Episodi
-
ศีลข้อที่เสียบ่อยคือศีลข้อ 4 พูดจาที่ไม่ดีมีระดับ อันหนึ่งพูดเท็จพูดโกหก อันหนึ่งพูดส่อเสียด พูดให้เขาเกลียดกันให้เขาทะเลาะกัน ทุกวันนี้เยอะมากเลยเรื่องตัวนี้ อย่างเราไปด่าคนลงในโซเชียล พอเริ่มด่าสักคนหนึ่ง คนอื่นจะเข้าไปด่าด้วย ถูกกระตุ้น เพิ่มกระแสความเกลียดชัง ทำให้เขาขัดแย้งกันเขาแตกแยกกัน อีกเรื่องหนึ่งก็พูดคำหยาบ พูดคำหยาบก็ออกมาจากใจที่หยาบ ใจที่สำรวมระวัง ไม่พูดคำหยาบ อีกอย่างหนึ่งเรียกว่าพูดเพ้อเจ้อ พูดโดยไม่จำเป็นต้องพูด ทุกวันนี้พูดเพ้อเจ้อเยอะ เล่นทางโซเชียล เล่นอินเทอร์เน็ตกันก็เขียนเล่าโน้นเล่านี้ ถ้าเราภาวนาเราจะรู้ การพูดบั่นทอนพลังของจิต คนพูดมากๆ พลังจิตจะอ่อนลงๆ จิตฟุ้งซ่าน แล้วเราพูดเท่าที่จำเป็น หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 28 ธันวาคม 2567
-
สิ่งที่ผิดก็มี 2 อันเท่านั้น ก่อนที่จะเข้าสู่ทางสายกลาง อันหนึ่งหลงไปเที่ยวแสวงหาอารมณ์ต่างๆ เรียกว่า กามสุขัลลิกานุโยค อารมณ์ต่างๆ ล้วนแต่เรื่องกามคุณอารมณ์ทั้งนั้น อีกอันหนึ่งเป็นอัตตกิลมถานุโยค เพ่งจ้องเอาไว้ ทำตัวเองให้เนิ่นช้าให้ลำบาก ทางสายกลางก็คือต้องไม่สุดโต่งไป 2 ฝั่งนี้ อันหนึ่งลืมอารมณ์กรรมฐาน อันหนึ่งไปเพ่งอารมณ์กรรมฐาน 2 อัน ถ้าลืมอารมณ์กรรมฐานแล้วเรารู้ปุ๊บ จิตจะทรงสัมมาสมาธิทันทีเลย แต่ถ้าเพ่งอารมณ์กรรมฐานอยู่ มันยังเพ่งต่อได้อีก รู้ว่าเพ่ง เราก็ยังเพ่งได้อีก ให้รู้ทันเบื้องหลังของการเพ่ง คือความโลภ โลภะตัวเดียวนี้ล่ะ ตัวอยากดี ถ้ารู้ตัวนี้ การเพ่งก็จะดับ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 22 ธันวาคม 2567
-
Episodi mancanti?
-
ดูอย่างไรจะเห็นจิตผู้รู้ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ ง่ายๆ เลย ก็ดูจิตเดี๋ยวก็เป็นผู้รู้แล้วก็ดับ เกิดจิตดูรูป จิตดูรูปเกิดแล้วก็ดับ เกิดจิตผู้รู้ จิตผู้รู้แล้วก็ดับ เกิดจิตผู้ไปฟังเสียง จิตผู้ฟังเสียงเกิดแล้วก็ดับ เกิดเป็นจิตผู้รู้ จิตผู้รู้ก็ดับ เกิดเป็นจิตผู้คิด ได้เห็นจิตมันเกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อันนี้เราไม่ได้อาศัยการดูทางเจตสิกแล้ว อันนี้ละเอียดขึ้นมา เราดูผ่านอายตนะ เกิดดับทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้ารู้แจ้งเห็นจริงอย่างนี้จะวางจิต มันรู้ว่าจิตไม่ใช่ของดีของวิเศษ หลวงปู่ดูลย์ท่านเรียกว่าทำลายผู้รู้ เพราะผู้รู้นี้เป็นศัพท์เฉพาะ หมายถึงเป็นจิตที่เราพัฒนามันขึ้นมา เอามาใช้งาน ถึงอย่างไรวันหนึ่งเราก็ต้องปล่อยวาง ถ้าไม่ปล่อยวาง เราก็จะไปเกิดเป็นพระพรหม แล้วสูงสุดของผู้ปฏิบัติ ถ้ายังไม่วางจิต ก็จะไปเป็นพรหม หลวงปู่ดูลย์ท่านเคยบอกว่า ท่านพิจารณาแล้วนักปฏิบัติส่วนใหญ่เป็นผีใหญ่ ภาษาท่าน ผีใหญ่คือเป็นพรหม ภาวนาแล้วก็ไปเป็นพระพรหมกัน ต้องเดินปัญญาให้ถ่องแท้ ถึงจะเอาตัวรอดได้ “บุคคลถึงความบริสุทธิ์ได้ด้วยปัญญา” ไม่ใช่ด้วยสมาธิ สมาธิเป็นแค่เครื่องมือตัวหนึ่ง หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 21 ธันวาคม 2567
-
ถ้าเราเห็นความจริง ใจเราจะคงที่ เสถียร คงที่ไม่แกว่ง ตรงนั้นละที่เราจะมีความสุขมีความสงบ พระพุทธเจ้าบอกความสุขเสมอด้วยความสงบไม่มี คือความสงบมีความสุขมากที่สุด นิพพานคือความสงบ นิพพานคือสันติ เรียกความสงบ การปฏิบัติธรรมนั้นจะทำให้เราอยู่เหนือดีและชั่ว สูงขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง เหนือดีเหนือชั่ว เพราะเราเห็นความจริงแล้ว ดีก็ไม่เที่ยง ชั่วก็ไม่เที่ยง สุขก็ไม่เที่ยง ทุกข์ก็ไม่เที่ยง เสมอกัน เพราะฉะนั้นเวลาความสุขมา ใจก็ไม่ฟู เวลาความทุกข์มา ใจก็ไม่หดหู่ลงไป ใจสงบ มีความสงบมีความสันติในทุกๆ สถานการณ์ นี่คือสิ่งที่เราจะได้มาจากการปฏิบัติธรรม ไม่ได้ได้มาเพราะความอยาก อยากปฏิบัติอยากดีไม่ทำให้เราได้อะไรขึ้นมา แต่เราได้มาจากการเห็นความจริงของกายของใจ หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 16 ธันวาคม 2567
-
จิตก็เป็นธาตุอันหนึ่ง เป็นวิญญาณธาตุ ก็เกิดดับหมุนเวียนไป จิตดวงใหม่ก็ไม่ใช่ดวงเดิม อย่างพวกคนจำนวนมากก็คิดว่า พวกเรามีจิตวิญญาณอยู่ พอเราตายแล้วจิตใจของเราดวงนี้ ออกจากร่างนี้ไปเข้าร่างใหม่ อันนี้เป็นมิจฉาทิฏฐิ คิดว่าจิตนี่เที่ยงจิตเป็นอมตะ เป็นมิจฉาทิฏฐิ ไม่รู้หรอกว่าจิตเองเกิดดับตลอดเวลา ถ้าเราภาวนายังไม่ละเอียดพอ เราก็เห็นว่าจิตมีดวงเดียว จิตอยู่กับตัวเรา เดี๋ยวก็วิ่งไปที่ตาแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่หูแล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปที่จมูก ที่ลิ้น ที่กาย แล้วก็วิ่งกลับมา วิ่งไปคิดแล้วก็วิ่งกลับมา เราคิดว่าจิตมีดวงเดียว อันนี้เพราะสติปัญญาของเรายังไม่แก่กล้าพอ ต้องฝึกอีก ถ้าฝึกแล้วเราจะเห็นเลย จิตเกิดที่ไหนก็ดับที่นั้น จิตนั้นเกิดดับสืบเนื่องกันอย่างรวดเร็ว เกิดที่ตาก็ดับที่ตา เกิดที่หูก็ดับที่หู เกิดที่ใจก็ดับที่ใจ เกิดตรงไหนก็ดับตรงนั้น จิตที่เกิดที่ตากับจิตที่เกิดที่หูก็คนละดวงกัน ทำหน้าที่ได้แตกต่างกัน จิตที่เกิดที่ตาก็ทำหน้าที่เห็นรูป จิตที่เกิดที่หูทำหน้าที่ฟังเสียง เราจะเอาหูไปเห็นรูป มันทำไม่ได้ จิตมันเกิดดับทางโน้นทางนี้ในทวารทั้ง 6 หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช บ้านจิตสบาย 15 ธันวาคม 2567
- Mostra di più