไม่ทันรักษาใจของตัวให้ถูกต้องแล้ว สิ่งที่ทำกับคนอื่นก็จะกลายเป็นความไม่ถูกต้องหนักกว่าเดิมก็ได้ เรื่องนี้มันเป็นอุทธรณ์สอนใจที่ดีโดยเฉพาะกับคนที่สนใจธรรมะ นักปฏิบัติธรรม จะได้ไม่หลงตัวลืมตน ว่ามาปฏิบัติธรรมว่ามาแสดงธรรม แล้วก็ลืมมองตัวเองไป
  • 31 พ.ค. 67 - ใฝ่ทำดีกว่าใฝ่เสพ : คนเราถ้าเป็นคนที่ใฝ่รู้ แค่ได้ความรู้เขาก็พอใจแล้ว คะแนนจะเป็นอย่างไรไม่สนใจ หรือไม่ใช่เรื่องสำคัญ และกรณีนี้พอโตขึ้นแล้วเขาจะมีความสุขจากการที่ได้ทำความดี ซื่อสัตย์สุจริต ภูมิใจในความดีที่ทำ เรื่องเงินเรื่องทองจะเป็นเรื่องเล็กน้อย คนเราถ้าเอาความสุขไปผูกกับเงิน ไปผูกกับชื่อเสียง จะหาความสุขไม่ได้เลย

    อย่างที่เราเห็น ดาราที่มีชื่อเสียงร่ำรวยหลายคน ฆ่าตัวตายเพราะว่าถูกต่อว่า ถูกสื่อมวลชนวิจารณ์ว่าเล่นไม่ได้เรื่อง หรือว่าเป็นเพราะอกหัก แฟนทิ้ง อันนี้เพราะว่าไม่เข้าใจว่าความสุขที่แท้จริงอยู่ที่ไหน ไปเอาความสุขของตัวไปอยู่ผูกติดอยู่กับสิ่งของ อยู่กับชื่อเสียง อยู่กับเงินทอง หรือแม้แต่อยู่กับคนอื่น เอาความสุขหรือคุณค่าไปผูกติดกับคนอื่น พอเขาก็ทิ้งเรารู้สึกหมดคุณค่าทันที แต่ถ้าหากว่าคนเราพบว่าความสุขอยู่ที่ใจ อยู่ที่การทำความดี อยู่ที่ความเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ความสุขที่ผูกติดอยู่กับความดีในตัวไม่มีสูญหายไปง่าย ๆ ใครเขาจะทิ้ง ใครเขาจะดูถูกอย่างไร ตัวเองก็ยังมีความสุขความภูมิใจในสิ่งที่ทำ แม้จะไม่รวยแต่ก็มีความสุข นี่แหละคือสิ่งที่ศาสนาจะสอนเราได้ จะนำทางให้เราพบความสุขอย่างนี้ แล้วก็การมาวัดก็สามารถช่วยทำให้เราได้พบกับความจริงข้อนี้ได้ วันนี้นักเรียนอาจจะยังไม่เห็น เพราะยังคิดว่าความสุขอยู่ที่การกิน ดื่ม เที่ยว เล่น ช็อป มีแฟน แต่ให้จำในสิ่งที่หลวงพ่อพูดเอาไว้วันนี้ พอถึงวันที่พวกเธอโตมากกว่านี้และในยามที่เจอกับความไม่สมหวังในชีวิต เจอกับความพลัดพราก อาจจะได้คิด แล้วถึงตอนนั้นก็อาจจะรู้วิธีที่จะหาทางออกจากความทุกข์ได้