Folgen

  • 14 ก.พ. 67 - รักอย่างไรให้เกิดสุข : เพราะว่าไม่เข้าใจไม่แยกแยะระหว่างความรักกับความใคร่ และไม่ตระหนักว่ามันเป็นของไม่เที่ยงเลย โดยเฉพาะไอ้ความใคร่มันจืดจางได้เร็วมาก ในขณะที่ความเมตตามันยั่งยืนกว่า โดยเฉพาะถ้าไม่มีตัวกูเป็นศูนย์กลาง หรือไม่ได้เอาตัวกูเป็นศูนย์กลางแล้ว มันจะยั่งยืนกว่า เพราะมันเป็นความรักที่ไม่มีเงื่อนไข หรือไม่เรียกร้องเงื่อนไขจากอีกฝ่าย

    ให้เรารู้จักความรักประเภทแรกให้เยอะๆ แล้วก็เห็นโทษของความรักประเภทที่สองว่า แม้มันจะทำให้ชีวิตนี้มีรสมีชาติหวานชื่น แต่ว่ามันก็สามารถจะกลายเป็นความขื่นขมได้อย่างรวดเร็ว สามารถจะทำร้ายชีวิตของเรา หรือทำให้ชีวิตของเราจมอยู่ในความทุกข์ได้ถ้าเราไม่รู้เท่าทันมัน เราจะปฏิเสธมันได้ยาก เพราะเราเป็นปุถุชน แต่ถ้าเรารู้เท่าทัน แล้วก็มีธรรมะมากำกับ มันก็ช่วยทำให้ความรักประเภทนี้ไม่ทำร้ายเราและคนอื่นจนกระทั่งย่ำแย่ไป
  • 13 ก.พ. 67 - ทุกข์เพราะได้น้อยกว่าความคาดหวัง : ถ้าเรารู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง มันก็ไม่ทุกข์เท่าไหร่ แต่คนเรามันก็ยากที่จะไม่มีความคาดหวัง ไม่ว่าจะเป็นคนทั่วไปหรือนักปฏิบัติธรรม แต่อย่างน้อยให้รู้เท่าทัน รู้เท่าทันว่าเรามีความคาดหวัง แล้วก็พยายามลดความคาดหวังให้น้อยลง

    ความสุขมันไม่ยาก ถ้าหากว่าเราลดความคาดหวังลง แล้วยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น ไม่ใช่อยากจะเห็นสิ่งต่างๆ ให้เป็นไปดั่งใจ เราไม่สามารถยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็นได้ ถ้าหากว่าเรามีความคาดหวัง แล้วมันไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง แต่ถ้าเรารู้จักยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น เจออะไร ใจก็ไม่ทุกข์ เสียงดังใจก็ไม่ทุกข์ เพราะว่ายอมรับมันได้ เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าเราอยากจะรักษาใจให้มีความทุกข์น้อยลง ก็ลดความคาดหวังไม่ว่าจากผู้คน ไม่ว่าจากสิ่งแวดล้อม ไม่ว่าจากสถานที่ แล้วก็เรียนรู้ที่จะยอมรับสิ่งต่างๆ อย่างที่มันเป็น พรุ่งนี้จะเป็นวันวาเลนไทน์ หลายคนรอคอยวันพรุ่งนี้ด้วยใจจดใจจ่อโดยเฉพาะหนุ่มสาว แต่ก็คงจะมีคนจำนวนไม่น้อยที่ห่อเหี่ยวเสียใจ เพราะอะไร เพราะว่าสิ่งที่คาดหวังว่าจะได้ หรือสิ่งที่ได้รับมันน้อยกว่าที่คาดหวัง บางคนอยากจะได้กุหลาบเป็นช่อเลย แต่พอได้แค่ 3-4 ดอก ทุกข์เลย อยากจะได้อย่างนั้นอย่างนี้ มีความคาดหวังจากคนนั้นคนนี้ ได้เหมือนกัน แต่พอมันได้น้อยกว่าที่คาดหวัง ทุกข์เลย เหมือนกับที่หลายคนทุกข์ทั้งที่ได้อั่งเปา ไม่ใช่เพราะได้น้อยแต่เพราะคาดหวังมาก แล้วพรุ่งนี้ก็จะมีคนที่ได้เหมือนกัน ได้สิ่งดีๆ จากคู่รัก แต่ก็ยังทุกข์เพราะอะไร เพราะมันน้อยกว่าที่คาดหวัง อันนี้เป็นเรื่องที่ธรรมดามาก แต่ถ้าคนที่ฉลาดเขาไม่ทุกข์ง่ายๆ เพราะเขาแค่ลดความคาดหวังลง ได้อะไรก็ถือว่าดีทั้งนั้น
  • Fehlende Folgen?

    Hier klicken, um den Feed zu aktualisieren.

  • 12 ก.พ. 67 - ทำง่ายแต่ได้ผลมาก : การปฏิบัติงานเจริญสติแบบหลวงพ่อเทียนมันไม่ต้องใช้เงิน จะเป็นคนยากคนจน คนรวย จะจบ ป. 4 หรือปริญญาเอก มันก็ไม่เกี่ยว ขอให้ปฏิบัติให้ถูก อย่างที่ท่านว่าทำเล่น ๆ แต่ว่ากลับมามีสติ กลับมารู้สึกตัว มันจะไปบ่อยแค่ไหนก็ช่างมัน แต่ให้กลับมาก็แล้วกัน

    หลวงพ่อคำเขียนท่านบอกว่า มันเก่งตรงที่กลับมา ไม่ใช่ไม่ไป มันจะไปก็ช่างมันแต่ว่ากลับมา กลับมาไว ๆ คือสิ่งที่วัดความเจริญก้าวหน้า ทำเล่น ๆ และก็ทำจริง ๆ ให้มีสติ ให้มีความรู้สึกตัวกับทุกอย่างที่ทำ ทีแรกก็รู้กายก่อน ต่อไปมันก็จะเห็นความคิด เห็นใจเคลื่อนไหว ซึ่งมันเป็นวิธีการที่ไม่ได้ยากอะไรเลย จะว่าไปแล้วเป็นวิธีที่ง่ายแต่ว่าให้ผลเร็วแล้วก็ให้ผล เห็นผลได้เยอะ
  • 11 ก.พ. 67 - ทำดีดีกว่าการเป็นคนดี : ทำดีแล้วไม่มีคนเห็นก็ทุกข์เหมือนกัน หรือว่าทำดีแล้วมีคนเขาไม่เข้าใจ เขาต่อว่า เวลาเรารู้สึกว่าเราทนคำต่อว่าไม่ได้ ส่วนหนึ่งเพราะเราติดดี ติดดีคือคิดว่าฉันต้องดี คนต้องเห็นว่าฉันดีด้วย พอเขาเห็นว่าฉันไม่ดี ก็รู้สึกว่าอัตตาถูกกระทบ อย่าว่าแต่คำต่อว่าเลย แค่คำแนะนำ มันก็ทำให้เราเจ็บปวดถ้าเราไปสำคัญมั่นหมายว่าฉันเป็นคนดี คนเก่ง ทุกข์ของคนเก่งก็เป็นแบบนี้

    ทุกข์ของคนดีก็เหมือนกัน ทนคำวิจารณ์ไม่ได้ ทนคำต่อว่าไม่ได้ เพราะมันไปกระทบกระแทกอัตตา อัตตานี้มันต้องการให้คนเห็นว่ากูดี กูเก่ง พอเขาไม่เห็นว่าดี ก็ทุกข์ พอคนตำหนิก็เจ็บปวด โกรธเขา แทนที่จะน้อมรับแล้วนำมาปรับตัวแก้ไข หรือขอบคุณเขา ที่สำคัญคือ เวลาเห็นว่าใครดีกว่าก็ไม่พอใจเขา คนดีเวลาเห็นใครดีกว่านี้ ไม่พอใจ เพราะมันไปทำให้เรารู้สึกว่าเราดีน้อยลง เกิดการเปรียบเทียบ อันนี้เป็นผลของมัน ความสำคัญตัวว่าเป็นคนดีมันถึงน่ากลัว มันสามารถทำให้เราทุกข์ได้ง่าย แล้วก็ทำให้เกิดความอิจฉาคนที่เขาดีกว่า มันมีคำพูดว่า ทำดีแต่อย่าเด่นจะเป็นภัย คนไทยนับถือคตินี้มาก ใครดีกว่าไม่ได้ ก็จะอิจฉาเขา คนเลยไม่กล้าทำความดี เพราะดีแล้วจะถูกหมั่นไส้ คนที่หมั่นไส้ก็ไม่ใช่ใคร ก็คนที่อยากจะดีเหมือนกัน หรือคนที่คิดว่าฉันก็เป็นคนดี เพราะฉะนั้นเป็นคนดีมันก็เป็นทุกข์ ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ หรือไม่อยากไปเบียดเบียนใคร ก็อย่าไปยึดมั่นสำคัญหมายว่าเป็นคนดี แต่พยายามทำความดีเอาไว้เยอะๆ “ทำดี ดีกว่าเป็นคนดี
  • 10 ก.พ. 67 - กลับมาสู่ความไม่ทุกข์ : คนสมัยก่อนเจ้าบทเจ้ากลอนมาก ท่านแสดงธรรมมีคำลงท้ายเป็นกลอนไปว่า “พายเถอะหนาพ่อพาย ตะวันจะสายตลาดจะวาย สายบัวจะเน่า” หมายความคือ ให้รีบตื่น แล้วก็รีบทำงานทำการ อย่าปล่อยเวลาผัดผ่อนให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ พูดง่ายๆก็คือ เวลาไม่คอยท่า ปล่อยให้หลวงพ่อโตจะเทศน์แก้เทศน์ต่อยังไง ท่านเจ้าคุณธรรมอุดมท่านเทศน์ทิ้งไว้อย่างนั้น

    หลวงพ่อโตท่านก็ไว ท่านได้วิสัชนาออกไปว่า “ก็โซ่ไม่แก้ประแจไม่ไข จะพายไปไหวหรือพ่อเจ้า” จะไปข้างหน้าได้ยังไง ถ้าโซ่ยังไม่แก้ ประแจยังไม่ไข เรือจะไปข้างหน้าได้มันต้องแก้โซ่ไขประแจก่อน ความหมายก็คือว่า คนเราจะไปข้างหน้าได้มันต้องปลดเปลื้องใจออกจากอดีต เพราะอดีตมันเป็นพันธนาการ ผู้คนจำนวนมากไปต่อไม่ได้เพราะว่าไม่ยอมกลับมา ไม่ยอมกลับมายังปัจจุบัน ยังไปหลงในอดีต หรือว่ายังไหลไปอนาคต ไหลไปอนาคต คือกังวลวิตกกับเรื่องในอนาคต หรือไม่ก็เศร้าซึมกับเรื่องราวในอดีต ต้องกลับมา กลับมาอยู่กับเนื้อกับตัว กลับมาอยู่กับปัจจุบัน ถึงจะไปต่อได้ สมัยนี้เราคิดแต่จะไปข้างหน้า ไปข้างหน้าท่าเดียวจนกระทั่งไม่รู้จักกลับมา ไม่รู้จักกลับมาที่ใจ ไม่รู้จักกลับมาที่ความรู้สึกตัว ไม่รู้จักกลับมา รู้กาย ตามมาดูรู้ใจของตัว พอไม่สนใจตามดูรู้ใจ หรือไม่กลับมารู้สึกตัว มันอยากจะไปต่อก็ไปไม่ได้ เพราะยังมีความทุกข์ พูดง่ายๆว่า อยากจะไม่ทุกข์เราต้องกลับมา กลับมารู้สึกตัว กลับมาอยู่กับความไม่ทุกข์ แล้วจึงจะไปต่อได้
  • 9 ก.พ. 67 - อะไรมากระทบอารมณ์ ก็ไม่กระฉอก : การที่เรารู้ทัน ใจเวลามันมีการกระทบ มีผัสสะ แล้วมันมีการปรุงแต่ง มันก็ช่วยทำให้ไม่เกิดอารมณ์ที่เป็นลบ ๆ ขึ้นมาได้ ซึ่งก็ช่วยทำให้เวลาเราอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่แม้จะสงบหรือว่าแม้จะราบรื่นเพียงใด แต่ถ้าหากว่าเราไม่รู้ทันการปรุงแต่ง มันก็เกิดความหงุดหงิด เกิดความไม่พอใจ เกิดความอ้างว้าง เกิดความสับสน หรือว่าฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ นี่เพราะขาดสติทั้งนั้น

    ฉะนั้นการเก็บกดอดกลั้นหรือขันติ ก็สำคัญ อันนี้ก็เป็นวิธีการในการที่เราจะป้องกันไม่ให้เกิดการกระทบกระทั่งจนบานปลาย หรือที่เขาใช้คำว่าระเบิดออกมา แต่ก็ยังไม่พอ ต้องรู้จักมีสติด้วย มีสติที่จะช่วยให้ไม่เกิดอารมณ์ที่เป็นลบ หรือถึงแม้จะเกิดอารมณ์ที่เป็นลบก็รู้จักวางได้ เพราะว่าคนเราปุถุชน อารมณ์ที่เป็นลบเกิดขึ้นได้เสมอเมื่อมีการกระทบเพราะว่าไม่ทันการปรุงแต่ง แต่เมื่อมันเกิดขึ้นแล้วก็ยังปล่อยหรือวางได้ มีความโกรธก็รู้ทันแล้วก็วาง มีความโมโหเกิดขึ้นแล้วก็รู้ทัน มีความเศร้าเกิดขึ้นก็รู้ทัน มีความเครียดเกิดขึ้น รู้ทัน วาง มันก็ทำให้ไม่จำเป็นต้องเก็บกด เพราะมันไม่มีอารมณ์ใดที่หลงเหลือ ไม่จำเป็นต้องมีเกราะที่จะป้องกันไม่ให้มีอารมณ์มากระทบ เพราะว่าอารมณ์มันก็เลือนหายไปเมื่อเราปล่อยเราวาง
  • 1 ก.พ. 67 - ความกลัวคือตัวเพิ่มทุกข์ : มีสติมากขึ้น ก็มารู้ใจ คือมาเห็นความกลัว เห็นความเครียด เห็นความวิตกที่เกิดขึ้น หรือถ้าเกิดยังเห็นไม่ทัน ไม่รู้จะเห็นยังไง ไม่รู้ว่าจะรู้ทันยังไง ก็เอาแค่ยอมรับมันเสียก่อน ยอมรับว่ามันเป็นธรรมดาที่จะมีความวิตกกังวล เหมือนแม่ที่ย่อมวิตกกังวลเกี่ยวกับสุขภาพลูกในท้อง ก็แค่ยอมรับว่ามันมีความรู้สึกนี้ในใจ ไม่ต้องไปกดข่มผลักไสมัน หรือยอมรับเป็นเรื่องธรรมดา อย่างน้อยมันก็ไม่ทำให้มีวิตกกังวลตัวที่สอง ซึ่งเกิดจากการไม่ยอมรับมัน ไม่ยอมรับความวิตกกังวล

    ที่ว่าเกิดความกังวลตัวที่สอง มันเป็นความกังวลที่เรา “ทำไมไม่หายกังวลสักที” ทำไมเรายังมีความกังวลอยู่ เดี๋ยวลูกจะเป็นยังไง มันมีวิตกกังวลซ้อนวิตกกังวล แม้ว่าเราจะยังไม่สามารถทำให้วิตกกังวลตัวแรกหายไปได้ แต่อย่างน้อยเราก็ทำให้ไม่มีกังวลตัวที่สองเกิดขึ้นก็ด้วยการยอมรับ ยอมรับความกังวลตัวแรก แล้วถ้าทำได้ดี มีสติดี ความกังวลตัวแรกก็จะค่อยๆ เลือนหายไปเหมือนกัน ถ้าเรารู้ทันมัน หรือว่าเอาใจอยู่กับปัจจุบัน ไม่ไปเผลอคิดปรุงแต่งเกี่ยวกับภาพอนาคตในทางลบทางร้าย
  • 31 ม.ค. 67 - เห็นข้อดีจากทุกอย่างที่เกิดขึ้น : ถ้าเรารู้จักมองในแง่บวก มันก็จะได้ประโยชน์จากเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นแม้จะแย่ แต่ขณะเดียวกันมันก็เตือนให้เรารู้จักมองในทางลบด้วย ไอ้ความคิดว่าบ้านพร้อมไหม้นี้จะว่าไปมันก็เป็นการมองในทางลบแบบหนึ่ง คือมองว่าไฟไหม้สามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ

    เช่นเดียวกันการมีชีวิตของเรา เราก็ไม่ได้มองบวกอย่างเดียว เรามองลบด้วย ก็คือว่าสักวันหนึ่งก็ต้องเจ็บ ต้องป่วย ต้องตาย ครานี้เมื่อเรารู้แบบนี้หรือคิดได้แบบนี้ก็จะทำให้เกิดความไม่ประมาท มีชีวิตชนิดที่พร้อมตายทุกเมื่อ แล้วก็รวมไปถึงว่าจะมีข้าวของอะไร ก็มีแบบพร้อมที่จะหาย พร้อมที่จะเสียทุกเมื่อ ถ้าคิดแบบนี้ พอมันเกิดขึ้นจริงก็ไม่ได้ทุกข์อะไร เพราะว่าเตรียมใจไว้แล้ว
  • 30 ม.ค. 67 - ถอยออกมาจากอารมณ์ : อารมณ์พวกนี้ บางอารมณ์มันปั่นหัวเราให้เราย่ำแย่ได้ อย่างอารมณ์โกรธหรือซึมเศร้า มันก็ปั่นหัวให้เราสามารถที่จะทำอะไรก็ได้เพื่อทำร้ายแม้กระทั่งผู้มีพระคุณ หรือถ้าซึมเศร้ามากๆ เสียใจมากๆ มันก็จะปั่นหัวเราให้เราทำร้ายตัวเองก็ได้ อาจจะเพื่อเอาชนะคนที่ทำให้เราเสียอกเสียใจ เป็นพ่อเป็นแม่หรือคู่รัก

    บางคนก็ใช้วิธีนี้แหละ อยากจะเอาชนะเขา ทำให้เขาเจ็บปวด ก็ถูกอำนาจของความหลง ความเศร้า ความคับแค้น ทำร้ายตัวเอง เพื่อทำให้เขาเจ็บปวด จะได้เรียกว่ามีชัยชนะ คือคิดแต่จะเอาชนะ แต่สุดท้ายก็ทำร้ายตัวเอง อันนี้ก็เป็นอำนาจของความหลง ความโกรธ เพราะการไม่รู้จักยอม มีแต่จะเอาชนะ มันก็เลยเกิดความเสียหาย เกิดความพังพินาศ แต่ถ้าเรารู้จักถอยออกมา เอาใจถอยออกมาจากอารมณ์ มันก็ไม่สามารถจะมีอิทธิพล บงการ ปั่นหัว ล่อหลอก ให้เราหลงกับอำนาจของมัน ก็เรียกว่าสามารถเป็นอิสระ และสิ่งที่ช่วยทำให้ใจสามารถทำให้ถอยออกมาจากอารมณ์ก็คือสติ ความรู้สึกตัว ไม่มีสติ ไม่มีความรู้สึกตัว ก็มีแต่จมอยู่ในอารมณ์ และอยู่ในอำนาจของมัน เพราะฉะนั้นเราต้องฝึก ฝึกให้รู้จักถอยออกมาจากอารมณ์ หรือถ้าถอยออกมาได้ไม่ถนัด อย่างน้อยก็รู้จักถอยออกมาจากเหตุการณ์ต่างๆ เพื่อทำให้เรารู้ว่าเราพลั้งเราเผลออย่างไรบ้าง เพราะถ้าไม่รู้จักถอยออกมาจากเหตุการณ์ ไม่รู้จักถอยออกมาจากวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความหลง เราก็ไม่สามารถจะพาใจให้มีอิสระหรือมีชีวิตที่ผาสุกได้
  • 29 ม.ค. 67 - รู้จักยอมบ้าง : การยอมมันเป็นวิธีของคนฉลาด คนที่มีปัญญา เพราะรู้ว่าถ้าไม่ยอมนี้อะไรจะเกิดขึ้น และมันไม่ใช่แค่ตัวเองที่เดือดร้อน ครอบครัวที่พามาด้วยนี้ก็จะเดือดร้อนไปด้วย ลูกก็ดี ภรรยาก็ดี หรือพ่อแม่ก็ดีอาจจะต้องมีอันเป็นไป เพียงเพราะตัวเองไม่ยอม ถามว่าทำไมไม่ยอม ก็เพราะ “กูถูกไง มึงผิด มึงต้องหลบให้กูต่างหาก”

    บางครั้งคนเราต้องรู้จักยอมแม้ว่าจะถูกหรือแม้ว่าจะเก่ง อย่าให้ความยึดมั่นถือมั่นในความเก่งหรือความถูกของตัว มันทำให้มองข้ามสิ่งอื่นที่สำคัญกว่า ไม่ว่าจะเป็นประโยชน์ของส่วนรวม หรือว่าความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน หรือว่าสวัสดิภาพของคนที่เรารัก
  • 28 ม.ค. 67 - อุปสรรคของการเข้าถึงความจริง : ความจริงก็คือเข้ามาเคาะประตู แต่ว่าใจไม่เปิด ใจไม่เปิดเพราะมีความเชื่อ หรือมีความคิดบางอย่าง ความคิดที่เป็นตัวปิดกั้นความจริง เหมือนกับพ่อที่ไม่ยอมเปิดประตูรับลูกที่ดั้นด้นมาจากแดนไกล

    สัจธรรมหรือความจริงมันแสดงต่อเราตลอดเวลาแต่ว่าใจเราไม่เปิดรับ เพราะว่าใจเรามีความคิดความเห็น ความเชื่อบางอย่าง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ก็แสดงตัวต่อเราตลอดเวลาแต่ว่าใจเราไม่ยอมรับ เพราะว่ามันมีความคิด ความเห็นว่าทุกอย่างมันเที่ยง ทุกอย่างเป็นสุข หรือว่ามันเป็นตัวเป็นตน ฉะนั้นความคิดมันก็ปิดบังความจริงได้ แล้วด้วยเหตุนี้มันจึงเป็นเป็นอุปสรรคสำคัญของการบรรลุธรรม
  • 27 ม.ค. 67 - อย่าเอาความสำเร็จมาค้ำคอตัวเอง : ถ้าเรามีความวางใจว่าเสร็จทุกวัน เราจะไม่เครียด ไม่ใช่ว่าเก็บงาน แบกงานไปปรุงแต่ง ไปหมกมุ่น ไปพะวง แม้กระทั่งถึงบ้านแล้วก็ยังวางใจไม่ได้ ยังคิดถึงงานจนกระทั่งไม่สนใจคนที่กำลังคุยอยู่ตรงหน้า ไม่ว่าจะเป็นพ่อแม่ หรือสามีภรรยา หรือเป็นลูกก็ตาม ถึงเวลานอนก็นอนไม่หลับ อันนี้เพราะว่าไม่รู้จักวาง

    ท่านพุทธทาสท่านพูดไว้ดีว่า “จงทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ยกผลงานให้ความว่างทุกอย่างสิ้น” คือเมื่อทำงานแล้วไม่ว่าผลงานจะเป็นอย่างไร ก็ไม่ได้ยึดว่าเป็นของกู ของกู ยกให้เป็นของความว่างไป ยกให้เป็นของธรรมชาติหรือยกให้เป็นของเพื่อนฝูงหมู่ร่วมคณะก็ได้ เพราะการที่ยึดเป็นของกู มันสร้างความทุกข์ ไม่ว่างานนั้นจะสำเร็จหรือล้มเหลวถ้ายึดเป็นของกูแล้ว มันก็ทำความทุกข์ให้ ถ้าเป็นความสำเร็จมันก็ค้ำคอ พะนออัตตา ถ้ามันไม่สำเร็จมันก็ทิ่มแทงใจ ถ้ามันคิดว่าเป็นของกู ของกูอยู่นั่น ไม่ใช่แค่เฉพาะงานอย่างเดียว แม้กระทั่งผลที่ตามมา จะเป็นคำชื่นชมสรรเสริญ คำติฉินนินทาก็เช่นกัน รับรู้ไว้แต่ไม่ยึดมาเป็นของเรา เอามาพิจารณาเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้มันดีขึ้นแต่ไม่ใช่เพื่อมาพะนออัตตาค้ำคอตัวเอง หรือว่าหรือว่าทิ่มแทงจิตใจของตัวเอง และที่จริง ถึงเราไม่คิดว่างานเป็นของเรา ถ้าใครจะมาช่วย ใครจะมามีส่วนร่วมก็ยินดี ไม่ใช่หวงแหนว่าเป็นงานของกู งานของกู ใครมายุ่งไม่ได้ ซึ่งก็สร้างความทุกข์ สร้างความเดือดร้อน สร้างความร้าวฉานให้กับผู้คนมากมายในหลายที่ทุกวันนี้ เป็นเพราะว่าไม่รู้จักปล่อยวาง ทำเต็มที่ ทำงานทุกชนิดด้วยจิตว่าง ไม่ได้แปลว่า ปล่อยประละเลย ทำด้วยจิตที่ว่าง ไม่ยึดติดว่างานเป็นเรา เป็นของเรา ไม่ยึดแม้กระทั่งความสำเร็จ หรือคาดหวังความสำเร็จที่รออยู่ข้างหน้าเพราะว่าเป็นอนาคต ไม่ใช่ปัจจุบัน วางอดีตวางอนาคตอยู่กับปัจจุบัน และทำปัจจุบันให้ดีที่สุด และช่วยทำให้งานออกมาดีเท่าที่จะดีได้ แล้วก็ทำให้เรามีความสุขไม่เครียดด้วย
  • 26 ม.ค. 67 - ในแย่มีดี : ที่เรามองว่ามันไม่ดีๆ มันมีดีอยู่ ถ้าเรารู้จักใช้ ก็เหมือนกับขยะ ถ้ามากองไว้หน้าบ้านมันก็เหม็น แต่ถ้าไปกองไว้ในสวนโคนต้นไม้ มันก็กลายเป็นปุ๋ย ฉะนั้นศิลปะของการปฏิบัติก็คือว่า เปลี่ยนร้ายให้กลายเป็นดี หรือ หาประโยชน์จากสิ่งที่ไม่ดี ในทุกข์มันก็มีสิ่งดีอยู่ อยู่ที่ว่าเราจะสกัดออกมาหรือใช้ให้เป็นไหม จะพูดว่าในทุกข์มีสุขก็ได้ อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ผู้มีปัญญาแม้ประสบทุกข์ ก็ยังหาสุขพบ

    อันนี้ก็เป็นการบ้าน ว่าเราจะหาสุขพบได้อย่างไรท่ามกลางความทุกข์ ที่จริงครูบาอาจารย์อย่างท่านอาจารย์พุทธทาส ก็ถึงกับบอกเลยว่า “ในวัฏสงสารมีนิพพาน ไม่ต้องไปหานิพพานที่ไหน ต้องไปหานิพพานจากวัฏสงสาร” โพธิ ก็พบได้ท่ามกลางกองกิเลส ก็เหมือนกับดอกบัวเกิดขึ้นจากโคลนตม ไม่มีโคลนตมก็ไม่มีดอกบัว
  • 25 ม.ค. 67 - นิ่งไว้เมื่อภัยมา : และเมื่อถึงเวลาที่อันตรายมาถึงตัว ก็จะดีกว่าถ้าหากเรายอมรับมัน เรียกว่าการนิ่งสงบ ไปต่อต้านขัดขืนก็ไม่มีประโยชน์ บ่อยครั้งเราคิดว่ามันต้องทำอะไร อยู่เฉยๆ ได้อย่างไร แต่บ่อยครั้งการทำนั่นทำกลับสร้างปัญหาให้มากกว่าก็ได้ อย่างเช่นคนป่วยระยะท้าย บางทีการยอมรับความตายที่มาถึงมันสร้างความทุกข์น้อยกว่าการที่ดิ้นรนเพื่อยื้อชีวิต การไปยื้อด้วยการทำโน่นทำสารพัด เจาะคอ ใส่ท่อ ปั๊มหัวใจ สารพัดพวกนี้ ดูเหมือนทำให้สบายใจว่าได้ทำอะไรให้กับเขาบ้าง แต่ว่ามันอาจจะเป็นการสร้างความทุกข์ทรมานให้กับเขาก็ได้

    ขณะที่การที่ไม่ทำอะไรเลย หรือถ้าเป็นเจ้าตัวเอง การที่ไม่ไปดิ้นรนทำอะไรเลย แต่ยอมรับมัน อาจจะเป็นวิธีที่ดีกว่า เพราะถึงแม้จะหนีอันตรายไม่พ้น แต่ว่าใจก็ไม่ทุกข์ทรมาน แต่ก็ไม่แน่ พอวางใจดี ยอมรับมันได้ ก็อาจจะรอดตายหรือพ้นตายก็ได้ เช่นตัวอย่างที่เล่ามา ฉะนั้นฝึกใจให้รู้จักนิ่ง ยอมรับสิ่งต่างๆ อาจจะเริ่มต้นจากสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ในชีวิตประจำวันที่แม้จะแก้ไขได้ แต่ขณะที่ยังไม่ทันได้แก้ไข เราก็ยอมรับมัน นิ่งสงบ ต่อไปก็จะทำให้เรามีความสามารถในการที่จะนิ่งได้ แม้เจออันตรายที่หนักหนาสาหัสกว่า โดยเฉพาะปัญหาหรือสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้ หรือเจอปัญหาที่แก้ไม่ได้ เปลี่ยนแปลงอะไรไม่ได้ แต่ถึงแม้ปัญหามันจะยังเปลี่ยนแปลงได้ เช่น ป่วย ไม่สบาย ถ้าเรารักษาก็หาย ระหว่างที่ป่วยอยู่ก็ยอมรับมัน อย่างน้อยๆ ก็ป่วยแต่กาย ใจไม่ป่วย พอใจไม่ป่วยแล้ว ก็จะทำให้มีสติในการใช้ปัญญา แก้ปัญหา ไม่รน กระวนกระวาย อาจจะแก้ปัญหาได้ดีกว่าใจที่กระสับกระส่ายหรือตื่นตระหนกตกใจก็ได้เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราเจอสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้ หรือทำได้ก็ตาม เจอปัญหาที่แก้ได้หรือแก้ไม่ได้ก็ตาม การนิ่ง การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น น่าจะเป็นอุบายที่ดีกว่า อย่างน้อยก็ไม่ทำให้สถานการณ์เลวร้ายไปกว่านั้น
  • 22 ม.ค. 67 - มองตนก่อนเรียกร้องคนอื่น : สิ่งที่เราคาดหวังจากคนอื่น มันเป็นตัวการที่ทำให้เราเป็นทุกข์ การกลับมามองตนนี้มันเป็นพื้นฐานสำคัญเลยในการที่จะช่วยรักษาใจให้พ้นทุกข์ได้ หรือให้พ้นจากความเครียด ความวิตกกังวล ความโกรธ

    เพราะถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลงตัวเองหรือไม่กลับมาดูใจตัวเอง เราจะเพ่งโทษคนอื่นหรือเรียกร้องคนอื่นอยู่นั่นแหละ แล้วพอไม่สำเร็จ พอไม่เป็นไปดั่งใจ ก็จะหงุดหงิดหัวเสีย ให้เตือนตัวเองว่า เวลาเราเรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง ๆ จริงๆ แล้วคนที่ควรปล่อยวางมากกว่าใครนี้คือตัวเรา เพราะที่เราเรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง แต่เราปล่อยวางเขาไม่ได้ มันทำให้เราทุกข์ มันทำให้เราหงุดหงิด เจอมานักต่อนักแล้ว คนที่บอกคนอื่นให้ปล่อยวาง แต่ที่จริงตัวเองยังปล่อยวางไม่ได้ ตัวเองยังยึดมั่นถือมั่นมาก เพราะถ้าไม่ยึดมั่นถือมั่น ไม่แบกเอาไว้ คงไม่เครียด ไม่ทุกข์ แล้วไม่เรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง ฉะนั้นถ้าจะว่าไปเวลาเราเรียกร้องให้ใครต่อใครปล่อยวางหรือเรียกร้องให้คนอื่นปล่อยวาง มันเป็นสัญญาณฟ้องว่าเรากำลังแบกอะไรบางอย่างเอาไว้ ให้กลับมาดูใจของตัว แล้วก็จะพบว่าเป็นเพราะเรายังยึดมั่นถือมั่นในการกระทำของคนนั้นคนนี้ โดยเฉพาะที่ไม่ถูกใจเรา รวมทั้งยึดมั่นถือมั่นในความคาดหวังของเรา ต้องการให้คนอื่นเป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง ต้องการให้แม่เป็นไปอย่างที่เราคาดหวัง พอท่านไม่เป็นไปอย่างที่คาดหวัง เราก็หงุดหงิดหัวเสีย หรือเรียกร้องให้คนอื่นทำตัวให้น่ารัก แต่พอเขาไม่ทำตัวอย่างที่เราปรารถนาหรือคาดหวัง เราก็หงุดหงิดหัวเสีย แล้วก็โวยวายเป็นทุกข์ กลับมามองตน แล้วก็ตั้งคำถามกับตัวเองอยู่บ่อยๆ ว่าทำไมเราคิดแบบนั้น ทำไมเรารู้สึกอย่างนั้น ถ้าเราถามตัวเองหรือทักท้วงตัวเองอยู่บ่อยๆ การน้นที่เราจะไปตั้งคำถามกับคนอื่นมันก็จะน้อยลง หรือว่าการไปคาดหวังให้คนอื่นเปลี่ยนแปลงอย่างโน้นอย่างนี้ มันก็จะน้อยลง แล้วเราก็จะมีความสุข สบาย โปร่ง เบา ได้ง่ายขึ้น
  • 20 ม.ค. 67 - อยู่ในโลกอย่าทิ้งธรรม : ถ้ามีธรรมะ มันจะช่วยรักษาใจของคนที่อยู่ในโลก หรือมีการงานมากมาย ให้จิตใจไม่รุ่มร้อน ไม่วุ่นวายได้ ฉะนั้นถ้าดูให้ดี โลกกับธรรมมันไม่แย้งจากกัน ยิ่งอยู่ในโลกยิ่งต้องมีธรรมะ ยิ่งทำงานเกี่ยวข้องกับผู้คน ยิ่งต้องอาศัยสติในการรักษาใจ

    แต่จะว่าไปแล้วธรรมะมันไม่ใช่แค่ช่วยคนที่อยู่ในโลก หรือช่วยสนับสนุนชีวิตทางโลกเท่านั้น ชีวิตทางโลกหรือการทำงานทางโลก มันก็สามารถจะไปเอื้อเฟื้อธรรมะได้ด้วย เพราะว่าถ้าหากว่าเราทำงานเป็น การทำงานนั้นก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว เราไม่ใช่เพียงแค่เอาธรรมะมาสนับสนุนการทำงานทางโลก แต่การทำงานทางโลกก็ยังเป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วย การเอาธรรมะมากำกับการใช้ชีวิตทางโลก มันเป็นสิ่งจำเป็นฉันใด การเอางานทางโลกมาเป็นเครื่องสนับสนุนการปฏิบัติธรรม มันก็เป็นสิ่งที่ควรทำฉันนั้น ถ้าเราพูดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าธรรมมันสนับสนุนโลก แล้วโลกก็สนับสนุนธรรมด้วย ถ้าหากว่าธรรมะหมายถึงการฝึกจิตหรือการทำจิต เราต้องอาศัยการทำจิตนั้นมาช่วยกำกับการทำกิจ ถ้าเราใช้การทำจิตเพื่อมากำกับการทำกิจ ชีวิตเราก็จะวุ่นวายน้อยลง และขณะเดียวกันถ้าเราเอาการทำกิจมาเป็นเครื่องสนับสนุนการทำจิต มันก็ยิ่งทำให้การปฏิบัติธรรมมันก้าวหน้า หมายความว่าเวลาเราทำงาน แม้จะเป็นงานทางโลก แต่มันก็เป็นการปฏิบัติธรรมไปด้วยในตัว เป็นการฝึกสติ เป็นการฝึกให้ลดละกิเลส ฝึกลดละความยึดมั่นในตัวตน ฉะนั้นที่เข้าใจกันไปว่าอยู่ในโลกมันแยกขาดจากเรื่องทางธรรม มันเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ยิ่งอยู่ในโลกมากเท่าไร ยิ่งต้องอาศัยธรรมะเข้ามาช่วยเหลือเกื้อกูล ให้อยู่ในโลกนี้ได้อย่างสงบเย็น แล้วถ้าหากว่าเรารู้จักการทำจิตแล้ว แม้กระทั่งอยู่กับผู้คน มีงานการมากมาย เราก็สามารถจะใช้การทำงาน การทำกิจ หรือการเกี่ยวข้องกับผู้คน ในการสนับสนุนการฝึกจิตของเราได้ ทำให้มีเมตตากรุณา ทำให้มีสติ มีความยึดมั่นถือมั่นน้อยลง มีความเห็นแก่ตัวน้อยลง และโลกกับธรรมถึงที่สุดแล้วมันก็ไม่แยกจากกัน ต้องเอาธรรมะมาใช้กับชีวิตทางโลกให้ได้มาก